xs
xsm
sm
md
lg

ตามหานายหนัง : นักเล่านิทานในยามวิกาล (๖) “หนังเคล้าน้อย” / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

หนังเคล้าน้อย
 
คอลัมน์  :  คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
------------------------------------------------------------------------------------------
 
“นามชื่อเคล้า  ดาวตะลุง  ทุ่งการะเกด
ติดอยู่เขต  เชียรใหญ่  นครศรีฯ
บุตรศรีชุม  ศิษย์จันทร์แก้ว  วาดแววดี
ทุกเวที  สร้างชื่อ  ลือระบิล
สร้างรูป  ต้นแบบ  แก้วหัวกบ
ตลกได้  หลายตลบ  ไม่จบสิ้น
เที่ยวทำหมรวน  ชวนคน  ให้ยลยิน
ทั่วทุกถิ่น  ชื่อเคล้า  เป็นดาวลอย”
(กลิ่น  คงเหมือนเพชร)
 
“เคล้า  โรจนเมธากุล”  ศิลปินหนังตะลุงผู้เติบโตมาจากครอบครัวศิลปินบ้านนา ตำบลการะเกด อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผลงานการแสดงหนังตะลุงเป็นที่ประทับใจของบรรดา “คอหนังตะลุง” มากที่สุดคณะหนึ่ง โดยเฉพาะช่วงปี พ.ศ.๒๕๐๙-๒๕๒๐ มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุด มี “ขันหมาก” ติดต่อกันถึงเดือนละ ๒๐-๓๐ คืน หนังเคล้าน้อยเป็น “หัวโจด” ศิลปินหนังตะลุงแห่งลุ่มน้ำปากพนัง เชื้อสายหนังสีชุม “ศิลปินหนังตะลุงเรื่องรามเกียรติ์” เมื่อหลายทศวรรษที่ผ่านมา
 
“หนังเคล้าน้อย” นอกจากเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขศิลปินหนังตะลุงมาแต่กำเนิด เขายังใสใจเรื่องศิลปินหนังตะลุงมาตั้งแต่วัยเด็ก ดังนั้น เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาแล้ว จึงฝึกฝนการแสดงหนังตะลุง จนกระทั่งมีศิลปะ และทักษะสามารถออกโรงแสดงหนังตะลุงแสดงหนังตะลุงเป็นอาชีพอย่างจริงจังตั้งแต่ปี ๒๕๐๗
 
เคล้า  โรจนเมธากุล  เกิดเดือน  ๘  ปีมะเมีย  ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๘๕  ที่บ้านนา  หมู่ที่  ๗  ตำบลการะเกด  อำเภอเชียรใหญ่  จังหวัดนครศรีธรรมราช  เป็นบุตร  หนังสีชุม  นางจำเนียร  โรจนเมธากุล  มีพี่น้องร่วมบิดารมารดาด้วยกัน  ๗  คน คือ  นายสุวิทย์  นางเคลื่อน  นายคล่อง  นางปรานี  นายวิจิตร  นางสมใจ และนายประจวบ (นายหนังตะลุง)  สมรสกับ โนราฉลวย  ประดิษฐ์ศิลป์  เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๑  มีบุตรธิดา  ๔  คน คือ  นางสาวอัจฉราวดี  นางสาวปาริชาติ  นางสาวจารุวัฒน์ และนายธีรวุฒิ
 
เนื่องจากบิดาคือ นายสีชุม เป็นนายหนังตะลุงที่มีชื่อเสียงมาก่อน  และได้ติดตามบิดาไปแสดงหนังตะลุงมาแต่เด็กๆ  ประกอบกับมีใจรักการแสดงหนังตะลุงเป็นทุนอยู่แล้วด้วย  จึงเป็นแรงจูงใจที่จะหัดหนังตะลุงเพื่อเจริญรอยตามบิดา
 
