คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
--------------------------------------------------------------------------------
เมื่อวันที่ ๒๔ พ.ค.๒๕๕๙ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ โดย รศ.ดร.วิชัย กาญจนสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันสันติศึกษา จัดเสวนาทางวิชาการเรื่อง “ความขัดแย้ง-ความรุนแรงในการเมืองท้องถิ่น” ณ ห้อง ๒๑๐ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย นายถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.ปชป. และอดีต รมช.มหาดไทย พล.ต.ต.สาคร ทองมุนี จาก ศอ.อบต. นายศุภสัณห์ หนูสวัสดิ์ นายกเทศมนตรีนาทวี และนายจรูญ หยูทอง นักวิชาการชำนาญการพิเศษ สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ มีอาจารย์จากภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
มีตัวแทนจากนักวิชาการ นักการเมืองท้องถิ่น นักศึกษา สื่อมวลชน และผู้สนใจเข้าร่วมประมาณ ๑๐๐ คน เช่น นายอรัญ คงนวลใย ผอ.กศน.ภาคใต้ นายอนันต์ กาญจนสุวรรณ นายปาฏิหาริย์ บุญรัตน์ นายสินธพ อินทรัตน์ ปลัดทิพย์ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ นายประสาน สุกใส นายเอกชัย อิสระทะ นายสมชาย บริรักษ์ เป็นต้น
ข้อสรุปบนเวทีจากวิทยากรมีความเห็นตรงกันว่า ความขัดแย้ง หรือความรนแรงในการเมืองท้องถิ่น สาเหตุหลักไม่ได้มาจากความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ แต่เป็นความขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์ อันเกิดจากการทุจริตคอร์รัปชัน การปกป้องศักดิ์ศรี วัฒนธรรมความเป็นคนนักเลง
โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ที่มีคตินิยมแบบดั้งเดิม คือ การต่อต้านอำนาจรัฐ วัฒนธรรมการเป็นคนนักเลงในชุมชนที่มีคตินิยมว่า “นายรักเหมือนเสือกอด หนีนายรอดเหมือนเสือหา” หรือ “ไม่รบนาย ไม่หายจน” หรือ “ฆ่าได้ แต่หยามไม่ได้”
ประกอบกับเมื่อเกิดความขัดแย้ง หรือคดีความรุนแรงขึ้นมาแล้ว เจ้าหน้าที่บ้านเมืองในภาคใต้ในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา ไม่สามารถจับผู้กระทำผิดมาลงโทษได้คิดเป็น ๘๘ เปอร์เซ็นต์ ยิ่งเพิ่มดีกรีความรุนแรง เพราะคนใต้ในวิธีการแบบศาลเตี้ยเข้าจัดการกับคู่กรณีแบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน”
คู่ขัดแย้งในการเมืองท้องถิ่น หรือในสังคมไทย ประกอบด้วย ๔ ฝ่าย คือ หนึ่ง ผู้มีอำนาจอิทธิพล หรือนักการเมืองทั้งท้องถิ่น และระดับชาติ สอง ประชาชนซึ่งกลายเป็นกันชน หรือตัวประกันของทั้งสองฝ่าย สาม อำนาจรัฐ และสี่ ภาคเอกชน
ที่ผ่านมา ผู้ทรงอิทธิพล และภาคเอกชนใช้อำนาจรัฐสร้างความชอบธรรมในการข่มเหงรังแกประชาชน ประชาชนฝ่ายหนึ่งทำหน้าที่เปิดโปงความชั่วร้ายขอฝ่ายการเมือง และภาครัฐและเอกชน แต่ประชาชนอีกฝ่ายหนึ่งก็ทำหน้าที่เป็นลิ่วล้อให้แก่ฝ่ายตรงข้ามกับประชาชนกลุ่มแรก
หลายครั้ง หรือเกือบทุกครั้งในกระแสธารของความขัดแย้ง อำนาจรัฐแทนที่จะเป็นกลาง หรือทำหน้าที่ปกป้องประชาชนส่วนใหญ่ อันเป็นหน้าที่ของรัฐโดยตรง แต่อำนาจรัฐกลับตกเป็นสมุน หรือลิ่วล้อของนักการเมือง ทั้งในระดับชาติ และระดับท้องถิ่นที่มีสายสัมพันธ์ยึดโยงถึงกัน เช่น กรณีเขาคูหา กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา กรณีท่าเรือนำลึกปากบารา หรือกรณีอื่นๆ ก็เช่นกัน
