คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
“เปรม ชูเกลี้ยง” ผู้ริเริ่มติดต่อให้ชลประทานทุ่งระโนดมาจัดสร้างคลองส่งน้ำ ขอบคลองส่งน้ำสร้างเป็นถนนหมดทุกสาย เหมือนเนรมิตให้ชาวนาตะเครียะ ตำบลบ้านขาว ตำบลบ้านใหม่ ตำบลระโนด ตำบลแดนสงวน ตำบลควนชลิกบางส่วนได้ทำนาปีละ 2 ครั้ง รวม 6 ตำบล 31 หมู่บ้าน เนื้อที่ประมาณ 200,000 กว่าไร่ ทำให้ชาวนาแถบนี้ลืมตาอ้าปากได้ไม่แพ้ภาคอื่นๆ
เปรม ชูเกลี้ยง เป็นบุตร ผู้ใหญ่บ้านแปลก กับ นางผ่อง ชูเกลี้ยง ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านบ้านขาว ตำบลบ้านขาว อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา (เดิมคือ ตำบลตะเครียะ) เกิด พ.ศ.2473 จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดบ้านขาว ศึกษาต่อระดับสูงขึ้นที่โรงเรียนระโนดวิทยามูลนิธิ จนจบมัธยมศึกษาตอนปลาย ไปศึกษาต่อด้านการพาณิชย์ที่กรุงเทพมหานคร จบการศึกษาแล้วเข้าทำงานที่บริษัท ศรีราชา จำกัด
วันหนึ่ง พาลูกเมียครอบครัวไปเยี่ยมเยือนพ่อแม่ที่บ้านเกิด ขึ้นจากเรือที่บ้านหัวป่า ตำบล
ตะเครียะ (ปัจจุบันเป็นตำบลบ้านขาว) เดินทางไปบ้านขาวโดยเดินเท้าไปตามคันนา เพราะไม่มีถนนเลย บางแห่งต้องบุกน้ำ ลุยโคลนเลอะเทอะเปรอะเปื้อน ทุ่งนาขาวโพลนไปด้วยข้าวผี และหญ้าบัด จึงบ่นว่า
“ชาวนาบ้านเราคงแย่แล้ว ภาคกลางเขามีชลประทาน ส่งน้ำให้ทั่วถึงหมด ขอบคลองส่งน้ำทำถนนลาดยาง เส้นทางระบายผลผลิตออกสู่ตลาดก็สะดวกสบายไปเสียหมด บ้านเราอย่างดีก็แค่ชักลากด้วยวัวควาย ผู้หญิงทูนผู้ชายหาบ”
เปรม ชูเกลี้ยง แม้จากโลกนี้ไปแล้ว แต่ความดีที่ทำไว้เป็นผลงานดลบันดาลให้ญาติพี่น้อง พระสงฆ์องคเจ้า ตลอดจนประชาชนที่ใช้น้ำชลประทานพร้อมใจกันจัดหาเงินโดยการทอดผ้าป่าสามัคคีได้เงินมาซื้อที่ดิน และถมที่ให้สูงขึ้น แล้วหล่อรูปเหมือนขนาดเท่าครึ่งของตัวจริง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม 2548 เวลา 17.00 น. มีการนิมนต์พระสงฆ์ 9 รูปมาสวดสมโภช รุ่งเช้าวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม เวลา 06.00 น. ก็ทำพิธียกรูปเหมือนขึ้นสู่แท่น บัดนี้รูปเหมือนของคุณเปรม ชูเกลี้ยง ยืนตระหง่านอยู่บนแท่นหน้าโรงสูบน้ำชลประทานทุ่งระโนดให้คนที่เดินทางผ่านไปมาได้กราบไหว้ระลึกถึงคุณงามความดีที่ท่านมีคุณูปการต่อชาวทุ่งตะเครียะและทุ่งระโนด
(เชือน ศิวิโรจน์. 2549 : 41-52)
