xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าจากลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา : กึ่งศตวรรษของ “ทุ่งตะเครียะ” ทะเลเปลี่ยนไป คนเปลี่ยนแปลง (๑) / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
 
คอลัมน์  :  คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์บอกเล่า และหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า วัดวารีปาโมกข์ หรือวัดเครียะล่าง หรือวัดปากบางตะเครียะ อันเป็นวัดของชุมชนแรกเริ่มของชาวตะเครียะ ปรากฏในตำราแผนที่ภาพสมุดข่อยชื่อแผนที่เมืองนครศรีธรรมราช เล่มที่ 3 ซึ่งเชื่อกันว่า เขียนขึ้นในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ พ.ศ.2158 แต่สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ สรุปไว้ว่า  แผนที่นี้เขียนขึ้นระหว่าง พ.ศ.2223-2241 (สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ และชัยวุฒิ พิยะกูล.2542 : 7188) นอกจากนั้น พบหลักฐานจากตำราพระเพลาวัดเขียนบางแก้ว สมัยกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2242 ว่า ตะเครียะอยู่ในเขตท้องที่เก้าระวาง  ขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตะเครียะ อยู่ในเขตการปกครองของอำเภออุดร จังหวัดพัทลุง จนถึง พ.ศ.2467 เมื่อกิ่งอำเภอระโนดได้ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอระโนด มีการโอนตำบลคลองแดนและตำบลบ้านใหม่ ซึ่งเดิมอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอเขาพังไกร จังหวัดนครศรีธรรมราช และโอนตำบลตะเครียะของอำเภออุดร มาขึ้นกับอำเภอระโนด และขึ้นต่อจังหวัดสงขลา (สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์.2539 :1-2)
 
จากเอกสารหลักฐานดังกล่าวข้างต้น จึงสันนิษฐานได้ว่า บรรพบุรุษของชาวตะเครียะมีการตั้งถิ่นฐานในชุมชนแห่งนี้มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ศตวรรษ
 
“ดีเหมือนเหล้าเครียะ” เป็นสำนวนคุ้นหูของคนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลามานานนับศตวรรษ ยุคนั้นคนคาบสมุทรสทิงพระและละแวกใกล้เคียงรู้จักชุมชนตะเครียะผ่านเสียงร่ำลือถึงความทุรกันดารของชุมชนไกลปืนเที่ยง ที่ตั้งอยู่เขตรอยต่อของ 3จังหวัดคือ สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช นอกจากนั้น ที่นี่ยังเป็นดินแดนของคนนักเลง ผู้ทรงอิทธิพล โดยเฉพาะยุค “ท่านขุนฯ” กำนันผู้มากบารมีที่มีทายาทสืบทอดอำนาจการเป็นกำนัน และนักการเมืองท้องถิ่นมาหลายชั่วอายุคน คนตะเครียะถูกมองว่าเป็นคนแข็งกระด้าง ดื้อ และดุเหมือนดีกรีเหล้าเครียะที่จุดไฟติด (สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์.2539 : 1)
 
เนื่องจากชุมชนตะเครียะ และบริเวณใกล้เคียงเคยเป็นพรุกว้าง เชื่อมระหว่างทะเลสาบสงขลาตอนบน กับทะเลน้อย ไปจนถึงพรุควนเคร็งของอำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีตะกอนดิน และวัชพืชเน่าเปื่อยทับถมต่อเนื่องกันมานับร้อยปี ทำให้เกิดที่ลุ่ม ที่ดอน บึง หนอง คลอง มาบ จนกลายเป็นอู่ข้าวอู่น้ำและน้ำตาลโตนดที่อุดมสมบูรณ์ และสำคัญยิ่ง (สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์.2539: 2) แต่ก็ประสบปัญหาน้ำท่วม และภัยแล้งแบบซ้ำซากตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
 
ช่วง พ.ศ.2484-2488 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นบุกจังหวัดสงขลา เพื่อยึดรถไฟที่ชุมทางหาดใหญ่ เดินทางไปรบกับอังกฤษที่ประเทศมาเลเซีย และพม่า ชุมชนตะเครียะเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงสงคราม และหลังสงคราม ขาดแคลนเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม น้ำมันก๊าด ไม้ขีดไฟ ยารักษาโรค อาหาร และสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต และช่วงนี้ช้างแคระ ช้างแกลบ หรือช้างค่อม ที่มีอย่างชุกชุมในทุ่งตะเครียะถูกชาวบ้านล่าด้วยปืน “รางแดง” ที่ตกค้างจากกองทัพญี่ปุ่นไปอยู่ในมือชาวบ้านในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา นำมาปล้นกันเอง และฆ่าช้างเอาเนื้อมาบริโภค
 
