xs
xsm
sm
md
lg

อุปสรรคและปัญหาของ “การมีส่วนร่วม” ในสังคมไทย / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
 
คอลัมน์  :  คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
----------------------------------------------------------------------------------------
 
 
สังคมไทยเริ่มมีการพูดคุยถกเถียงถึง “กระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน” ในช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ  ๒๕๓๕  และหลักการที่ถกเถียงจนตกผลึกไปปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พ.ศ.๒๕๔๐  หมวดที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชน
 
แต่กระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ประสบปัญหาในการปฏิบัติ เมื่อประชาชนชาว อ.จะนะ  จ.สงขลา และเครือข่าย  นำหลักการการมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญมาใช้ในการเคลื่อนไหว กรณีเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย  จนนำไปสู่ความขัดแย้งของฝ่ายคัดค้าน กับฝ่ายสนับสนุน และเจ้าของโครงการ  มีการล้มการประชาพิจารณ์ที่ไม่ชอบธรรมถึง  ๒  ครั้ง  การจับกุมชาวบ้านที่รวมตัวกันมาเพื่อเสนอหนังสือต่อคณะรัฐมนตรีสัญจรที่โรงแรม เจ.บี.หาดใหญ่ จนกลายเป็นคดียืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน
 
โดยภาพรวมแล้ว  กระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นหลักการตามวัฒนธรรมทางการเมืองแบบมีส่วนร่วม  อันเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองที่ทันสมัยที่สุดของโลกปัจจุบัน  หลังจากสังคมพัฒนาจากวัฒนธรรมการเมืองแบบคับแคบ-ชนเผ่า  มาเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้า-เผด็จการศักดินาสวามิภักดิ์-สมบูรณาญาสิทธิราชย์  และการเมืองแบบมีสิทธิ มาเป็นการเมืองแบบมีส่วน
 
อุปสรรค และปัญหาที่สำคัญของกระบวนการการมีส่วนร่วมที่สำคัญ  มีดังนี้
 
ประการแรก  เนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมอำนาจนิยม-อุปถัมภ์  ผู้มีอำนาจไม่ค่อยอมรับฟังความคิดเห็นของคนที่มีตำแหน่งแห่งที่ต่ำกว่า หรือด้อยกว่า ทั้งในองค์กร และภายนอกองค์กร ผู้มีอำนาจทำตัวเป็นเจ้าของหน่วยงาน หรือองค์กร เหมือนมรดกตกทอดของครอบครัว และมักจะออกมาตอบโต้คนที่คิดเห็นต่างกับตน ด้วยตรรกะที่คับแคบ  บิดเบือน  เพื่อเอาชนะคะคาน  สร้างความชอบธรรมให้แก่ความคิด  ความเห็นของตนเอง  และสร้างความไม่ชอบธรรมให้แก่ฝ่ายที่เห็นต่าง  โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง และความเป็นจริง  เพราะถ้าเปลี่ยนแปลงตามฝ่ายที่คัดค้านจะเป็นเรื่องเสียหน้า  เสียจุดยืนในสังคม  เป็นเรื่องที่ทำใจให้ยอมรับได้ยาก 
 
ดังนั้น  ใครจะเข้ามาส่วนร่วมกับผู้มีอำนาจแบบนี้ก็ต้องเห็นด้วยสถานเดียว  ถ้าเมื่อไหร่ไม่เห็นด้วยก็จะถูกกล่าวหา  ประณาม  ทำลายให้ขาดความชอบธรรม  ด้วยข้ออ้างง่ายๆ ว่า “ค้านทุกเรื่อง”  “มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ”  “ดีแต่ด่า”  “ไม่เสนอทางออก”  เป็นต้น
 
ประการที่สอง  ผู้มีส่วนร่วมฝ่ายที่สนับสนุน หรือมีความคิดคล้อยตามผู้มีอำนาจแบบ “สาวก” หรือองครักษ์พิทักษ์นาย  มักจะทำหน้าที่เป็นสาวก  ปกป้องผู้มีอำนาจแบบสุดลิ่มทิ่มประตู  อ้างข้างๆ คูๆ ตามตรรกะของผู้มีอำนาจ  และรุมประณามฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยต่อผู้มีอำนาจ  กระทำตนเป็น “ลิ่วล้อ” ในหนังจีน  ส่วนมากมักจะจบลงด้วยการดูหมิ่นดูแคลนอีกฝ่าย  ฝ่ายนี้เข้ามีส่วนร่วมด้วยความรู้สึก  ด้วยอารมณ์  มากกว่าด้วยข้อมูล  ด้วยความรู้ และด้วยจิตสำนึกเพื่อสาธารณะ  จุดยืนหลักคือ  พิทักษ์นายแลกกับผลประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ เฉพาะหน้า  แต่ก็เป็นมรรคเป็นผลในระยะยาว
 
