คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
----------------------------------------------------------------------------------------
“เราเรียกร้องเสรีภาพของการพูดและการตีพิมพ์ แม้ว่าเราไม่มีอะไรจะพูดและไม่มีอะไรที่มีค่าพอจะตีพิมพ์”
คำกล่าวข้างต้นของมหากวีคาห์ลิล ยิบราน ในหนังสือ “เพื่อนร่วมชาติของข้า” แปลโดย น.ชญานุตม์ พิมพ์ครั้งที่ 2 (2525 : ปกหลัง) สะท้อนถึงความหมายและความสำคัญของเสรีภาพในการพูด การตีพิมพ์และการแสดงความคิดเห็นในสังคม เช่นเดียวกับคำกล่าวที่ว่า
“ข้าพเจ้าจะต่อสู้ทุกวิถีทาง เพื่อให้ท่านได้พูดในสิ่งที่ท่านต้องการจะพูด แม้ว่าข้าพเจ้าจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ท่านต้องการจะพูดก็ตาม”
เพราะทั่วโลกให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะสังคมประชาธิปไตย หรือสังคมที่กำลังจะก้าวย่างสู่ความเป็นประชาธิปไตย เพราะต่างก็มีความเชื่อว่า
“เรามีเสรีภาพหรืออิสรภาพได้โดยไม่ต้องยิ่งใหญ่ แต่เราจะยิ่งใหญ่ไปไม่ได้ถ้าเราไม่มีเสรีภาพหรืออิสรภาพ”
ข่าวคราวการปิดกั้นการแสดงออกทางวิชาการของนักวิชาการในมหาวิทยาลัย และประชาชนบางกลุ่มที่ออกมาแสดงความคิดเห็นที่ไม่สอดคล้องกับรัฐบาล หรือผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะต่อกรณีการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ในบางโครงการที่นักวิชาการมองว่า มีความไม่เหมาะสม และสร้างผลกระทบกับวิถีชีวิตของประชาชน และเป็นการละเมิดสิทธิของชุมชน ด้วยกระบวนการที่ไม่ชอบธรรม ไม่โปร่งใส ให้ข้อมูลไม่รอบด้าน และเป็นการปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน อันเป็นการสวนกระแสกับแนวทางในการปฏิรูปการเมืองที่กำลังดำเนินการอยู่ นับว่าเป็นการไม่ส่งเสริมบรรยากาศความเป็นประชาธิปไตยหรือเสรีภาพในทางวิชาการ
แน่นอน แม้จะเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปทั้งในสังคมประชาธิปไตยและสังคมเผด็จการทุกรูปแบบว่า “ผู้ที่แสวงหาความจริงและประกาศความจริงต่อมนุษยชาติ ย่อมจะต้องรับเคราะห์” แต่ทุกหัวระแหงในโลกก็ยังมี “ผู้ยินดีจะรับเคราะห์” อันนั้น เพื่อทำหน้าที่ของนักวิชาการผู้แสวงหาความจริง และประกาศความจริงต่อมนุษยชาติ เพราะนี่คือหน้าที่อันมีเกียรติของนักวิชาการจำนวนหนึ่ง ซึ่งอาจจะมีไม่มากในทุกยุคทุกสมัย
หน้าที่ของประชาชนหรือสาธุชนส่วนใหญ่ที่ไม่กล้าแสวงหาความจริง และไม่กล้าประกาศความจริงคือ ต้องทำหน้าที่ปกป้องให้นักวิชาการเหล่านี้มีที่อยู่ที่ยืนในสังคมที่ใฝ่ดี