เริ่มฝึกหัดแสดงหนังตะลุงเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๙๖  เริ่มจากญาติที่เคารพนับถือตัดรูปหนังด้วยกระดาษให้หัดเชิดเล่นก่อน โดยใช้ผ้าขาวม้าแทนจอหนัง  การเชิดรูปอาศัยการจำจากบิดาบ้าง  จากนายหนังตะลุงคณะอื่นๆ บ้าง  ทำอยู่อย่างนี้ประมาณ  ๒  ปี  จนบิดาเห็นว่ามีหน่วยก้านพอไปได้  จึงเริ่มให้หัดอย่างจริงจัง และเริ่มแสดงแทนบิดาบ้างตามโอกาสที่บิดารับงานมา  และค่อยๆ มีชื่อเสียงขึ้นมาตามลำดับ
 
ช่วงนี้  หนังจันทร์แก้ว  บุญขวัญ  หรือ  หนังสามเปีย  ชาวบ้านหนองศรีขวัญ  ตำบลเขาพระบาท  อำเภอเชียรใหญ่  มีชื่อเสียง และเป็นเพื่อนเกลอกับบิดา   มีบ้านอยู่ไม่ไกลกันมากนัก  เห็นว่าหนังเคล้ามีหน่วยก้านพอจะเป็นนายหนังตะลุงที่ดีได้  จึงมาขออนุญาตบิดาว่าจะนำไปฝึกปรือเอง  ซึ่งบิดาก็อนุญาต  เพราะเห็นว่าหนังจันทร์แก้ว ก็เป็นเพื่อนสนิทกัน  และกำลังมีชื่อเสียงโด่งดังอยู่ในขณะนั้นด้วย  โอกาสที่หนังเคล้าน้อย จะได้ศึกษาวิชาหนังจะได้กว้างขวางออกไป  หนังจันทร์แก้ว ได้ประสิทธิ์ประสาทวิชา และครอบมือให้หนังเคล้าตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
 
ครูหนังผู้ให้ความรู้ด้านหนังตะลุงแก่หนังเคล้า  ประกอบด้วย  หนังสีชุม  หนังจันทร์แก้ว  บุญขวัญ หรือหนังสามเปีย  ความสามารถในการแสดงของหนังเคล้าน้อย มีพรสวรรค์ และพรแสวงในการว่ากลอน หรือขับบทหนังตะลุง  ส่วนใหญ่ในการแสดงจะใช้กลอนสด หรือกลอนปฏิภาณทั้งสิ้น  กลอนโบราณที่รับถ่ายทอดมาก็มีบ้าง ซึ่งจะใช้เป็นกลอนนำ หรือบทเกี้ยวจอ  เมื่อเข้าเรื่องจะว่ากลอนสดทันที  มีความสามารถที่จะว่ากลอนเล่าเรื่องได้โดยไม่ต้องใช้บทเจรจาที่เป็นคำพูด  คือ ตัวละครโต้ตอบกันเป็นกลอนไปเลย
 
อายุ ๒๔ ปี บรรพชาอุปสมบททดแทนบุญคุณบิดามารดาอยู่ที่วัดท่าลิพง ซึ่งอยู่ใกล้ๆ บ้าน เป็นเวลานาน ๑ พรรษา จึงลาสิกขามาประกอบอาชีพศิลปินหนังตะลุง
 
ศิลปินหนังตะลุง “เคล้าน้อย” ออกโรงแสดงหนังตะลุงเป็นอาชีพ เพียงไม่กี่ปีก็มีชื่อเสียงขจรขจาย กลายเป็นศิลปินหนังตะลุงยอดนิยมของประชาชนทั่วภาคใต้  แข่งขันโรงคราวใดได้รับชัยชนะ มีรางวัลเป็นประจักษ์พยานนับชิ้นไม่ถ้วน มีขันหมากแทบไม่ว่างเว้นแต่ละคืน
 