4 สิงหาคม 2506 นายเปรม ชูเกลี้ยง พร้อมเพื่อนๆ ผู้ทรงคุณวุฒิชาวอำเภอระโนด รวม 15 คน คือ นายณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม นายเอกไท นิลโฆษิต นายกู้เกียรติ เทพไชย นายเทพ เทวรังสี นายสุรใจ ศิรินุพงศ์ ร.อ.เสริญ ด้วงสงค์ ร.อ.อาจินต์ จินตน์กุล ร.ต.เจริญ ขวัญแย้ม นายลาภ สุขศิริ นายสมชาย ศรีจันทร์ นายยงยุทธ ศรีวิโรจน์ นายวิชิต ทองมี นายพักตร์ ชูมนตรี และนายเจริญ จันทวงศ์ เข้าพบผู้อำนวยการกองชลประทาน คือ นายมานัส ปิติวงศ์ เพื่อชี้แจงรายละเอียด บ่อเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำของชาวนาระโนด ทำให้เกิดผลเสียหายต่อพื้นที่ทำนา 150,000 ไร่ มีประชากรประมาณ 60,000 คน เป็นบ่อเกิดการว่างงาน ความยากจน ปัญหาอาชญากรรม และปัญหาอื่นๆ ของสังคมติดตามมามาก
คณะผู้แทนชาวนาระโนดได้เรียกร้องให้รัฐบาลวางโครงการชลประทานทุ่งระโนด คือ สูบน้ำจืดจากทะเลสาบสงขลาขึ้นสู่พื้นที่นา เพื่อแก้ปัญหาฝนแล้ง และช่วยส่งเสริมเกษตรกรรมอย่างอื่นๆ เช่น การประมง การทำสวน เลี้ยงสัตว์ ที่เรียกว่าไร่นาสวนผสมในปัจจุบัน ซึ่งจากการเสนอโครงการชลประทานทุ่งระโนดวันนั้น ก็ได้รับการพิจารณาจากผู้อำนวยการ โดยให้คำมั่นว่าจะเสนอโครงการนี้ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการ และงบประมาณในขั้นตอนต่อไป ตามหนังสือเรียกร้อง ดังนี้
“กระผมใคร่ขอเสนอความคิดเห็นบางประการ เรื่องการให้มีการชลประทานเกิดขึ้นในเร็ววันในท้องที่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ชาวระโนดคอยวันเวลาที่จะเห็นหน่วยงานของกรมชลประทานเข้าไปยื่นมือให้ความช่วยเหลือพี่น้องชาวนาในท้องที่อำเภอนี้ อันเป็นพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศ โดยลักษณะทางภูมิศาสตร์ชาวระโนดเปรียบเสมือนหนึ่งได้พรจากสวรรค์ มีทะเลสาบกว้างใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 450 ตารางกิโลเมตร มีน้ำจืดสนิทอยู่ตลอดกาลเวลา มีคลองน้อยใหญ่เชื่อมกับทะเลสาบ ได้อาศัยทำประโยชน์นานาประการ พลเมืองประมาณ 60,000 คน 95% มีอาชีพในการทำนา การทำนาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวด อาศัยน้ำฝนธรรมชาติช่วยเหลืออย่างเดียว ปีใดฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาลชาวนาก็หมดหวังที่จะพึ่งใคร จะหาน้ำทดเข้านาก็ไม่มีจะทด ต้องปล่อยให้เป็นไปตามบุญตามกรรม บางปีราวเดือนสิบสอง น้ำท่วมเป็นเดือนๆ ข้าวกล้าในนาเสียหายหมด ทั้งนี้ เพราะไม่มีคันเก็บน้ำ ทุกอย่างต้องปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติจริงๆ เพราะไร้ที่พึ่งพาอาศัย
โดยที่ระโนดมีที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำนา 150,000 ไร่เศษ เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของจังหวัดสงขลา การทำนาระยะ 10 ปีที่ผ่านมาได้ผลน้อยมากหากปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ นับวันที่ดินส่วนนี้จะไร้ค่า ภัยต่างๆ ที่คุกคามยังแก้ไม่ตก นอกจากฝนฟ้าไม่ตกตามฤดูกาลแล้ว น้ำท่วมเกินความจำเป็น ยังมีศัตรูพืชอีกมากอย่างเป็นภัยร้ายแรงแก่ชาวนามาก ทำลายยาก ดินขาดปุ๋ย การทำนาไม่ได้ผลเหมือนเมื่อก่อน ประชาชนเริ่มอพยพไปประกอบอาชีพในถิ่นอื่นมีปริมาณสูงขึ้นเรื่อยๆ