ช่วงทศวรรษ 2500 มีการค้าขายทางเรือรอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เชื่อมต่อระหว่างฝั่งตะวันตกกับฝั่งตะวันออก และรอบๆ ทะเลสาบสงขลา โดยมีเส้นทางและท่าเรือหลัก ได้แก่ ชุมชนทะเลน้อย ชุมชนลำปำ ชุมชนแหลมจองถนน ชุมชนปากพะยูน ชุมชนปากคลอง ชุมชนตะเครียะ ชุมชนระโนด ชุมชนเกาะใหญ่ ชุมชนคูขุด และชุมชนบ่อยาง (สงขลา)  สินค้าสำคัญคือ ข้าวจากทุ่งตะเครียะและทุ่งระโนด ตะเครียะมีตลาดนัดค้าข้าวของกำนันฉุ้น แกล้วทนงค์ มีเรือบรรทุกข้าวจากตะเครียะไปขายที่โรงสีทั้งที่ระโนด และสงขลาหรือบ่อยาง นอกจากนั้น ก็มีสินค้าน้ำตาลโตนดจากคาบสมุทรสทิงพระ  กระเบื้องดินเผาจากเกาะยอ และเครื่องปั้นดินเผาจากสทิงหม้อ
 
ดังคำกล่าวคล้องจองที่รู้จักกันดีในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาว่า “ทิ้งทำหม้อ เกาะยอทำอ่าง หัวเขาดักโพงพาง บ่อยางทำเคย บ่อเตยสานสาด” 
 
พ.ศ.2475 เป็นต้นมา มีการขุดคลอง ขุดลอกคลองสายต่างๆ ในชุมชนตะเครียะ เช่น คลองตะเครียะ คลองโพธิ์ คลองศาลาธรรม์ คลองหนองถ้วย คลองบ้านขาว คลองบ้านพราน ฯลฯ ตัดถนนเชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้านโดยกำนันตระกูลแกล้วทนงค์ทุกคน เช่น ถนนสายปากบางตะเครียะ-ปากเหมือง ตะเครียะ-หนองถ้วย หัวป่า-บ้านขาว-คูวา บ้านขาว-บ้านพราน เป็นต้น
 
ทศวรรษ 2510 เกิดวาตภัยแหลมตะลุมพุก ผลกระทบต่อชุมชนตะเครียะคือ เกิดน้ำท่วมใหญ่ไปทั่วพื้นที่ มีวาตภัยทำความเสียหายให้แก่บ้านเรือนที่อยู่อาศัย ข้าวกล้า วัวควายจมน้ำเสียหาย เกิดการอพยพของชาวตะเครียะไปหาที่ทำมาหากินแหล่งใหม่ทั่วภาคใต้ โดยเฉพาะเขตนิคมสร้างตนเองทั่วภาคใต้ และเขตพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมในพื้นที่จังหวัดกระบี่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และชุมพร
 
พ.ศ.2510 มีโครงการชลประทานขนาดใหญ่ที่สำคัญ 1 โครงการ มีพื้นที่ชลประทานรวม 212,000 ไร่ เอื้อประโยชน์ต่อครัวเรือนในพื้นที่ จำนวน 4,700 ครัวเรือน ได้แก่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาระโนด-กระแสสินธุ์ ซึ่งเป็นโครงการสูบน้ำจากทะเลสาบสงขลาส่งเข้าคลองส่งน้ำเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเพาะปลูก พื้นที่รับประโยชน์ของโครงการในบริเวณอำเภอระโนดรวมทั้งสิ้น 152,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่รวม 2 จังหวัดคือ จังหวัดสงขลา พื้นที่จำนวน 149,000 ไร่ และจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 3,000 ไร่ ส่วนพื้นที่อำเภอกระแสสินธุ์มีพื้นที่รับประโยชน์ 60,000 ไร่ (เลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ และคณะ. 2548 : 118)
 
โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาระโนด-กระแสสินธุ์ ตั้งอยู่ที่ 178 บ้านหัวป่า หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านขาว อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ในสังกัดของสำนักงานชลประทานที่ 16 กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีหน้าที่ และความรับผิดชอบในการวางแผนควบคุมและดำเนินการส่งน้ำและบำรุงรักษาในเขตพื้นที่ของโครงการฯ กรมชลประทานอนุมัติให้เปิดโครงการชลประทานสูบน้ำจากทะเลสาบสงขลาเข้าคลองส่งน้ำเพื่อช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกเมื่อ ปี พ.ศ.2510 การดำเนินการในระยะแรกครอบคลุมพื้นที่ 60,000 ไร่ ใช้เวลา 12 ปี (2510-2522) การดำเนินการแล้วเสร็จและเปิดใช้งานในปี 2522 งบประมาณค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 114 ล้านบาท พื้นที่รับประโยชน์ของโครงการฯ รวมทั้งสิ้น 152,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัดคือ จังหวัดสงขลา และจังหวัดนครศรีธรรมราช โครงการนี้เปิดเดินเครื่องสูบน้ำครั้งแรกในปี 2522 ทำให้ชาวตะเครียะและละแวกใกล้เคียงทำนาปีละ 2 ครั้ง
 
(อ่านต่อฉบับหน้า)
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น