คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
--------------------------------------------------------------------------------
จากการศึกษาเรื่อง “รัฐศาสตร์ไม่ฆ่า” ของ ณัฐกร วิทิตานนท์ (๒๕๕๓) โดยเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณระหว่าง พ.ศ.๒๕๔๓-๒๕๕๒ พบว่า เกิดความรุนแรงในลักษณะการลอบสังหารในการเมืองท้องถิ่นทั่วประเทศทั้งหมด ๔๘๑ ราย หรือ ๔๕๙ กรณี
กรณีมีการเสียชีวิตมากที่สุดคือ กรณี นายมีลาภ เทพฉิม ประธานกรรมการบริหาร อบต.ปากแตระ อ.ระโนด จ.สงขลา โกรธที่ถูกรุมอภิปรายเรื่องการทุจริตงบประมาณโครงการจัดซื้อถังขยะ และเสาไฟฟ้าที่ตนรับผิดชอบ ใช้อาวุธปืนขนาด ๑๑ มม. จ่อยิงประธานสภา และสมาชิกสภา อบต.ทีละคนเสียชีวิต ๓ ศพ เหตุเกิดกลางที่ประชุมสภา อบต. เมื่อวนัที่ ๑๓ ก.พ. ๒๕๔๔(ไทยรัฐ ๑๕ ก.พ.๒๕๔๔)
ขณะเดียวกัน พื้นที่ที่เกิดความรุนแรงซ้ำซาก ได้แก่ อบต.เกาะหมาก อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง นายก อบต.ถูกยิงตายในเวลา ๒ ปี ตาย ๓ คน สาเหตุมาจากความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์เกี่ยวกับรังนกนางแอ่น รองลงมา คือ ทต.ท่าแพ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช นายกเทศมนตรี ๒ คน ถูกยิงตาย สาเหตุมาจากความขัดแย้งเรื่องการเมืองท้องถิ่น
ความถี่ของความรุนแรงใน ๑๐ อันดับแรก ปรากฏว่า ภาคใต้ครองอันดับต้นๆ ตามลำดับดังนี้ อันดับ ๑ นราธิวาส (๓๔ ราย) อันดับ ๒ ปัตตานี (๓๑ ราย) อันดับ ๓ พัทลุง (๓๐ ราย) อันดับ ๔ ยะลา (๒๔ ราย) อันดับ ๕ สงขลา (๒๐ ราย) อันดับ ๖ นครศรีธรรมราช (๑๘ ราย) อันดับ ๗ นครปฐม (๑๖ ราย) อันดับ ๘ เพชรบูรณ์ (๑๖ ราย) อันดับ ๙ นครราชสีมา (๑๓ ราย) และอันดับ ๑๐ สุพรรณบุรี (๑๒ ราย)
ภาคใต้เกิดความรนแรงในระดับ อบจ. (๑๔ ราย) เป็นอันดับ ๒ ของประเทศ รองจากภาคกลาง และ อบต. (๑๖๗ ราย) เป็นอันดับ ๑ ของประเทศ คิดเป็นร้อยละ ๔๘ ของประเทศ และเป็นพื้นที่ที่ไม่สามารถติดตามจับกุมผู้ก่อเหตุได้คิดเป็นสัดส่วนสูงสุดของประเทศถึงร้อยละ ๘๘
ปัจจัยที่เชื่อกันว่ามีอิทธิพลต่อความรุนแรงในช่วงเวลาที่ผ่านมา ประกอบด้วย ประการแรก ระหว่าง พ.ศ.๒๕๔๒-๒๕๔๓ มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายต่างๆ เกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่นขนานใหญ่ รวมทั้งมีการตรากฎหมายใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อการกระจายอำนาจอีกหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.๒๕๔๒ เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ พร้อมกับกระทรวงมหาดไทย ยกเลิกการเข้าดำรงตำแหน่งของผู้ว่าราชการจังหวัดใน อบจ. นายอำเภอในสุขาภิบาล กำนัน ผู้ใหญ่บ้านใน อบต.อย่างสิ้นเชิง
ประการที่สอง พ.ศ.๒๕๔๖ คณะกรรมการการเลือกตั้งเริ่มเข้ามาควบคุมการดำเนินการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกประเภท แทนกระทรวงมหาดไทย ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.๒๕๔๕
