xs
xsm
sm
md
lg

ความตายในการเมืองท้องถิ่น : การเมืองหรือสังคมที่รุนแรง / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ขอบคุณภาพประกอบจาก http://www.oknation.net/blog/mindhand/2007/11/04/entry-1
 
คอลัมน์  :  คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
--------------------------------------------------------------------------------
 
 
ผู้เขียนได้รับเกียรติจากสถาบันสันติศึกษา  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  โดย  รศ.ดร.วิชัย  กาญจนสุวรรณ  ให้ไปร่วมเป็นวิทยากรร่วมเสวนาว่าด้วยความรุนแรงในการเมืองท้องถิ่นภาคใต้  ในวันที่  ๒๔  พฤษภาคม  ๒๕๕๙  ร่วมกับวิทยากรผู้มีชื่อเสียงอีกสองสามท่าน  ทั้งนักการเมืองระดับชาติ  นักการเมืองท้องถิ่น  และนายตำรวจใหญ่ในพื้นที่จังหวัดสงขลา
 
จากการศึกษาเรื่อง “รัฐศาสตร์ไม่ฆ่า” โดยเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณระหว่าง พ.ศ.๒๕๔๓-๒๕๕๒  พบว่า  การลอบสังหารทางการเมืองในประเทศไทยมีมาทุกยุคทุกสมัย  เช่น  ในทศวรรษ  ๒๔๙๐  กรณี  ๔  รัฐมนตรีถูกยิงทิ้ง  ประกอบด้วย  นายทองอินทร์  ภูริพัฒน์  นายจำลอง  ดาวเรือง  นายถวิล  อดุล  และ  นายทองเปลว  ชลภูทิ  ถูกยิงทิ้งโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมนักการเมืองอื่นๆ อีก  ๒๐  คน  ที่อยู่คนละฝ่ายกับผู้มีอำนาจในยุคนั้น  เช่น  นายเตียง  ศิริขันธ์  นายทวี  ตะเวทิกุล  นายบรรจงศักดิ์  ชีพเป็นสุข  นายโผน  อินทรนัด  นายหะยี  สุหรง  เป็นต้น
 
ปลายทศวรรษ  ๒๕๑๐  ช่วง  ๑๔  ตุลาคม  ๒๕๑๖  ถึง  ๖  ตุลาคม  ๒๕๑๙  มีการสังหารผู้นำกรรมกร  ชาวนา  นักศึกษาหลายสิบคน  เช่น  นายจำรัส  ม่วงยาม  พ่ออินถา  ดร.สนอง  บุญโญทยาน  นิสิต  จิรโสภณ  เป็นต้น
 
ยุคหลัง พ.ศ.๒๕๔๐  หลังมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน  มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นโดยการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น  ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด  เทศบาล  และองค์การบริหารส่วนตำบล  โดยการเลือกตั้งผู้บริหารโดยตรง  เกิดความขัดแย้งทางความคิดจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยต่อการกระจายอำนาจ  โดยอ้างเหตุผลว่าจะเกิดความแตกแยกบ้าง  ประชาชนยังไม่พร้อมบ้าง  เจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลจะชนะการเลือกตั้งบ้าง
 
ตัวอย่างความรุนแรงจากการพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์ในยุคนั้น  ได้แก่
 
“ยิงนายก อบต.หัวคะแนนชาติไทยหวิดดับ” (มติชน  ๔  ก.พ.๒๕๔๘)
“ประธานสภาคลั่ง  ยิงนายกเล็กคาโต๊ะประชุม” (ไทยรัฐ  ๒๕  ม.ค.๒๕๔๙)
“มือปืนจ่อยิงหัวนายกเทศมนตรีท่าแพดับสยอง” (ไทยรัฐ  ๘  ต.ค.๒๕๔๙)
“ใต้บึ้มนายก อบต.ฉีก  ๒  ท่อน  เป็นศพคาปิกอัพ” (ไทยรัฐ  ๑  เม.ย.๒๕๕๐)
“นาทีดวลดับ-ตายสยอง  ๒  ศพ  กำนันดัง  นายก อบต.พัทลุง นัดมายิงกันที่ห้างฟิวเจอร์” (ข่าวสด  ๑๗  พ.ค.๒๕๕๐)
“มือปืน ๓๕๗ รองนายกฯ อบต.นคร” (ข่าวสด ๑๙  พ.ค.๒๕๕๐)
“ควงเอ็ม ๑๖  ถล่มนายกอ่าวลึก ใจแข็งขับรถถึง รพ.รอดหวุดหวิด” (มติชน  ๑๙  ก.พ.๒๕๕๐)
“อาก้าถล่มนายก อบต.บูกิตดับ เมีย-ญาติบาดเจ็บสาหัส” (ไทยรัฐ ๑๐ ต.ค.๒๕๕๐)
“หาดใหญ่เดือด รัวถล่มฆ่านายกคลองแห” (ข่าวสด  ๑๘  พ.ค.๒๕๕๒)
“เอ็ม ๑๖-เอชเค  ๑๐๐  นัดฆ่า  ๕  ศพนายกเขาหัวช้าง” (ข่าวสด  ๒๖  พ.ค.๒๕๕๒)
“นายก อบจ.แพร่ นพ.ชาญชัย  ศิลปะอวยชัย  ถูกกระหน่ำยิงขณะวิ่งออกกำลังกายสนามกีฬากลางเมืองแพร่ (เมื่อเช้าวันจันทร์ที่  ๒๒  ต.ค.๒๕๕๐)
 