ในส่วนของนักหนังสือพิมพ์หรือสื่อสารมวลชน คาห์ลิล ยิบราน มีความเห็นว่า “ท่านเป็นนักหนังสือพิมพ์ ผู้ขายหลักการของตนในตลาดค้าทาส และอ้วนพีจากการนินทา เคราะห์ร้ายและอาชญากรรมกระนั้นหรือ ถ้าเช่นนั้น ท่านเป็นเสมือนแร้งตะกรามที่กินสิ่งเน่าเสียเป็นอาหาร”
บ้านเมืองของเรามี “แร้งตะกราม” กี่ตัว กี่ฝูง ลองช่วยกันตรวจสอบดูก็แล้วกัน
สำหรับสังคมไทยในขณะนี้ สมควรอย่างยิ่งที่ต้องอ่าน “เพื่อนร่วมชาติของข้า” ของมหากวีคาห์ลิล ยิบราน ที่กล่าวว่า
“ท่านแสวงหาสิ่งใดจากข้า เพื่อนร่วมชาติของข้า
ท่านปรารถนาให้ข้าสัญญาว่า จะสร้างปราสาทใหญ่โตด้วยคำพูด
และวิหารที่มีคำขวัญเป็นหลังคาสำหรับท่านกระนั้นหรือ
ฤาท่านใคร่ให้ข้าทำลายงานของคนมดเท็จและขี้ขลาด
และทำลายล้างงานของพวกมือถือสาก ปากถือศีล และทรราช
ท่านต้องการให้ข้าทำสิ่งใด เพื่อนร่วมชาติของข้า
ข้าจะคูขันเหมือนนกพิราบ เพื่อเอาใจท่าน
หรือข้าจะคำรามดั่งราชสีห์ เพื่อเอาใจตัวข้าเอง
ข้าร้องเพลงเพื่อท่าน ทว่าท่านหารำไม่
ข้าโทมนัส ทว่าท่านไม่ร้องไห้
ท่านปรารถนาให้ข้าขับเพลง และโทมนัสในเวลาเดียวกันหรือ
วิญญาณของท่านหิวกระหาย
และอาหารแห่งความรู้มีมากมายกว่าก้อนหินในหุบเขา ทว่าท่านไม่บริโภค
หัวใจของท่านกระหาย แต่ความสดชื่นแห่งชีวิตได้ไหลหลั่งรอบบ้านของท่าน
ดุจดั่งแม่น้ำ ทว่าท่านหาดื่มกินไม่
ท้องทะเลมีน้ำลงและน้ำขึ้น ดวงจันทร์มีทั้งครึ่งเสี้ยวและเต็มดวง
และปีมีฤดูกาลแห่งความร้อนและหนาว
ข้าเรียกท่านในความเงียบของยามวิกาล
เพื่อชี้ให้ท่านเห็นความงามของดวงจันทร์ และศักดิ์ศรีของดวงดาว
ท่านตื่นขึ้นตระหนกตกใจ ถอดใบดาบออกจากฝัก
และร้องว่า “ไหนศัตรูที่จะถูกฟาดฟัน”
ครั้นย่ำรุ่ง เมื่อพลม้าของศัตรูยาตรามาถึง
ข้าเรียกท่านอีก ทว่าท่านไม่ยอมตื่น
ท่านคงหลับต่อไป ต่อกรกับศัตรูในความฝันของท่าน
ข้าบอกกับท่าน “เราจงปีนสู่ยอดเขา เพื่อว่าจะได้ชี้ให้ท่านเห็นอาณาจักรของโลกนี้”
ท่านกลับตอบว่า “ที่ก้นบึ้งของหุบผาแห่งภูเขานี้ เป็นที่อาศัยของบิดาและบรรพบุรุษของเรา
และพวกเขาสิ้นชีวิตในร่มเงาของมัน และพวกเขาถูกฝังในถ้ำของมัน
เราจะจากไปยังที่ซึ่งพวกเขามิได้ไปได้อย่างไร”
ข้าบอกกับท่าน “เราจงไป ณ ที่ราบ และข้าจะชี้ให้ท่านเห็นเหมืองทองคำ และสมบัติบนพื้นพิภพนี้”
ทานปฏิเสธโดยกล่าวว่า “บนที่ราบเต็มไปด้วยขโมยและโจร”
ฯลฯ
เพื่อนร่วมชาติของข้าก็ไม่ต่างจากเพื่อนร่วมชาติของคาห์ลิล ยิบราน เช่นกัน.