xs
xsm
sm
md
lg

นับวันยิ่งถอยหลังเข้าคลอง / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์  :  คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
--------------------------------------------------------------------------------
 
ช่วงนี้มักได้ยินข่าวแปลกๆ จากแวดวงราชการ และการเมืองไทยยุคปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง เช่น สั่งให้ข้าราชการกวดขันเร่งรัดไม่ให้ชาวนาทำนา มีข้อเสนอให้มหาดไทยจัดการการเลือกตั้งแทน กกต. เป็นต้น นับเป็นเรื่องแปลกแต่จริง และถอยหลังเข้าคลองแบบคาดไม่ถึง
 
ปัญหาการจัดการเลือกตั้ง ประเทศนี้ต่อสู้กันมานานนับตั้งแต่ปี ๒๕๓๘ สมัยสี่ทหารเสือจัดการเลือกตั้ง ต่อมา จัดให้มีองค์กรกลางการเลือกตั้ง และการยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับ พ.ศ.๒๕๔๐ หรือฉบับประชาชนบัญญัติให้มีคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติ (กกต.) และ กกต.จังหวัด มาจัดการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ และเที่ยงธรรม
 
ปัญหาหลักๆ ก็คือ การปล่อยให้มหาดไทย โดยกรมการปกครอง มาดูแลจัดการเลือกตั้ง มันเกิดความไม่เป็นกลาง เนื่องจากถูกแทรกแซงจากนักการเมืองฝ่ายที่เป็นรัฐบาล ที่มีบทบาทให้คุณให้โทษแก่ข้าราชการในกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงอื่นๆ เพราะนักการเมืองผู้เคยเป็นรัฐมนตรีเหล่านี้ต่างมาลงแข่งขันในสนามเลือกตั้งด้วย ทำให้ข้าราชการในกระทรวงต่างๆ โดยเฉพาะมหาดไทยให้ความเกรงใจ และไม่เป็นกลาง
 
ครั้นมีคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติ และคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัด กลับมีจุดอ่อนคือ ไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเลือกตั้ง และยังถูกแทรกแซงจากนักการเมือง ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะบ้าง ไม่มีประสิทธิภาพบ้าง ที่เป็นเช่นนี้เพราะอะไร
 
ผู้เขียนในฐานะผู้มีส่วนร่วมในการต่อสู้เรียกร้องให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ และบทบัญญัติเกี่ยวกับคณะกรรมการการเลือกตั้งระดับชาติ และระดับจังหวัด และเคยได้รับการทาบทามบ้าง สมัครเองบ้าง เพื่อรับการสรรหาเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดสงขลาทุกสมัย แต่ไม่เคยได้รับการพิจารณาจากกรรมการสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้งระดับจังหวัด มีความเห็นดังนี้
 
ประการแรก กระบวนการสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้งระดับจังหวัด มีองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาที่ไม่เหมาะสม ไม่มีประสิทธิภาพในการสรรหาบุคคลที่มีความเหมาะสม ทั้งโดยโครสร้าง และความเหมาะสมส่วนบุคคล เช่น ตัวแทนของภาคประชาชน ไปเอาตัวแทนที่ไม่ใช่ตัวแทนของภาคประชาชนที่แท้จริง
 
ประการที่สอง วิสัยทัศน์ของคณะกรรมการการสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้งระดับจังหวัด มีลักษณะคับแคบในการออกแบบ เพื่อให้ได้มาซึ่งบุคคลที่มีความเหมาะสมในการทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งระดับจังหวัด เช่น บางสมัยมีการกำหนดสัดส่วนว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งระดับจังหวัด ที่จะเสนอไปยังกรรมการสรรหาในส่วนกลางให้พิจารณา ต้องประกอบด้วย นักปกครอง นักกฎหมาย นักวิชาการ นักธุรกิจ ฯลฯ ซึ่งในความเป็นจริงไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้น เพราะบทบาทหน้าที่ของกรรมการการเลือกตั้งระดับจังหวัด ถูกกำหนดไว้อย่างชัดแจ้งอยู่แล้วตามภารกิจในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
 
ปะการที่สาม ทั้งกรรมการสรรหา และผู้ถูกสรรหา และได้รับการพิจารณาเสนอชื่อให้กรรมการสรรหาในส่วนกลางพิจารณาเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งระดับจังหวัด ไม่มีวิสัยทัศน์ และไม่เข้าใจความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ และความสำคัญของคณะกรรมการการเลือกตั้งต่อการปฏิรูปการเมือง เนื่องจากบุคคลเหล่านี้ไม่เคยสนใจการรณรงค์ต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพื่อการปฏิรูปการเมือง หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ มิหนำซ้ำคนเหล่านี้เคยเป็นปฏิปักษ์ต่อกระบวนการขับเคลื่อนเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และกฎหมายประกอบเกี่ยวกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง และกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา
 