เมื่อเป็นเช่นนี้ ความขัดแย้ง-ความรุนแรงในการเมืองท้องถิ่นในช่วงเวลาที่ผ่านมาก่อนที่ คสช.จะเข้ามายึดอำนาจในวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๗ และไม่มีการเลือกตั้งภายใต้ประกาศ คสช.ทำให้ความขัดแย้ง และความรุนแรงในการเมืองท้องถิ่นจะสงบลงระยะหนึ่ง เช่นเดียวกับความขัดแย้ง และความรุนแรงในวงการอื่นๆ
แต่หลังจากนี้ไปเมื่อบ้านเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติ นั่นหมายถึงกลับไปสู่วังวนแห่งการแข่งขันแย่งชิงผลประโยชน์กันเหมือนเดิม วงจรแห่งความขัดแย้งรุนแรงก็คงจะกลับมาเหมือนเดิม หรือแย่กว่าเดิม หากสังคมยังไม่ตระหนักถึงที่มา และทางออกจากวังวนของความขัดแย้งและความรุนแรงนี้
ในที่ประชุมเสวนาต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ทางออกสำหรับความขัดแย้ง และความรุนแรงคือ การออกจากการเมืองแบบแสวงหาผลประโยชน์ การเมืองที่ทุจริต คอร์รัปชัน การเมืองที่ต้องซื้อสิทธิขายเสียง ไปสู่การเมืองแบบมีส่วนร่วม การเมืองสมานฉันท์ แบบที่มีให้เห็นอยู่ในการเมืองของ อบต.ควนรู อำเภอรัตภูมิ การเมืองของ อบต.ท่าข้าม อำเภอหาดใหญ่ การเมืองของ ทต.ปริก อำเภอสะเดา และการเมืองของ อบต.รำแดง สิงหนคร เป็นต้น
แต่การจะพัฒนาไปถึงการเมืองแบบมีส่วนร่วมอย่างนั้นได้ สังคมต้องมีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบมีส่วนร่วม มีกฎหมายท้องถิ่นที่เหมาะสม และเอื้อให้เกิดการเมืองแบบนั้น และที่สำคัญ คือ ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงจะต้องมีจิตสำนึกสาธารณะ สังคมต้องลดช่องว่างระหว่างผู้ได้เปรียบกับผู้เสียเปรียบในทุกระดับ ทุกแวดวงมีการเลือกตั้งที่สุจริต และเที่ยงธรรม มีกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ มีที่ยืนให้แก่คนดีในสังคม และไม่มีที่ยืนให้แก่คนไม่ดีทั้งหลายอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้
และที่สำคัญ สิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมจะต้องไม่ถูกจำกัดอย่างที่เป็รอยู่ในทุกวันนี้ ที่แม้แต่นักวิชาการในสถาบันอุดมศึกษายังถูกคุกคามไม่ให้มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หรือให้ข้อมูลในทางวิชาการ
ในที่สุดที่ประชุมสัมมนาต่างฝากความหวังไว้ที่สถาบันทางวิชาการ ที่จะต้องศึกษา วิจัย วิเคราะห์สังเคราะห์ประเด็นความขัดแย้ง และความรุนแรงให้เป็นที่ประจักษ์ว่า มาจากสาเหตุใดเป็นสำคัญ และแสวงหาแนวทางในการจัดการต่อความขัดแย้ง หรือความรุนแรงนั้น
ในส่วนของระบบราชการโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องโดยตรงต่อการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชน จะต้องมีประสิทธิภาพในการจัดการ
ในขณะที่ฝ่ายประชาชนก็ต้องช่วยกันสร้างวัฒนธรรมการเมืองแบบมีส่วนร่วม อันเป็นการป้องปรามไม่ให้เกิดปัญหาที่ต้นเหตุ ด้วยกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม คือ สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา สถาบันการเมืองการปกครอง ฯลฯ