xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าจากชนชั้นใต้ถุนสังคม : ทำไมผมจึงเลือกเอียงข้างประชาชนคนด้อยโอกาส / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วันที่เดินทางไปรับข้อกล่าวหาขัดคำสั่ง คสช. (ภาพจากเฟซบุ๊ก จรูญ หยูทอง)
 
คอลัมน์  :  คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย

ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางสังคมระหว่างผู้มีอำนาจกับประชาชนชนชั้นใต้ถุนสังคม ผมมักจะออกมายืนข้างประชาชน จนหลายคนเคยถามว่า ทำไมผมจึงไม่เลือกยืนข้างผู้มีอำนาจ เหมือนผู้บริหารมหาวิทยาลัย หรือผู้บังคับบัญชา ผมตอบพวกเขาไปทันทีทันใดโดยไม่ต้องหยุดคิดว่า...
 
“เพราะผมเชื่อว่ามีคนเข้าข้างผู้มีอำนาจมากเกินพอแล้ว แต่ฝ่ายประชาชนอาจจะมีน้อย แม้แต่ประชาชนด้วยกันยังอยู่ตรงข้ามกับพี่น้องประชาชนชนชั้นเดียวกันเลย”

แต่ในความเป็นจริงผมมีเหตุผลลึกซึ้งกว่านั้นมากมาย

ประการแรก ผมเกิดเป็นลูกชาวนายากจนจากทุ่งระโนด แม้จะมีปู่เป็นอดีตผู้ใหญ่บ้าน แต่ก็ยังสังกัดชนชั้นใต้ถุนสังคมเหมือนบรรพชน พ่อผมต้องอพยพครอบครัวออกจากท่งระโนดตั้งแต่ผมยังเรียนชั้น ป.๓ ไปจับจองที่ดินรกร้างว่างเปล่าเขตป่าเสื่อมโทรมใน อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช และพ่อถูกรุมฆ่าอย่างป่าเถื่อนที่นั่นขณะผมเรียนปีที่ ๑ ที่ มศว ภาคใต้ โดยคดีพ่อเงียบหายไปกับข่าวลือว่า ผู้ต้องหาจ่ายเงินล้มคดี ผมและครอบครัวมีเพียงใบมรณบัตรของพ่อไว้ดูต่างหน้า

ประการที่สอง ผมมีประสบการณ์ของการถูกคุกคามจากอำนาจรัฐมาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน ไม่ว่าจะถูกตำรวจตระเวนชายแดน และเจ้าหน้าที่ป่าไม้สวมคอมแบ็ตเหยียบย่ำไปบนที่นอนของเราตอนตีสาม เพื่อบุกจับพ่อในข้อหาบุกรุกป่าเสื่อมโทรมเพื่อทำมาหากินให้รอดจากการอดตาย เพราะภัยจากนาล่ม ๓ ปีติดต่อกันในทุ่งระโนด เมื่อคราวโดนพายุพร้อมแหลมตะลมพุก เมื่อปี ๒๕๐๕ 

ประการที่สาม ผมมักจะต้องช่วยเหลือให้คำแนะนำชาวบ้านที่โดนรีดไถจากตำรวจบ้าง ถูกรังแกจากผู้มีอำนาจบ้าง จนต้องลงทะเบียนเรียนนิติศาสตร์ที่ มสธ.จนจบ น.บ. และเป็น “ทะแนะ” ให้แก่ชาวบ้านเรื่อยมา จนล่าสุด หลานชายของผมถูกฆ่าตายอย่างทารุณ และไม่สามารถจะเอาผู้บงการ และร่วมฆ่ามาลงโทษตามกฎหมายได้ ทะแนะอย่างผมก็ทำได้แค่ปลอบใจพ่อแม่พี่น้องของหลานให้ทำใจ เพราะไปร้องศูนย์ดำรงธรรมก็ไม่เป็นผล มิหนำซ้ำยังถูกข่มขู่จากผู้ที่เกี่ยวข้องอีกต่างหาก

ประการที่สี่ ประสบการณ์จากการเป็นนักกิจกรรมในมหาวิทยาลัย การเป็นนายกองค์การนิสิต การออกค่ายอาสาพัฒนาในชนบท การอ่านและการเขียนวรรณกรรมเพื่อชีวิต การได้ฟังบทเพลงเพื่อชีวิตตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาจนถึงปัจจุบัน ฯลฯ กิจกรรมเหล่านี้เป็นเบ้าหลอมบ่มเพาะให้ผมเป็นคนสนใจปัญหาบ้านเมือง โดยเฉพาะปัญหาของผู้เสียเปรียบชนชั้นเดียวกับผม และที่ด้อยกว่าผมจนปัจจุบันนี้

จากประสบการณ์อันเจ็บปวดมาตั้งแต่กำเนิด ผมจึงเข้าใจว่า “ชาวบ้าน” ชนชั้นใต้ถุนสังคมนั้น ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงคงไม่มีใครอยากเป็นคู่ขัดแย้ง หรือปฏิปักษ์ต่อรัฐ หรือผู้มีอำนาจ ผมจึงไม่ลังเลที่จะยืนข้างประชาชนคนด้อยโอกาส และเสียเปรียบทุกกรณี

ในวันที่มีความขัดแย้งเรื่องท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ผมจัดรายการวิทยุที่ ม.อ.เอฟเอ็ม ๘๘ และ อสมท สงขลา มีผู้ฟังที่สนับสนุน และคัดค้านโครงการนี้โทร.เข้าไปแสดงความคิดเห็น มีบางคนที่เคยสนับสนุนหันมาคัดค้าน สถานการณ์นี้ผมต้องบาดหมางกับเพื่อนสนิทมิตรสหายหลายคน โดยเฉพาะเพื่อนที่ไปรับงานประชาสัมพันธ์ของโครงการ และเกิดความขัดแย้งกับชาวบ้าน บางคนก็เขียนบทความโต้แย้งกับผม โดยผมเขียนบทความหลายชิ้นลงในมติชนรายวัน ส่วนเขาเขียนโต้ตอบในผู้จัดการรายวัน เช่น “ทำไมคนใต้จึงคัดค้านโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซ” “คนค้านท่อก๊าซ : อินเดียนที่ดีคือ อินเดียนที่ตายแล้ว” “มึงสร้าง-กูเผา” “ประชาพิจารณ์แบบปอฉ้อ” “สะหม้อ-เทือกเถาเหล่ากอของชาวจะนะ-สะกอม” เป็นต้น

ผมและเพื่อนอีกหลายคนถูกเพื่อนที่ทำงานประชาสัมพันธ์รายงานให้เจ้าของโครงการทราบว่า “เป็นผู้ทรงอิทธิพลในหมู่ชาวบ้าน”

นี่คือภูมิหลังอันสำคัญที่ทำให้ผมเลือกเอียงข้างประชาชน แม้ว่าจะต้องพบกับอุปสรรค สุ่มเสี่ยง อันตรายมากมาย แต่ผมก็มีความสุข เพราะไม่ต้องกังวลว่าจะขัดผลประโยชน์ใคร เนื่องเพราะชาวบ้านมีแต่ปัญหากับหัวใจที่หล่อเลี้ยงให้กันและกัน ท่ามกลางการต่อสู้กับอุปสรรคและขวากหนาม เพื่อก้าวข้ามสิ่งแปลกปลอมสู่ความสงบสุขของบ้านเกิดเมืองนอน

ยังไงๆ ผมก็อยากเป็น “อินเดียนที่ดี” อยู่วันยังค่ำครับ
 
(ภาพจากเฟซบุ๊ก จรูญ หยูทอง)
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น