xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าจากลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา : กึ่งศตวรรษชมชนตะเครียะ ทะเลเปลี่ยนไป ชุมชนเปลี่ยนแปลง (๓) / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ขอบคุณภาพจากอินเทอร์เน็ต
 
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
 
เป็นที่สังเกตว่าในอดีต เจ้าของเครื่องจักรกล หรือเทคโนโลยีคนแรกๆ ส่วนใหญ่คือ ตระกูลผู้ถือครองที่ดินรายใหญ่ของชุมชน ได้แก่ ตระกูลศิรินุพงศ์ เจ้าของที่ดินส่วนใหญ่ในบ้านเสาธง และบ้านพราน และตระกูลแกล้วทนงค์ เจ้าของที่ดินรายใหญ่ในท้องที่บ้านตะเครียะ บ้านหนองถ้วย คนเหล่านี้ซื้อรถแทรกเตอร์มาใช้งานในที่นาของตนเอง เมื่อไถนาของตนเองเสร็จแล้ว และมีเวลาว่างก็รับจ้างไถที่นาให้คนอื่น ทั้งในชุมชนตะเครียะ ชุมชนใกล้เคียง และต่างจังหวัดถึงยะลา จังหวัดพัทลุงก็มี เช่น นายสุชล แกล้วทนงค์ อดีตกำนันตำบลตะเครียะ นายประเสริฐ แกล้วทนงค์ แรกๆ ก็ขับรถให้กำนัน ต่อมาซื้อรถเป็นของตนเอง ฯลฯ

ปี 2522 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาระโนด-กระแสสินธุ์ เริ่มเดินเครื่องสูบน้ำจากทะเลสาบสงขลาให้ชาวบ้านทำนาในช่วงหน้าแล้งเพื่อทำนาปรัง เป็นการทำนาปีละ 2 ครั้ง แต่ช่วงหลังๆ มีปัญหาเรื่องน้ำเค็ม เนื่องจากประสบภัยแล้ง และการขยายพื้นที่ทำนาของชาวบ้านเกินศักยภาพของทะเลสาบสงขลาจะรองรับได้ บางปีข้าวได้รับความเสียหาย อันเป็นที่มาของคำคร่ำครวญของชาวบ้านที่ว่า “ทำนาปรังมีแต่ซังกับหนี้ ทำนาปีมีแต่หนี้กับซัง”

กระบวนการผลิต และระบบความสัมพันธ์ของคนในชุมชนตะเครียะเปลี่ยนแปลงไปจนเกือบจะสิ้นเชิง เริ่มตั้งแต่การใช้เครื่องจักรกลแทนแรงงานคนและสัตว์ ทั้งการไถ การหว่าน การบำรุงรักษา การหว่านปุ๋ย การกำจัดศัตรูพืช การฉีดยาฆ่าหญ้า การเก็บเกี่ยว ใช้การจ้างแรงงานแทนแรงงานในครอบครัว หรือการออกปากกินวาน พันธุ์ข้าวพื้นเมืองหายไปจากชุมชน นำพันธุ์ข้าวจากต่างถิ่นมาแทน กระบวนการเก็บเกี่ยวเปลี่ยนไปจากการเก็บด้วยแกะ เก็บทีละรวง มัดเป็นเลียง เก็บเป็นลอมบนเรือนข้าว พิธีกรรม และความเชื่อเกี่ยวกับวัฒนธรรมชาวนา ตั้งแต่การแรกไถ แรกหว่าน แรกดำ แรกเก็บเกี่ยว การบูชาและทำขวัญเทพธิดาประจำต้นข้าวหรือแม่โพสพเปลี่ยนไปจนหมดสิ้น

ต้นทุนการผลิตข้าวของชุมชนตะเครียะประมาณไร่ละ 2,200 บาท ประกอบด้วยค่าเตรียมดิน ค่าเมล็ดพันธุ์ข้าว ค่าปุ๋ยเคมี ค่าจ้างหว่านข้าว หว่านปุ๋ย ค่าจ้างเก็บเกี่ยว ค่าขนส่ง ค่าน้ำมันสูบน้ำ ยังไม่รวมค่าเช่านา ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละประมาณ 625 กิโลกรัม รายได้เฉลี่ยไร่ละ 3,125 บาท (ถ้าข้าวราคากิโลกรัมละ 5 บาท) กำไรสุทธิประมาณไร่ละ 925 บาท ต้นทุนในการทำนาเหล่านี้ชาวนาส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาสถาบันทางการเงินในท้องถิ่น ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สหกรณ์การเกษตร เป็นต้น