โดยที่ระโนดมีแหล่งน้ำธรรมชาติ คือ ทะเลสาบสงขลา อันเป็นทรัพยากรธรรมชาติอย่างหนึ่งของประเทศ ถ้ามีการชลประทานเข้าจัดระบบการส่งน้ำให้ชาวนาโดยใช้น้ำธรรมชาติแหล่งนี้ก็จะเป็นประโยชน์แก่ชาวนาอย่างมหาศาล คลองเก่าๆ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญเป็นพื้นฐานเดิมอยู่แล้วเพียงแต่ขุดลอกคลอง ปรับปรุง แก้ไขตามหลักวิชาการตลอดจนเทคนิคต่างๆ ในด้านการชลประทานเท่านั้น คลองเก่าๆ ที่เหมาะสำหรับทดน้ำเข้านาได้อย่างดี เช่น คลองระโนด เป็นคลองที่เชื่อมจากทะเลสาบสงขลายาวเหยียดไปจนถึงเขตอำเภอหัวไทร อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช และแยกไปปากระวะ ซึ่งกรมชลประทานไปสร้างประตูสำหรับกันน้ำเค็มให้ นอกจากนี้ ยังมีคลองบ้านใหม่ คลองตะเครียะ คลองกก คลองโภคา ฯลฯ ซึ่งแต่ละคลองเป็นสายใยยื่นเข้าไปในทุ่งนา ราบเรียบ เวิ้งว้าง คลองกก เป็นคลองเก่าแก่โบราณอยู่ชายแดนจังหวัดพัทลุง อยู่ทางเหนือทะเลสาบสงขลา ตรงดิ่งไปจดอำเภอหัวไทร ขณะนี้ตื้นเขินมาก ถ้าได้ชลประทานเข้าช่วยก็จะเป็นประโยชน์แก่ชาวนาอย่างมาก โดยที่คลองกก เป็นสายใยไปทางทิศเหนือที่ติดต่อกับอำเภอหัวไทร สามารถจะรับน้ำจากคลองชะอวดได้ คลองชะอวด มีน้ำจืดไหลมาจากเทือกเขาบรรทัดตลอดปี หากมีการสำรวจขุดคลองใหม่ ก็สามารถนำน้ำแหล่งนี้มาใช้ในการทำนาในท้องที่อำเภอระโนดได้หลายหมื่นไร่ การจัดระบบน้ำเข้านาในท้องที่อำเภอระโนดก็อาจจะได้สองทางคือ แหล่งน้ำธรรมชาติในทะเลสาบสงขลา และคลองชะอวด
รายละเอียด และข้อเท็จจริงความเดือดร้อน ตลอดจนความแร้นแค้นฯลฯ พอจะได้จากนายอำเภอระโนด (คุณสิน สุวรรณ) และกรมชลประทาน และเพื่อที่จะให้การชลประทานเกิดขึ้นในท้องที่อำเภอระโนดในเร็ววัน กระผมใคร่ขอเสนอให้ท่านพิจารณาหลักการที่จะวางโครงการ และแผนงานในระยะสั้นต่อไป หรือทั้งนี้แล้วแต่ ฯพณฯ จะเห็นสมควรประการใด สุดแต่จะกรุณา กระผมจึงขอกราบเท้าวิงวอนขอได้โปรดกรุณาให้ ฯพณฯ นำเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาโดยรีบด่วน เพื่อจะได้ดำเนินการได้สำเร็จสมตามความมุ่งหมายในการทำนาปีละ 2 ครั้งสืบไป นโยบายของรัฐบาลก็จะบรรลุผลสมตามความปรารถนาไปส่วนหนึ่ง ที่นา 13 ตำบล 150,000 ไร่เศษก็จะเต็มไปด้วยนาข้าว คนจะมีงานทำ อาชญากรรมจะลดน้อยลง นอกจากการทำนาจะได้ผลอันสมบูรณ์ การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์จะติดตามมา การพัฒนาด้านอื่นๆ จะสำเร็จผล ผลพลอยได้ก็จะเกิดขึ้นต่อทุกฝ่ายนานาประการ แหล่งน้ำธรรมชาติอันเป็นทรัพยากรของประเทศก็จะเป็นประโยชน์แก่พลเมืองยิ่งขึ้น กระผมจึงขอกราบเท้าฝากความหวังไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย”