คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
“เด็กชายสมนึก พงศ์ไพบูลย์” เกิดเมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๔๗๘ ที่บ้านปากบางตะเครียะ ตำบลตะเครียะ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ในครอบครัวชาวนาคนไทยเชื้อสายจีน เป็นบุตรคนสุดท้องจากพี่ๆ อีก ๖ คนของครอบครัวนายนายซ้วน-นางเพ็ง
“ถือกำเนิดจากดินพรุ น้ำนา ลมทุ่ง และไฟฟืน” เพราะชุมชนตะเครียะเกิดจากดินพรุตกตะกอนจนกลายเป็นแหล่งปลูกข้าว แหล่งอาหารสำคัญของทุ่งระโนด และเป็นแหล่งค้าข้าวสำคัญของลุ่มน้ำปากพนัง และลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา น้ำนาอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร และสัตว์น้ำ ทั้งในยามหน้าน้ำ และหน้าแล้งที่มี “ลูกคลัก” ให้หามาปรุงอาหารได้เกือบตลอดทุกฤดูกาล ส่วนลมทุ่งก็นำความรื่นรม เย็นสบายมาให้พร้อมกับการละเล่นพื้นบ้าน สันทนาการสำคัญของลูกชาวนาคือ การ “วางว่าว” กลางทุ่งนาหลังฤดูเก็บเกี่ยว ส่วนไม้ฟืนจากงวงตาล ไม้สังแก ไม้เสม็ด ฯลฯ จากพรุล้วนเป็นเชื้อเพลิงสำคัญในการหุงหาอาหารคาวหวาน ก่อนหมู่บ้านจะพบไฟฟ้าในยุคแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในทศวรรษ ๒๕๑๐
ซึ่งเด็กชายสมนึก เปลี่ยนชื่อเป็น “นายสุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์” และออกจากหมู่บ้านไปอยู่ยังต่างถิ่นเสียแล้ว
ชุมชนตะเครียะ ปัจจบันมีสถานภาพเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งตอนเหนือของทะเลสาบสงขลาตอนบน ต่อแดนกับตำบลควนชะลิก อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช และตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ประกอบด้วย บ้านปากบางตะเครียะ บ้านคลองโพธิ์ บ้านปากเหมือง บ้านสามอ่าง บ้านหนองลาน บ้านหนองถ้วย บ้านดอนแบกบ้านหัวป่า (ปัจจุบันอยู่ในท้องที่ตำบลบ้านขาว)
ก่อน พ.ศ.๒๕๒๐ ชุมชนตะเครียะเป็นท้องถิ่นทุรกันดาร ไกลปืนเที่ยง การคมนาคมติดต่อกับภายนอกไม่สะดวก อาศัยเรือพาย เรือแจว เรือถ่อ เรือใบ เรือหางยาว และเรือยนต์ กับการขี่ม้า และเดินเท้าเป็นหลัก หน้าน้ำน้ำท่วมนาน ๓ เดือน ดังคำกล่าวติดตลกที่ว่า “เดือนสิบเอ็ดน้ำนอง เดือนสิบสองน้ำท่อง เดือนอ้ายนั่งย่อง พุงป่องปากอยาก”
แต่ตะเครียะมีความอุดมสมบูรณ์ทั้งพืชพันธุ์ธัญญาหาร สัตว์น้ำจืด และตาลโตนด เนื่องจากเป็นดินแดนที่มีดินดำน้ำชุ่ม อันเกิดจากการทับถมของตะกอนจากฝั่งพัทลุง และวัชพืชในพรุทางเหนือของทะเลสาบ มีทุ่งนากว้างใหญ่ไพศาลต่อเนื่องถึงท้องที่อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช อยู่ติดทะเลสาบตอนบนอันอุดมไปด้วยพันธุ์สัตว์น้ำนานาชนิด มีหนอง คลอง มาบที่อุดมสมบูรณ์ด้วยปลาน้ำจืดนานาชนิด บนคันนา และริมรั้วบ้านมีทิวต้นตาลโตนดเรียงรายไปทั่ว
จนเป็นที่มาของชื่อ “อำเภอระโนด” หรือ “ราวโหนด” เป็นแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์จากน้ำตาลที่นำมาแปรรูปอย่างหลากหลาย ตั้งแต่น้ำผึ้งเหลว นำผึ้งแว่น น้ำส้ม น้ำตาลเมา (ตะหวาก/กะแช่) และเหล้ากลั่น โดยเฉพาะเหล้ากลั่นของชุมชนตะเครียะมีรสชาติเป็นที่ร่ำลือ และยอมรับของคอเหล้า คนนักเลงทั่วลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาว่า “ดีเหมือนเหล้าเครียะ” และน้ำตาลโหนด หรือ “น้ำผึ้งเหลว” เป็นสินค้าออกที่สำคัญของชุมชนตะเครียะมายาวนาน