ประการที่สี่ กระบวนการสรรหาคณะกรรมการเลือกตั้งระดับจังหวัด มีการวิ่งเต้นฝากฝังกันตามเส้นสาย ไม่ต่างอะไรกับการฝากลูกหลานเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียง ในช่วงที่ผู้เขียนได้รับการทาบทาม หรือสมัครเข้ารับการสรรหาก็มีพรรคพวกเพื่อนฝูงที่สมัครในช่วงเดียวกันสอบถามว่า ได้ไปเข้าพบฝากเนื้อฝากตัวกับกรรมการสรรหาคนใดบ้างแล้ว ผู้เขียนบอกว่าไม่มี เขาบอกว่าถ้าไม่มีก็คงยากที่จะได้เป็น ผู้เขียนไม่ค่อยเชื่อ แต่ผลออกมาก็ปรากฏตามที่เขาว่าจริงๆ และพิจารณาเห็นว่าคนที่ได้เป็นหลายคนมีคุณสมบัติ ประสบการณ์เกี่ยวกับการเลือกตั้งด้อยกว่าเรามาก แต่ก็ได้รับการพิจารณาเพราะเข้าเกณฑ์มาตรฐานของกรรมการสรรหา เช่น เป็นนักกฎหมาย นักปกครอง อาจารย์ในมหาวิทยาลัย เป็นต้น
 
ประการที่ห้า คณะกรรมการการเลือกตั้งทั้งระดับชาติ และระดับจังหวัด สำคัญผิดในบทบาทหน้าที่ที่สำคัญของตนเอง กล่าวคือ เน้นบทบาทในการปราบปราบการทุจริตการเลือกตั้งโดยคณะกรรมการเอง มากกว่าการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากประชาชน ให้ประชาชนทั้งประเทศร่วมเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยเฉพาะบทบาทในการส่งเสริมให้ประชาชนตื่นตัวในการมีส่วนทางการเมือง ตั้งแต่การให้ความสนใจไปฟังการปราศรัย ร่วมเสนอนโยบายในการรณรงค์หาเสียงในเวทีกลางที่จัดโดยคณะกรรมการกาเลือกตั้ง การให้ความสำคัญต่อการติดตามตรวจสอบให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์เที่ยงธรรม ปราศจากการซื้อสิทธิขายเสียง และการไปทำหน้าที่เลือกตั้งโดยพร้อมเพรียงกัน เป็นต้น
 
ประการสุดท้าย คณะกรรมการการเลือกตั้งระดับชาติ และระดับจังหวัด ไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานของรัฐเท่าที่ควรจะเป็น มิหนำซ้ำบางหน่วยงานกระทำการเสมือนเป็นการวางยา ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประสบความล้มเหลวในการดำเนินการเลือกตั้ง เพื่อเรียกร้องความสำคัญให้แก่หน่วยงานของตน
 
ดังนั้น หากขจัดปัญหาดังกล่าวข้างต้น โดยเฉพาะกระบวนสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทั้งระดับชาติ และระดับจังหวัด ให้เป็นไปด้วยความเที่ยงธรรม ตรงไปตรงมาก่อน ก็จะได้คนดีที่มีความเหมาะสม เข้าใจบทบาทหน้าที่ และเป็นผู้ที่ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากมวลมหาประชาชน มีเครือข่ายในการจัดการ  ดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และสนองตอบความต้องการของประชาชน เวทีกลางการปราศรัยหาเสียงที่จัดโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ก็จะไม่มีแต่ผู้ปราศรัยกับเจ้าภาพ และหมาจำนวนหนึ่งอย่างที่ผ่านๆ มา
 
การทุจริตซื้อสิทธิขายเสียงก็จะถูกกำจัดขัดขวาง หรือเปิดโปงโดยประชาชน ไม่ใช่ฉาวโฉ่ เพราะผู้สมัครฟ้องร้องกันเองอย่างที่ผ่านๆ มา กระบวนการเลือกตั้งก็จะได้คนดี มีความเหมาะสม และมีความรู้ความสามารถที่จะพัฒนาบ้านเมืองไปสู่ความเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่เปิดโอกาสให้อำนาจนอกระบบการเมืองในระบอบประชาธิปไตยมาปล้นไปอย่างที่ผ่านๆ มา
 
จึงหวังว่าเราจะไม่ถอยกลับไปนับหนึ่งใหม่ โดยมอบให้มหาดไทยมาจัดการเลือกตั้งอีก แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องออกแบบ และกลั่นกรองกระบวนการให้ได้มาซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งที่มีคุณภาพมากกว่าที่เคยกระทำกันมา และใครรู้ตัวว่าไม่มีน้ำยาจะจัดการต่อคน และระบบที่แย่ๆ ก็อย่าเข้ามาเสวยอำนาจให้น่ารำคาญกันอีกต่อไปเลยครับ
 
บางทีการที่คนทำ และคิดอะไรไม่เข้าท่า หยุดทำและคิดเสียบ้างก็จะเป็นการช่วยชาติบ้านเมืองได้อีกทางหนึ่งเหมือนกัน เข้าทำนองว่า “การทำนั่นดี แต่ถ้าไม่ทำน่าจะดีกว่า” ประมาณนั้นครับ
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น