xs
xsm
sm
md
lg

ตามหานายหนังตะลุง : นักเล่านิทานในยามวิกาล (๑) นายหนังและสมญานามนายหนัง / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
 
คอลัมน์  :  คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
ข้าพเจ้าเสนอ โครงการศึกษาองค์ความรู้เกี่ยวกับวิถีแห่งผู้คน และวัฒนธรรมภาคใต้  เพื่อของบประมาณแผ่นดินจากหมวดงบทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยทักษิณ  ประจำปีงบประมาณ  ๒๕๕๗  ตอนแรกมีเป้าหมายสูงสุดสุดท้ายคือ การจัดพิมพ์เอกสาร หรือหนังสือทางวิชาการเกี่ยวกับประวัติ และผลงานของนายหนังตะลุงภาคใต้ที่โดดเด่น
 
แต่คณะกรรมการพิจารณาจัดสรรงบประมาณโครงการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม  มหาวิทยาลัยทักษิณ  ไม่เห็นชอบให้จัดพิมพ์  และมีข้อเสนอแนะให้จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับหนังตะลุงไปเผยแพร่ในช่องทางอื่น  ที่ไม่ใช่สิ่งตีพิมพ์อย่างที่เคยกระทำกันมา
 
แต่เพื่อให้ความตั้งใจของข้าพเจ้าที่จะจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้บรรลุผล และตอบสนองความต้องการของผู้สนใจเกี่ยวกับหนังตะลุงและศิลปวัฒนธรรมของภาคใต้  โดยเฉพาะเอกสารที่เกี่ยวกับหนังตะลุง  ซึ่งนักวิชาการ และผู้สนใจรุ่นใหม่หาเอกสารเพื่อการศึกษาค้นคว้า  วิจัย  หรือทำปริญญานิพนธ์ในระดับมหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตยากมาก  แต่มีหลายคนได้ใช้เอกสารเกี่ยวกับหนังตะลุงที่ข้าพเจ้าเคยจัดพิมพ์ในโครงการต่างๆ ของสถาบันทักษิณคดีศึกษายุคก่อน  จัดทำเค้าโครงปริญญานิพนธ์ และจบการศึกษาทั้งสาขารัฐศาสตรมหาบัณฑิต  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  และมหาบัณฑิตของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
 
ข้าพเจ้าจึงจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้โดยการสนับสนุนจากกองทุนเผล้งหลา  สำนักพิมพ์ประภาคาร  ที่ข้าพเจ้าก่อตั้งขึ้น  และจัดพิมพ์เอกสารเกี่ยวกับท้องถิ่นโดยเฉพาะ
 
ขอขอบพระคุณคณะกรรมการพิจารณางบทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม  ประจำปีงบประมาณ  ๒๕๕๗  มหาวิทยาลัยทักษิณ  ที่กรุณาอนุมัติงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับชีวิต และผลงานของนายหนังตะลุง  ขอขอบพระคุณผู้มีคุณูปการข้อมูลเกี่ยวกับหนังตะลุงอย่างเป็นระบบ ที่หาได้ยากยิ่งในสังคมสมัยใหม่  โดยเฉพาะอาจารย์กลิ่น  คงเหมือนเพชร,  อาจารย์เกษม  ขนาบแก้ว,  สิงคลิ้ง  นาหยีค้อม (อาจารย์สมเจตนา  มุนีโมไนย)  ฯลฯ  ขอบคุณผู้บริหาร และบุคลากรสถาบันทักษิณคดีทุกท่าน ที่อำนวยความสะดวกในการดำเนินการโครงการตลอดเวลาที่ออกภาคสนามเพื่อเก็บข้อมูล
 
ขอขอบพระคุณเจ้าของข้อมูลเกี่ยวกับประวัติ และผลงานของหนังตะลุงทุกท่าน  ต่อไปนี้  อาจารย์กลิ่น  คงเหมือนเพชร,  อาจารย์เกษม  ขนาบแก้ว,  คุณขนิษฐา  สุขสง,  อาจารย์ครื่น  มณีโรจน์,  อาจารย์จริน  ศิริ,  อาจารย์เฉลียว  เรืองเดช,  อาจารย์ชวน  เพชรแก้ว,  คุณธำรงสวัสดิ์  บุญจุน,  อาจารย์พ่วง  บุษรารัตน์,  อาจารย์พิทยา  บุษรารัตน์,  คุณสบาย  ไสยรินทร์,  อาจารย์สว่าง  เลิศฤทธิ์,  คุณสมพงศ์  ศรีนิล,  อาจารย์สุธิวงศ์  พงศ์ไพบูลย์,  สิงคลิ้ง  นาหยีค้อม (อาจารย์สมเจตนา  มุนีโมไนย),  อาจารย์อุดม  หนูทอง,  คุณเอนก  นาวิกมูล,  อาจารย์ประภาศ  ปานเจี้ยง  ฯลฯ
 