ประการที่สาม ในปี ๒๕๔๖ มีการเร่งรัดปรับปรุงโครงสร้างของ อปท.ทุกประเภทให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด นั่นคือ รูปแบบนายกฯ-สภา ซึ่งกำหนดให้ผู้บริหารเข้มแข็ง พร้อมทั้งทยอยยกเลิกคณะผู้บริหารที่มาจากมติของสภาท้องถิ่น ด้วยการกำหนดให้นายก อบจ. นายกเทศมนตรี ตลอดจนนายก อบต.มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และกำหนดรายละเอียดกลไกความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหาร กับฝ่ายสภาให้มีความชัดเจนขึ้น ตามมาด้วยการเลือกตั้งนายก อบจ.โดยตรงเป็นครั้งแรกพร้อมกัน ๗๔ จังหวัดทั่วประเทศ ในวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๔๗ ก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้ง อบต.ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ ๑๐ ปีพร้อมกัน ๓,๔๙๙ แห่ง เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๔๘
ความเป็นไปทั้งหมดข้างต้น น่าจะมีอิทธิพลต่อความรุนแรงในการเมืองท้องถิ่นแต่ละห้วงเวลา และที่สำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงสถานภาพ และบทบาทของนักการเมืองระดับชาติตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐และ ๒๕๕๐ คือ การแยกฝ่ายนิติบัญญัติออกจากฝ่ายบริหาร โดยกำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถเป็นรัฐมนตรีในเวลาเดียวกันได้ เมื่อใครไปเป็นรัฐมนตรี หากมีการปรับ ครม.พ้นจากตำแหน่ง ก็ไม่สามารถทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้อย่างแต่ก่อน
และปรากฏการณ์ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การกระจายอำนาจ หรือคืนอำนาจให้ท้องถิ่น โดยเฉพาะงบประมาณ ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายคนในระดับแกนนำของพรรคหันมาสนใจเป็นผู้บริหารท้องถิ่น เพราะมีงบประมาณอยู่ในมือจำนวนมาก เข้าลักษณะที่กล่าวกันในวงการเมืองว่า “เป็นหัวหมา ดีกว่าหางราชสีห์” นั่นคือ เป็นนายก อปท. แม้ว่าจะด้อยกว่า ส.ส. แต่ก็มีศักดิ์ศรี และโอกาสในการทำมาหากิน ไม่อดอยากปากแห้งอย่างฝ่ายค้านในรัฐสภา
ดังนั้น ยุคที่ผ่านมานักการเมืองระดับชาติหลายคน หันมาสนใจ และลงสมัครเป็นผู้บริหารท้องถิ่น โดยเฉพาะในหัวเมืองใหญ่ๆ ของภาคใต้ เช่น นครหาดใหญ่ อบจ.สงขลา อบจ.พัทลุง เป็นต้น
ประกอบกับคตินิยมความเป็นคนใต้ที่มีอัตลักษณ์ความเป็นคนนักเลง อันเป็นคตินิยมดั้งเดิมแต่โบราณ และคตินิยมต่อต้านอำนาจรัฐ ผนวกกับอำนาจอิทธิพลผลประโยชน์ตามวิสัยของการเมืองยุค “ซื้อสิทธิขายเสียง” “เงินไม่มากาไม่เป็น” การเมืองเป็นเรื่องของศักดิ์ศรี แพ้ไม่เป็น เมื่อมีปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้น และกฎหมายบ้านเมืองไม่สามารถจะจับคนผิดมาลงโทษ หรือมือกฎหมายสาวไปไม่ถึงผู้บงการ จับได้แต่ปลาซิวปลาสร้อย
คนนักเลงอย่างคนใต้จึงใช้ระบบ “ศาลเตี้ย” เข้าจัดการความขัดแย้ง เข้าลักษณะ “เลือดล้างด้วยเลือด ปืนต่อปืน” แบบที่เคยชูคำขวัญในยุคนักเลงโบราณแบบอารยะขัดขืนสไตล์คนปักษ์ใต้ขนานแท้ และดั้งเดิมว่า “นายรักเหมือนเสือกอด หนีนายรอดเหมือนเสือหา” หรือในยุคการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์ พคท.และ ทปท.ภาคใต้ประกาศพันธกิจชูประเด็นไปทั่วภาคใต้ โดยเฉพาะแถบเทือกเขาบรรทัด ว่า “ไม่รบนายไม่หายจน”
กล่าวเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ครองอันดับความรุนแรงอันดับ ๑-๓ ของประเทศ แน่นอนมีประเด็นปัญหาความขัดแย้ง และปัจจัยด้านอื่นๆ เข้ามาผสมโรงด้วย แต่ปัจจัยหลักที่ทำให้สถานการณ์ความรนแรงทั้งทางการเมือง และอื่นๆ ไม่ดีขึ้นสักเท่าไหร่ก็เพราะ “ร้อยละ ๘๘ ไม่สามารถติดตามจับกุมผู้ก่อเหตุมาลงโทษได้” นั่นเอง