xs
xsm
sm
md
lg

กองกำลังเบตงคุมเข้ม 10 วันสุดท้ายเดือนรอมฎอน และครบรอบ “วันชาติมลายูปัตตานี”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ยะลา - หน่วยกำลังทหาร ตำรวจภูธร ตชด. ฝ่ายปกครอง และกำลังภาคประชาชน คุมเข้ม 10 วันสุดท้ายเดือนรอมฎอน และวันครบรอบ “วันชาติมลายูปัตตานี” ป้องกันการก่อเหตุเชิงสัญลักษณ์ สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน

วันนี้ (15 มิ.ย.) บรรยากาศการดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่ประชาชนในพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา ของหน่วยกำลังทหาร ตำรวจภูธร ตชด.44 ฝ่ายปกครองเบตง และกำลังภาคประชาชน ซึ่งได้บูรณาการกำลังเข้าร่วมดูแลพื้นที่ เส้นทางเสี่ยง จุดล่อแหลม ย่านชุมชน การค้า ทั้งในเขตเมือง และเขตรอยต่อ รวมทั้งทางอากาศยังคงเป็นไปอย่างเข้มงวด

โดยที่ด่านตรวจบ้าน กม.23 ถนนสายยะลา-เบตง ซึ่งเป็นเส้นทางก่อนเข้าสู่เมืองเบตง ร.ต.อ.สมเกียรติ์ เทพฉิม รอง ผบ.ร้อย ฉก.ตชด.445 พร้อมกำลังพลร่วมได้ตั้งจุดตรวจจุดสกัด ตรวจค้นบุคคล รถยนต์ รถจักรยานยนต์เป้าหมายต้องสงสัยที่ใช้เส้นทางสัญจร เดินทางเข้าสู่พื้นที่เขตเทศบาลเมืองเบตงอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกัน และสกัดกั้นกลุ่มคนร้ายที่อาจจะฉวยโอกาสลักลอบเข้ามาก่อเหตุสร้างสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่เขตเมืองได้ และเพื่อเป็นการสร้างความอบอุ่นใจ พร้อมกับอำนวยความสะดวกให้แก่พี่น้องประชาชนมุสลิมในห้วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน
 

 
ซึ่งทาง พ.ต.ท.เชษฐวิทย์ นีระฮิง ผบ.ฉก.ตชด. 44 ได้กำชับให้เพิ่มมาตรการอย่างเข้มงวดกวดขัน พร้อมให้หน่วยเฝ้าระวังการก่อเหตุของกลุ่มคนร้ายในทุกรูปแบบ หลังการข่าวได้แจ้งเตือนคนร้ายยังคงมุ่งหวังที่จะก่อเหตุทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนอย่างต่อเนื่อง

ด้านฝ่ายความมั่นคง ระบุว่า วันสมัชชาประชาชาติมลายูปัตตานี หรือสภาประชาชนมลายูปัตตานี ตัวอักษรย่อ “MPRMP” มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่นครฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี ซึ่งองค์กรสมัชชาประชาชาติมลายูปัตตานี ได้พัฒนามาจากองค์กรที่มีแนวทางต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนจากรัฐไทย 3 องค์กรหลัก คือ
 

 
1.ขบวนการร่วมเพื่อเอกราชปัตตานี หรือเบอร์ซาตู (Bersatu) เกิดจากการรวมตัวกันของแกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อแบ่งแยกดินแดน 4 กลุ่ม คือ ขบวนการปลดปล่อยอิสลามปัตตานี หรือ BIPP ขบวนการปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี หรือ BRN Congress ขบวนการมูจาฮีดินปัตตานี หรือ GMP และองค์การปลดปล่อยสหปัตตานี หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ พูโล (PULO)

2.คณะทำงานเพื่อเอกราชปัตตานี หรือ KBKP : Komiti Bertindek Kemerdekaan Patani ที่เกิดจากแนวคิดของกลุ่มนักวิชาการ และแกนนำกลุ่มขบวนการต่างๆ เพื่อวางแผนและเปลี่ยนแปลงนโยบายการต่อสู้เพื่อปลดแอกรัฐปัตตานี จากการต่อสู้ด้วยอาวุธเป็นการเจรจา โดยคณะทำงานเพื่อเอกราชปัตตานี ตั้งขึ้นเพื่อรองรับการเจรจากับรัฐบาลไทยในสมัยนั้น

3.คณะกรรมการเจรจาเพื่อประชาชนมลายูปัตตานี หรือ KPRMP : Komiti Perundingan Rakyat Melayu Patani เป็นคณะกรรมการที่แปรสภาพมาจาก KBKP มีวัตถุประสงค์ และเป้าหมายเดียวกับ KBKP โดยทั้ง 3 องค์กรนี้รวมตัวกันเพื่อร่างธรรมนูญแห่งรัฐปัตตานี
 

 
สมัชชาประชาชาติมลายูปัตตานี ได้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14-15 มิ.ย.2540 โดยมีสาระสำคัญ คือ การก่อตั้งสมัชชาประชาชาติมลายูปัตตานี (MPRMP) ในวันที่ 15 มิ.ย.2540 ซึ่งตรงกับวันที่ 9 เดือนซอฟาร์ ปีฮิจเราะห์ศักราช 1418 ตามปฏิทินอิสลาม ซึ่งถือเป็นวันครบรอบ 540 ปี หลังจากที่สุลต่านปัตตานีในสมัยนั้น คือ สุลต่านอิสมาแอล ชาห์ ทรงทำพิธีเข้ารับอิสลาม เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ.1457 โดยหากนับถึง ค.ศ.1997 หรือ พ.ศ.2540 ก็เป็นเวลา 540 ปีพอดี

ซึ่งทางกลุ่มสมัชชาประชาชาติมลายูปัตตานี ได้กำหนดให้วันที่ 15 มิ.ย. เป็น “วันชาติมลายูปัตตานี” ซึ่งทางหน่วยความมั่นคงคาดว่า อาจมีการก่อเหตุในรูปแบบการแขวนธงชาติ ป้ายผ้า ตามพื้นที่ต่างๆ โดยบางจุดอาจจะมีระเบิดผูกติดด้วย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์
 

กำลังโหลดความคิดเห็น