ด้วยอาชีพเป็นหนังตะลุงที่มีชื่อเสียงโด่งดังนี้เอง ที่เป็นสื่อรักชักนำให้หนังเคล้าน้อยได้เข้าสู่ประตูพิธีวิวาห์มงคลสมรสกับ “โนราห์ฉลวย” ศิลปินสาวสวยแห่งจังหวัดกระบี่ เมื่อหนังเคล้าน้อย อายุได้ ๓๘ ปี (พ.ศ.๒๕๓๓) จนมีบุตร-ธิดาด้วยกัน รวม ๓ คน
 
ปัจจุบัน หนังเคล้าน้อย และโนราฉลวยสองสามีตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านเลขที่ ๖๖ หมู่ที่ ๖ ตำบลปกาศัย อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ มีอาชีพทำสวนยาง กาแฟ และปาล์มเป็นหลัก จัดรายการบันเทิงเป็นงานอดิเรก
 
หนังเคล้าน้อย โรจนเมธากุล ประสบผลสำเร็จในอาชีพศิลปินหนังตะลุงอย่างงดงามเมื่อหลายทศวรรษที่ผ่านมา เขาได้สร้างสรรค์ผลงานการแสดงหนังตะลุงอันประทับใจผู้ชมทั้งภาคใต้  และภาคกลางอย่างไม่รู้ลืมเลือนเลยทีเดียว
 
ประวัติการศึกษา
 
๑.การศึกษาวิชาการ
 
หนังเคล้าน้อย เรียนหนังสือจนสำเร็จการศึกษาประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนวัดท่าลิพง ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน และสำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ (เรียนทางไปรษณีย์) ปัจจุบัน ยังสนใจการศึกษาอยู่ จึงเรียนระดับมัธยมศึกษากับศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ หนังเคล้าน้อย เป็นศิลปินหนังตะลุงผู้ฝักใฝ่ศึกษาอย่างจริงจัง
 
๒.การศึกษาวิชาศิลปินหนังตะลุง
 
หนังเคล้าน้อยเติบโตท่ามกลางศิลปินหนังตะลุง มีหนังสีชุม ซึ่งเป็นบิดา และหนังใหม่แห่งบ้านนาที่หนังเคล้าน้อยเรียกว่า “ปู่ใหม่” เป็นครูเป็นแบบอย่างให้เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน  เลือดศิลปินค่อยๆ สะสม และซึมซับสู่จิต และวิญญาณของเด็กชายเคล้า ในขณะที่กำลังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษา หนังเคล้าน้อย ตามบิดาไปแสดง ณ ที่ต่างๆ และได้แสดงแทนในบางช่วงตอน และบางครั้งผู้ชมก็ติดอกติดใจ  จนทำให้เด็กชายเคล้าน้อย แสดงแทนหนังสีชุมจนจบเรื่องก็มี
 
ปรากฏการณ์ที่คนรับหนังสีชุมไปแสดง  แต่เมื่อถึงเวลาแสดงจริงๆ กลับขอให้เด็กชายเคล้าน้อย แสดงแทนมีบ่อยครั้งขึ้นเป็นลำดับ  หนังเคล้าน้อย เล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งเจ้าภาพรับหนังสีชุมไปแสดงในงานศพครูแดง บ้านเกาะทวด อำเภอเชียรใหญ่ หนังสีชุม ไปตามนัดหมาย เด็กชายเคล้าน้อย ตามไปด้วย แต่เมื่อถึงเวลาแสดงเข้าจริงๆ หนังสีชุม กลับแสดงไม่ได้ การแสดงครั้งนั้นจึงต้องตกเป็นภาระของเด็กชายเคล้าน้อย ตลอดคืน และเป็นที่ชื่นชอบของผู้ชมอีกด้วย เด็กชายเคล้าน้อย เพิ่งทราบตอนหลังว่า ที่แท้หนังสีชุม จงใจ หรือแกล้งทำเป็นเมา เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ชม และทดสอบการแสดงหนังตะลุงของลูกชายนั่นเอง
 
(อ่านต่อตอนต่อไป)
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น