ขนาดการถือครองที่ดินของเกษตรกรตำบลตะเครียะครัวเรือนละประมาณ 5-20 ไร่ ครัวเรือนที่มีที่ดินเป็นของตนเองไม่ต้องเช่าเพิ่ม 236 ครัวเรือน ครัวเรือนที่มีที่ดินเป็นของตนเอง แต่ต้องเช่าเพิ่ม 426 ครัวเรือน ครัวเรือนที่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเองเลย ต้องเช่าทั้งหมด 285 ครัวเรือน ส่วนใหญ่เช่าจากญาติพี่น้อง และเพื่อนบ้าน พื้นที่ทำการเกษตรเป็นของตนเองเฉลี่ย 18 ไร่/ครัวเรือน เช่าเฉลี่ย 20 ไร่/ครัวเรือน อัตราค่าเช่าจ่ายเป็นเงินสดประมาณไร่ละ 700 บาท แรงงานเพื่อการเกษตร 2,400 คน

ในยุคแรกๆ ตระกูลผู้ถือครองที่ดินรายใหญ่ในชุมชนตะเครียะ ประกอบด้วย ตระกูลศิรินุพงศ์ จับจองที่ดินบ้านชายพรุ หรือบ้านเสาธง และบ้านบ้านพราน ตระกูลแกล้วทนงค์ จับจองที่ดินบ้านหนองถ้วย และบ้านปากเหมืองนับพันไร่ ตระกูลศิวิโรจน์ จับจองที่ดินบ้านบ้านขาว และล่องลม ตระกูลชูมนต์ จับจองที่ดินบ้านคูวา ตระกูลพรรณราย จับจองที่ดินบ้านหัวป่า และตระกูลด้วงเหมือน จับจองที่ดินทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของบ้านคูวา ในยุคนั้นตระกูลเหล่านี้จึงมีฐานะดีกว่าตระกูลอื่นๆ และมีบทบาทนำทั้งในฐานะ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน เช่น ตระกูลแกล้วทนงค์ คือ กำนันนุ่ม แกล้วทนงค์ กำนันฉุ้น แกล้วทนงค์ กำนันเลื่อน แกล้วทนงค์ กำนันใจ แกล้วทนงค์ และ กำนันสุชล แกล้วทนงค์ ตระกูลศิรินุพงศ์ คือ ผู้ใหญ่บ้านจวน ศิรินุพงศ์ และตระกูลพรรณราย และสมัยต่อมา ตระกูลศิรินุพงศ์ ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาคือ นายสุรใจ ศิรินุพงศ์ ตระกูลแกล้วทนงค์ ได้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด คือ นายสวัสดิ์ แกล้วทนงค์ และเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารจังหวัดสงขลาหลายสมัยคือ ว่าที่ร้อยตรีไกรธนู แกล้วทนงค์ อีกทั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลตะเครียะคือ นายชายณรงค์ แกล้วทนงค์ เนื่องจากตระกูลเหล่านี้มีเครือข่ายทั้งนอก และในพื้นที่อย่างกว้างขวาง

รายได้ของครัวเรือนรับจ้างอย่างเดียว 28 ครัวเรือน เฉลี่ยครัวเรือนละ 72,000 บาท/ปี ค้าขายอย่างเดียว 37 ครัวเรือน เฉลี่ยครัวเรือนละ 180,000 บาท/ปี ทำการเกษตรอย่างเดียว 966 ครัวเรือน เฉลี่ยครัวเรือนละ 56,400 บาท/ปี รายได้เฉลี่ยของตำบล 62,135 บาท/ปี รายได้เฉลี่ยครัวเรือนละ 50,760 บาท/ปี แสดงให้เห็นว่า รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนค้าขาย และรับจ้างอย่างเดียวสูงกว่ารายได้เฉลี่ยของชุมชน และครัวเรือนที่ทำการเกษตรอย่างเดียว ดังนั้น ครัวเรือนชาวนาส่วนใหญ่จึงมักหารายได้จากการรับจ้าง ทั้งในชุมชนและนอกชุมชน และคนเหล่านี้มักจะมีบทบาทในการเมืองท้องถิ่นของชุมชน ตลอดจนเครือข่ายอุปถัมภ์อื่นๆ เมื่อชุมชนมีความต้องการความช่วยเหลือทางด้านวัตถุ และการเงิน เช่น ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า งานชุมนุมศิษย์เก่า และงานเพื่อการกุศลอื่นๆ

ภาวะหนี้สินของเกษตรกร เป็นหนี้ ธ.ก.ส. 592 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 62.5 ของครัวเรือนเกษตรกรรม หนี้สหกรณ์การเกษตรฯ 298 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 31.5 หนี้เพื่อนบ้าน/ญาติพี่น้อง และพ่อค้าโรงสี 57 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 6 เฉลี่ยหนี้ 50,000 บาท/ครัวเรือน
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น