คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
“เขียวฟ้าโห๊ะ คือคนเดียว เขียวขาวสุด
เป็นจอมยุทธ พัทลุง รุ่งกระฉ่อน
ตัวก็โต เสียงก็ดัง ฟังขับกลอน
สะท้านสะท้อน ทั่วหล้า เหมือนฟ้าพัง
ออกไอ้พุ่น ไอ้แว ไอ้ดำบ้า
ทั้งไอ้ท่า น้ำตก รูปตลกหนัง
สร้างชื่อเสียง เรืองรุ่ง พัทลุงตรัง
บางครั้ง เรียกหมุนใหญ่ ใจนักเลง”
(กลิ่น คงเหมือนเพชร)
“หนังศรีเงินฟ้าเหี่ยว หนังเขียวฟ้าโห๊ะ” เป็นฉายาที่ชาวพัทลุงรุ่นคุณตาคุณยายตั้งให้แก่นายหนัง ๒ คณะ คือ “หนังสีเงิน” กับ “หนังเขียว”
หนังสีเงิน เสียงหวานกังวาน ดังพอได้ยินชัดทั่วหน้าโรง ตลกพอเรียกเสียงหัวเราะได้บ้าง เปรียบเทียบเสมือนทำให้ฟ้าเหี่ยว
ส่วน หนังเขียว มีเสียงก้องกังวานระยะ ๕๐๐ เมตรได้ยินชัดเจน ทั้งๆ สมัยนั้นไม่มีเครื่องขยายเสียง บทตลกของเขาขำขันมาก ผู้ชมฮาครืนตลอดคืน เสียงดังก้องจากการขับบท เสียงหัวเราะของผู้ชมดังกึกก้องปานฟ้าจะถล่มทลาย จึงได้ฉายานามว่า
“หนังเขียวฟ้าโห๊ะ” (โห๊ะ หรือ โห๊ะ ภาษาถิ่นใต้ หมายถึง พังทลาย)
หนังเขียว นามสกุล ขาวสุด ถือกำเนิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๓ ที่บ้านคลองเรือ (สิงคลิ้ง นาหยีค้อม บอกว่าเป็นคนบ้านหว่างควน-พนมวังก์ แต่ไปฝึกหัดหนังตะลุงพร้อมกับเพื่อนคือ หนังศรีเงิน ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่บ้านคอกวัว ตำบลชัยบุรี อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง) บุตรนายเกลี้ยง นางทรัพย์ ขาวสุด มีพี่น้องเป็นผู้ชายล้วนคือ นายจัน นายทุ่ม นายแก้ว นายทุ่ม ทำหน้าที่เป่าปี่ให้พี่ชายแสดงหนังตั้งแต่เริ่มออกโรงจนตายจากกัน
หนังเขียว เรียนหนังสือไทย-ขอมที่วัดคอกวัว พออ่านออกเขียนได้ ศึกษาวิชาไสยศาสตร์ที่วัดเขาอ้อ ตามความนิยมของผู้ชายไทยสมัยนั้น ฝึกหนังกับหนังยก และหนังด้วงบ้านคอกวัว แต่งงานกับนางปุ้น บ้านเกาะอ้ายเฒ่า ตำบลพนมวังก์ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง มีบุตรด้วยกัน ๓ คนคือ นางจับ นายส่ง นายเปรียม มีภรรยาใหม่ที่จังหวัดตรังอีกคนหนึ่งชื่อ นางปิ้ม มีบุตรชายชื่อ นายไข่ ถึงแก่กรรมด้วยถูกลอบวางยาพิษจากคู่แข่งทีอำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๗ มีอายุเพียง ๕๔ ปีเท่านั้น