เพราะผู้มีอำนาจส่วนใหญ่ชอบ “คนรู้ใจ”  ไม่ชอบ “คนรู้ทัน”  และปราชญ์จีนสรุปมาตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์ว่า  ถ้าผู้มีอำนาจ “คบปราชญ์ เชื่อปราชญ์”  บ้านเมืองก็จะเจริญก้าวหน้า  แต่โชคร้ายที่ผู้มีอำนาจส่วนใหญ่ “คบคนถ่อย เชื่อคนถ่อย”
 
ประการที่สาม  ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยต่อผู้มีอำนาจถูกกระทำทุกวิถีทางให้ขาดความชอบธรรม  ไม่มีที่ยืนในสังคม  และต้องแบกรับภาระทั้งต้องแจกแจง หรือบอกข้อบกพร่องของผู้มีอำนาจ และต้องนำเสนอทางออกที่ดีกว่า (ซึ่งไม่มีวันจะเป็นไปได้ เพราะไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ และไม่ได้มีรายได้ หรือเงินเดือนจากหน้าที่การงานนั้น)
 
สุดท้ายความขัดแย้งของกระบวนการมีส่วนร่วมก็มักจะจบลงที่ผู้มีอำนาจดำเนินการไปตามที่ตน และพรรคพวกต้องการ จนกว่าฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยจะขยายวงออกไปจนมากพอที่จะล้มโครงการ หรือหยุดนโยบายสาธารณะที่ไม่ชอบธรรมนั้นๆ ได้ (ซึ่งหาได้ยากมาก)
 
ประการที่สี่  ประชาชนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง หรือรับผลกระทบก็ตาม  มักจะเพิกเฉย  คอยเสมอนอก  เมื่อฝ่ายใดแพ้ก็จะรุมประณาม  เยาะเย้ยถากถางแบบ “กูว่าแล้ว” และเข้าร่วมยินดีฉลองชัยชนะกับฝ่ายชนะแบบ “สีแก้วพลอยรุ่ง” หรือ “ยอดทองบ้านาย” เป็น “ขบวนแห่บ้าทางการเมือง”
 
กระบวนการมีส่วนร่วมของสังคมไทยจึงมีลักษณะอ่อนแอ เพราะสังคมไทยเต็มไปด้วยคน “เห็นด้วย” แต่ “ไม่เอาด้วย” และพวก “ชั่งหัวมัน” เยอะไปหน่อย  พวกนี้กลัวจะเปลืองตัว  ทำตัวเป็นผู้ฉลาด  รอบรู้  เป็นพวกโลกสวย แต่ความจริงเป็นพวกขี้ขลาดตาขาว  ไม่มีความกล้าหาญทางจริยธรรม  ชอบแอบอยู่หลังผู้มีอำนาจ  ทำตัวเป็นเห็บหมาคอยเกาะดูดเลือดไปวันๆ  ไม่มีค่าไม่มีความหมายต่อชุมชนและสังคมแม้แต่น้อย  มิหนำซ้ำยังเป็นกาฝากกัดกินสังคมด้วยซ้ำไป
 
ทุกครั้งที่เกิดข้อถกเถียงในประเด็นสาธารณะ  เราจะเห็นคนทั้ง 3 กลุ่มนี้ได้อย่างชัดเจนในสัดส่วนที่พอๆ กัน
 
สังคมจะเข้มแข็งได้ต้องมีสมาชิกทุกฝ่ายที่มีคุณภาพ มีความรู้ ความคิด และความกล้าหาญทางจริยธรรม ที่จะยืนหยัดยืนยันในสิ่งที่เป็นความจริง ด้วยความรับผิดชอบ ตามหลักธรรมาภิบาล ไม่ใช่มีแต่พวกรู้สึกเอา ขาดความคิดวินิจฉัย ขับเคลื่อนการตัดสินใจด้วยความเชื่อที่ไม่ผ่านสมอง ไม่อย่างนั้นความเชื่อที่มีมายาวนานว่า “มนุษย์เป็นสัตว์โลกชนิดเดียวที่มีเหตุผล” ก็เป็นความเชื่อที่เหลวไหลโดยสิ้นเชิง.
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น