นอกจากนั้น ตาลโตนด ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งใน “๓ เกลอหัวแข็ง” แห่งคาบสมุทรสทิงพระ เช่นเดียวกับข้าวและไม้ไผ่ เพราะเป็นพืชท้องถิ่นคู่ชีวิตของชาวคาบสมุทรสทิงพระที่นำมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่ปลายรากถึงปลายใบ โดยเฉพาะอาหารเลิศรสอันเป็นเอกลักษณ์ของคนทุ่งระโนดและทุ่งตะเครียะ คือ “ยำหัวโหนด” ความผูกพันของชาวตะเครียะ หรือชาวระโนดกับตาลโตนด ดังจะเห็นได้จากบทกลอนโนราหรือเพลงบอกที่ว่า “บ้านฉานไหม้ไหร มีแต่ไผกับโหนด อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา …”
เดิมชาวตะเครียะทำนาปีละครั้งตามฤดูกาล หรือ “นาหยาม” ส่วนใหญ่ทำนาดำ ปลูกพันธุ์ข้าวท้องถิ่นที่หลากหลาย ทั้งข้าวเบาและข้าวหนัก การไถนาใช้แรงงานคน และสัตว์เลี้ยง (วัว ควาย) เป็นหลัก มีความเชื่อเกี่ยวกับการแรกไถนา แรกเก็บเกี่ยว และความเชื่อเกี่ยวกับแม่โพสพ การทำขวัญข้าว การบำรุงรักษาใช้ปุ๋ยคอก เช่น มูลวัว มูลควาย มูลค้างคาว ที่ชาวบ้านเรียกว่า “มายา” เป็นหลัก ไม่ใช้ยาปรายศัตรูพืช ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการแก้ปัญหาวัชพืช และศัตรูพืชต่างๆ การเก็บเกี่ยวก็ใช้แกะเก็บทีละรวง เมื่อเต็มกำมือก็มัดด้วยต้นข้าวเป็นเลียง ตากจนแห้งแล้วนำไปเก็บบนเรือนข้าวเป็นลอมๆ ดูฐานะความเป็นอยู่กันที่ขนาดของลอมข้าว
หลัง พ.ศ.๒๕๒๐ มีโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาระโนด-กระแสสินธุ์ ของกรมชลประทานเป็นโครงการสูบน้ำจากทะเลสาบสงขลาให้ชาวบ้านในตำบลตะเครียะทำนาปรังในหน้าแล้ง เริ่มเปิดใช้งาน พ.ศ.๒๕๒๒ ชุมชนชาวตะเครียะหันมาทำนาปีละ ๒ ครั้ง วัตถุประสงค์ และกระบวนการในการทำนาเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง จากการใช้แรงงานคน และสัตว์ใช้งานมาเป็นเครื่องจักรกล รถไถเดินตาม หรือแทรกเตอร์ จากนาดำเป็นนาหว่าน
จากการใช้พันธุ์ข้าวพื้นเมืองมาเป็นพันธุ์ข้าวต่างถิ่น เช่น พันธุ์ชัยนาท จากการเก็บเกี่ยวด้วยแกะ มาเป็นเก็บเกี่ยวด้วยการว่าจ้างรถเกี่ยวข้าว เปลี่ยนจากการเก็บไว้บนลอมข้าวมาเป็นบรรจุกระสอบแล้วส่งขายสหกรณ์ หรือโรงสีเลย เปลี่ยนจากทำนาไว้กินและทำบุญมาทำนาเพื่อขายอย่างเดียว แล้วซื้อข้าวสารจากต่างถิ่นมาบริโภคแทน แรงงานที่เคยออกปากกินวานก็เปลี่ยนเป็นการจ้างเต็มรูปแบบ ความเชื่อเกี่ยวกับการแรกนา และแม่โพสพก็สูญหายไปจากทุ่งตะเครียะโดยสิ้นเชิง
เดิมชุมชนตะเครียะ อยู่ในความดูแลของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองจากอำเภอ และตำรวจที่มาตั้งกองดูแลความสงบเรียบร้อยในหมู่บ้าน ตระกูลกำนันที่สืบทอดอำนาจในการปกครองดูแลชุมชนตะเครียะมายาวนานหลายชั่วอายุคนคือ ตระกูล “แกล้วทนงค์” ซึ่งปัจจุบันลูกหลานตระกูลนี้ยกระดับมาเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (บางสมัย)
(อ่านต่อฉบับหน้า)