หนังเขียว มีรูปร่างล่ำสัน สูงใหญ่ บึกบึน จมูกบาน ใบหน้ากว้าง แผ่นอกกว้าง ผิวดำเป็นหมึกจนเขียว มีความสามารถเฉพาะตัวตรงเสียงใหญ่ ดังก้องกังวาน จึงเอาดีทางบทยักษ์ ยามนั่งขับจับรูปเชิด หนังเขียวยกเข่าขวาขึ้นธงไว้แล้วกระแทกพื้นโรงดังโครมๆ รับเสียงขับลงท้ายวรรค เข้าจังหวะเสียงลูกคู่ฉับทับตีกรับแล้วฉับฉิ่ง คนหน้าโรงเงียบกริบ (สิงคลิ้ง นาหยีค้อม.๒๕๔๔ : ๕๙-๖๑) นุ่งผ้าเลื้อยชาย ผ้าขาวม้าพาดบ่า ไม่ชอบสวมเสื้อ ชอบพูดจาโผงผางตรงไปตรงมา คบหาสมาคมกับคนทุกชั้น เป็นคนเสมอต้นเสมอปลาย เป็นที่รักใคร่ชอบพอของเพื่อนฝูง และบุคคลทั่วไป
เริ่มแสดงหนังจริงเป็นครั้งแรกเมื่ออายุของเขาได้ ๑๘ ปี ด้วยมีงานที่วัดปากสระในตำบลเดียวกัน ทางวัดรับหนังด้วงเฒ่าไปแสดง หนังด้วงเกิดป่วยกะทันหัน นายเขียว ขันอาสาแสดงแทน ผู้คนติดอกติดใจดูได้ตลอดคืน หนังด้วง หายป่วยแล้วนอนดูอยู่บนโรงด้วย เห็นว่ามีหน่วยก้านทางหนังตะลุงพอตัว จึงฝากหนังยก ผู้เป็นลูกศิษย์ของตนเป็นครูสอนอีกทอดหนึ่ง หนังด้วงเองก็ไม่ทอดทิ้ง คืนไหว้ครูหนังตนเองประกอบพิธี และมอบอุปกรณ์การแสดงหนังให้ทั้งหมด เพราะตนมีอายุมากแล้ว บทปรายหน้าบทซึ่งหนังเขียวจดจำจากหนังด้วงเขาจะขึ้นต้นก่อนเสมอ จนชาวบ้านจำกันได้ติดปาก แต่หนังเขียวถือว่าเป็นบทครูไม่ยอมเปลี่ยนแปลง
ชั่วระยะเวลาการแสดงหนังไม่ถึง ๑๐ ปี หนังเขียว กลายเป็นยอดหนังของจังหวัดพัทลุง และจังหวัดตรัง (ชาวตรังเขาเรียกกันว่าหนังหมุนใหญ่ เมื่อมีหนังหมุนชาวตรังเกิดขึ้นอีกโรงหนึ่งเพื่อไม่ให้ชื่อซ้ำซ้อนกัน จึงมีชื่อเรียกว่าหนังหมุนนุ้ย) สมัยนั้นถ้างานใดรับหนังเขียวไปแสดงด้วยนับเป็นสุดยอดของงาน ผู้คนจะเดินทางมาชมหนังเขียวจากท้องถิ่นห่างไกล จะเดินเท้ากันมาตั้งแต่บ่ายโมง และกลับบ้านวันรุ่งขึ้น
หนังตะลุงที่มีชื่อเสียงรุ่นเดียวกัน หรือรุ่นน้องลงมาประชันโรงกับหนังเขียวมาแล้วทุกคณะ ไม่มีโรงใดเอาชนะหนังเขียวได้ บางคณะขอตามแข่งถึง ๒๐ ครั้ง แพ้หนังเขียวทุกครั้ง หนังเส็น หนังกิ้มเส้ง เป็นหนังรุ่นน้องมีชื่อเสียงมาก ไม่ยอมแข่งกับหนังเขียวเป็นอันขาด คู่แข่งหนังเขียวที่สำคัญ ได้แก่ หนังหวน หนังกล่อม หนังกลับ หนังดำ หนังจันทร์แก้ว หนังอิ่มจอแพร หนังนกแก้ว หนังหล้า หนังหลัก หนังคง หนังคล้าย หัวปิ้ง หนังช่วย ใสไฟ หนังอินทร์ดอนรุน หนังไข่นุ้ย และหนังอื่นๆ อีกมาก
หนังเขียว ไม่กลัวพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ของคู่แข่ง เพราะมีพลังทางจิตเข้มแข็ง มีความเชื่อมั่น ตนเอง หมอผี หมอมนต์ทำอะไรเขาไม่ได้เลย แพ้ชนะถือเอาความสามารถทางการแสดงเป็นสำคัญ
หนังเขียวไ ด้คิดประดิษฐ์รูปกาก หรือรูปตลกที่เหมาะสมต่อบุคลิกและเสียงฟ้าโห๊ะของนายหนังหลายตัว แต่ละตัวจำลองลักษณะนิสัยชาวบ้านภาคใต้ไว้ครบครัน และเป็นลักษณะเฉพาะของรูปกาก แต่ละตัวที่ต้องแสดงบทบาทตามที่นายหนังกำหนดไว้ บทใครบทมัน เช่น ไอ้แว ไว้หางเปียยาว รูปร่างคล้ายเจ๊กจ้อง รับบทเป็นหมอดูฤกษ์ยาม ผูกดวง ดูชะตาราศี ดูโหงวเฮ้งตามตำรานรลักษณ์ศาสตร์