ระหว่าง พ.ศ.๒๕๔๓-๒๕๕๒  พบว่า  ความรุนแรงลอบสังหารในการเมืองท้องถิ่นทั้งหมด  ๔๘๑ ราย  หรือ  ๔๕๙  กรณี  กรณีที่เสียชีวิตกันมากที่สุดคือ  กรณี นายมีลาภ  เทพฉิม  ประธานกรรมการบริหาร อบต.ปากแตระ  อ.ระโนด  จ.สงขลา  โกรธที่ถูกรุมอภิปรายเรื่องการทุจริตงบประมาณโครงการจัดซื้อถังขยะ และเสาไฟฟ้าที่ตนรับผิดชอบ  ใช้อาวุธปืน  ๑๑  มม.จ่อยิงประธานสภา และสมาชิกสภา อบต.ทีละคน  เสียชีวิต  ๓  ศพ  เหตุเกิดกลางที่ประชุมเมื่อ  ๑๓  ก.พ.๒๕๔๔ (ไทยรัฐ  ๑๕  ก.พ.๒๕๔๔)
 
ใน  ๔๘๑  ราย มีมากถึง  ๓๖๒  รายที่จบชีวิตลง  ที่รอดชีวิตมี  ๒  กลุ่มคือ  บาดเจ็บสาหัส  ๑๐๑  ราย  ที่ปลอดภัย  ๑๘  ราย  ผู้เสียชีวิตเป็นผู้ชาย  ๔๖๗  คน ผู้หญิง  ๑๔  คน  อายุเฉลี่ย  ๔๕.๒๓  ปี  อายุ  ๔๑-๕๙  ปีมากที่สุด  รองลงมาคือ  ๔๐  ปีและ  ๖๐  ปี
 
ตำแหน่งที่ตกเป็นเป้ามากที่สุด ได้แก่ สมาชิกสภา  ๒๐๖  ราย  เป็น อบจ.  ๓๔  ราย  เทศบาล  ๒๕  ราย  อบต. ๑๔๗  ราย  นายกฯ  ๑๓๙  ราย  เป็นนายก อบจ.  ๕  ราย  นายกเทศมนตรี  ๓๕  นายก อบต.  ๙๙  ราย  รองนายกฯ  ๖๕  ราย  ประธานสภาฯ  ๒๗  ราย
 
ความถี่ระดับ  ๑๐  อันดับของความรุนแรง  เรียงตามลำดับ ดังนี้  นราธิวาส (๓๔)  ปัตตานี (๓๑)  พัทลุง (๓๐)  ยะลา (๒๔)  สงขลา (๒๐)  นครศรีธรรมราช (๑๘)  นครปฐม (๑๖)  เพชรบูรณ์ (๑๖)  นครราชสีมา (๑๓)  เชียงใหม่ (๑๒)  สุพรรณบุรี (๑๒)
 
พื้นที่ที่เกิดซ้ำซาก  ได้แก่  อบต.เกาะหมาก  อ.ปากพะยูน  จ.พัทลุง  นายกฯ  ๒  ปีถูกยิงตาย  ๓  คน  มาจากความขัดแย้งผลประโยชน์จากรังนกนางแอ่น  เทศบาลตำบลท่าแพ  อ.เมือง  จ.นครศรีศรีธรรมราช  นายกฯ  ๒  คนถูกลอบยิงเสียชีวิตมาจากความขัดแย้งการเมืองท้องถิ่น
 
จังหวัดที่ไม่เคยมีความรุนแรง  ได้แก่  กทม.  มุกดาหาร  แม่ฮ่องสอน  ยโสธร และร้อยเอ็ด  เมื่อจัดลำดับระดับภาค  ความรุนแรงเรียงตามลำดับดังนี้ คือ  อันดับ ๑  ภาคใต้ (๒๐๓ ราย)  อันดับ ๒ ภาคกลาง (๑๒๒  ราย)  อันดับ ๓  ภาคอีสาน (๕๒ ราย)  อันดับ ๔ (๔๐ ราย)  อันดับ ๕ ภาคตะวันตก (๓๐ ราย)  อันดับ ๖ ภาคตะวันออก (๒๙  ราย)
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น