จากบทไหว้ครู หรือบทปรายหน้าบทของนายหนังคณะต่างๆ ในรุ่นหลังๆ  ทั้งที่นายหนังแต่งเอง และคนอื่นแต่งให้  จะเห็นได้ว่า มีนายหนังร่นก่อนๆ ที่นายหนังรุ่นนี้ให้ความเคารพนับถือ  เอ่ยชื่อเอ่ยนามทุกครั้งที่ทำการแสดง  และนายหนังเหล่านั้นล้วนมีนิวาสถานอยู่ในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และละแวกใกล้เคียง  เช่น  หนังหนักทอง  หนังก้อนทอง  หนังเขียวเฒ่า  หนังนุ้ย  หนังหนู (คูเต่า)  หนังตำมหิต  หนังจ้วน (คูขุด)  หนังเอี่ยม (เกาะยอ)  หนังเอียด (ปากพน)  หนังขับ (ดีหลวง)  หนังอิ่ม (ห้วยลึก)  หนังหิ้น (เขาตกน้ำ)  หนังปานบอด (เขาพังไกร)  หนังแป้นตรด (ตรัง)  หนังรอดเทวา (ควนมะพร้าว/ลำปำ)  หนังฉิ้น (ธรรมโฆษณ์)  หนังประวิง (หัวไทร)  หนังกั้น  ทองหล่อ (น้ำกระจาย)  หนังเอี่ยม (เสื้อเมือง)  หนังหนูอิน  หนังอ่วม (สามี)  หนังทองเกื้อ  หนังนุ้ยเซ่ง  หนังเช้า (ควนโส)  หนังสีแก้ว (ปากรอ)  หนังสอนเหยก  หนังเส้ง (พังบัว)  หนังกิ้มเส้ง  หนังจบ  หนังนกแก้ว (ชุมพร)  หนังเกลี้ยง (พานยาว)  หนังศรีชุม (การะเกด)  หนังจูลี้ (ตรัง)  หนังขจร (พังงา)  หนังศรีพัฒน์ (เกาะสมุย)  หนังพร้อมน้อย (พัทลุง)  หนังไสว (นครศรีธรรมราช)  หนังปรีชา  สงวนศิลป์ (ร่อนพิบูลย์)  หนังนครินทร์  ชาทอง (สงขลา)  หนังเคล้าน้อย (เชียรใหญ่)  เป็นต้น
 
ปัจจุบัน นายหนังส่วนใหญ่เสียชีวิตไปแล้ว  ที่เหลือก็ไม่ได้รับการแสดงเหมือนสมัยก่อน  แต่ได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ  สาขาการแสดงพื้นบ้าน (หนังตะลุง)  เช่น  หนังนครินทร์  ชาทอง  ศิลปินแห่งชาติ  สงขลา  หนังเคล้าน้อย  ศิลปินแห่งชาติ  กระบี่  หนังฉิ้น  ธรรมโฆษณ์  ศิลปินแห่งชาติ  สงขลา  หนังอิ่มเท่ง  ศิลปินแห่งชาติ  สงขลา  หนังสุชาติ  ทรัพย์สิน  ศิลปินแห่งชาติ  นครศรีธรรมราช
 
สมญานามนายหนัง  สมัยที่คนไทยยังไม่มีนามสกุลใช้  ต้องใช้ลักษณะประจำตัว  ชื่อพ่อ  ชื่อแม่  ชื่อสามี  ชื่อภรรยา  หรือชื่อบ้านกำกับ  เพื่อให้รู้ว่าหมายถึงใครโดยเฉพาะ  เมื่อมีคนชื่อเดียวกันหลายๆ คนในแต่ละชุมชน  ต่อมา แม้ว่าจะมีนาสกุลใช้  แต่ก็ยังมีการตั้งสมญานามต่อท้ายชื่อ  โดยเฉพาะนายหนังตะลุงในปักษ์ใต้  ตอนแรกๆ ก็ใช้ชื่อถิ่นที่อยู่อย่างหนึ่ง  ต่อด้วยคุณลักษณะ หรือบุคลิกประจำตัวที่มีความโดดเด่นอย่างหนึ่ง  นอกนั้นก็ต่อด้วยชื่อตัวตลก หรือตัวรูปหนังที่สามารถเล่นได้อย่างดีเลิศ
 
หนังเอี่ยม  เกาะยอ  อยู่ตำบลเกาะยอ  อำเภอเมืองสงขลา  จังหวัดสงขลา  ชื่อจริงว่า  เอี่ยม  ยอสินธุ์  เป็นนายหนังที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่ง  มีความสามารถว่ากลอนสดได้ไว  และชอบแต่งเรื่องเล่นเอง  เพราะไม่อยากให้ใครดูถูกว่าเล่นตามนิทาน  นอจากนั้น หนังเอี่ยมเกาะยอยังมีความสามารถพิเศษ คือ  เล่นหนังกับตีนได้ด้วย  นายเอิ้ม  ยอสินธุ์  ลูกชายหนังเอี่ยม เป็นคนยืนยันได้  เพราะเคยตามพ่อไปดูบนโรง  หนังเอี่ยมถึงแก่กรรมเมื่อมีอายุ  ๖๓  ปี (พ.ศ.๒๔๐๖  สมัยรัชกาลที่  ๔  ถึง  ๒๔๖๔  สมัยรัชกาลที่   ๗)
 
ลูกศิษย์หนังเอี่ยม  ๒  คนที่มีชื่อเสียง คือ  หนังอิ่ม  ห้วยลึก  กับ  หนังขับ  ดีหลวง  เชื่อกันว่าหนังคณะไหนไปเล่นที่เกาะยอ  กลับออกมาแล้วเสียหนังทุกราย
 
(มีต่อตอน ๒)
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น