ไอ้ดำบ้า ตัดรูปเลียนแบบนายหนังเขียวเอง พูดเพ้อเจ้อไปได้เรื่อยเปื่อยทุกเรื่อง แต่ไม่ได้เรื่องได้ราวเป็นสาระอันใดเลย ทำนองพวกคณะตลก หรือทอล์กโชว์สมัยนี้ที่ชอบเล่นคำให้ความหมายต่างๆ กัน โดยจับเคล็ดภาษาไทยที่ว่าคำๆ เดียวมีหลายความหมายมาเป็นมุก เป็นแก๊ก จนมีชื่อเสียงโด่งดังรกฟ้าอยู่ในขณะนี้
ไอ้ท่าน้ำตก เลียนแบบชาวบ้านท่าน้ำตก ชุมชนเขตป่าเขา ซึ่งแวดล้อมด้วยบ้านโคกยาง เขาหว่าง ห้วยน้ำดำ ผมเด็น ห้วยต่อ ซึ่งล้วนแล้วเต็มไปด้วยคนดุดัน นักเลงจริงทั้งนั้น บ้านท่าน้ำตกตั้งอยู่บนตะเข็บรอยต่ออำเภอเมืองตรัง อำเภอสิเกา อำเภอกันตัง ลักษณะภูมิประเทศอย่างนี้มีความร้ายกาจน่ากลัวเป็นปกติวิสัยเสมอ ไอ้ท่าน้ำตก เป็นรูปกากทรงเครื่อง หนังเขียวดัดแปลงรูปเจ้าเมืองชำรุด มงกุฎหัก ตัดมงกุฎออกเสีย ผ่าปากให้อ้า ผูกเส้นด้ายชักปากล่างเหมือนรูปกากทั่วไป มือข้างหลังยังกุมพระแสงขรรค์อย่างเจ้าเมืองอยู่ ส่วนมือข้างหน้าที่เคลื่อนไหวได้นั้น ติดรูปพร้าลืมงอเข้าไปอีกต่างหาก นิสัยมุทะลุดุดันเหมือนคนบ้านท่าน้ำตก ออกคู่กับไอ้ยอดทอง
ไอ้ดำบ้าคู่กับไอ้แว ส่วนไอ้พุ่น รูปร่างสูงใหญ่คล้าย ไอ้พูนหัวหยู จะออกมาเฉพาะฉากที่มีบทขับร้องเจรจาเกี่ยวกับเรื่องข้าวปลาอาหาร สามารถร้อง และเจรจาเรื่องอาหารการกินได้ละเอียด เห็นภาพเหมือนจริงในจินตนาการ คนหน้าโรงคล้อยตามนึก อยากกินตามภาพพจน์ที่ไอ้พุ่นพรรณนา คล้ายไอ้โถบ้านพังบัว สทิงพระ (สิงคลิ้ง นาหยีค้อม. ๒๕๔๔ : ๖๒-๖๔)
องค์ประกอบที่สร้างให้หนังเขียวเป็นยอดหนังตะลุงมีหลายประการ ที่สำคัญเสียงดี ขับบทดี และตลกได้ดีเป็นเลิศ บทตลกเป็นไปตามสถานการณ์ คำพูดแปลกใหม่ ใช้สำเนียงพูดเฉพาะตัว ตัวตลกเอก ได้แก่ อ้ายดำบ้า อ้ายท่าน้ำตก อ้ายแว อ้ายพุ่น ทั้ง ๔ ตัวนี้พบกันเมื่อใด ผู้ชมหัวเราะกันท้องคัดท้องแข็ง เฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการต่อกลอนระหว่างกัน ผู้คนยังจดจำกันได้ แม้ว่าจะผ่านมาหลายสิบปีแล้ว
หนังเขียวฟ้าโห๊ะถึงแก่กรรมไปแล้ว (พ.ศ.๒๔๙๗) เขาได้ฝากคติชีวิต ความบันเทิงไว้แก่มหาชน เขาเป็นหนังรับใช้ประชาชนอย่างแท้จริง ไม่เคยโกงเวลา ไม่เอาเปรียบผู้รับ ผู้เฒ่าผู้ที่ทันดูการแสดงหนังของเขายังกล่าวขานถึงเขาอย่างไม่มีวันลืม ชั่วระยะเวลา ๓๖ ปี เขาแสดงหนังไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐ ครั้ง เขาเป็นหนังจอมตลกแห่งยุค สูงส่งด้วยลีลาชั้นเชิง ยากที่จะหาหนังโรงใดเสมอเหมือนได้