xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าจากคาบสมุทรมลายู : อันเนื่องมาแต่รางวัล “สันติประชาธรรม” / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ขอบคุณภาพจากมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป
 
คอลัมน์  :  คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีต่อคนใต้  ๓  คน ที่ได้รับรางวัลสำคัญระดับชาติพร้อมๆ กัน คือ  ๑) ศ.สุธิวงศ์  พงศ์ไพบูลย์  ได้รับรางวัล “ชูเกียรติ  อุททกพันธ์”  ๒) นายบรรจง  นะแส  และ ๓) นายสนั่น  ชูสกุล  ได้รับรางวัล “สันติประชาธรรม” จากมูลนิธิอาจารย์ป๋วย  อึ๊งภากรณ์
 
“นายป๋วย  อึ๊งภากรณ์  เป็นผู้มีอุปการคุณแก่มูลนิธิโกมลคีมทอง และสถาบัน  ตลอดจนตัวบุคคลอื่นๆ มากหลาย…ท่านได้บำเพ็ญประโยชน์แก่ประเทศชาติ และมนุษยชาติเป็นส่วนรวม  ด้วยแบบอย่างการดำเนินชีวิตอันเป็นสัมมาปฏิบัติ และเอื้ออาทร  ด้วยความสัตย์ซื่อนุ่มนวลอย่างมีความกล้าหาญทางจริยธรรม  ชนิดที่รู้เท่าทันสังคมควบคู่กันไปด้วย  บุคคลเช่นนี้นับได้ว่าเป็นบุรุษอาชาไนยที่หาได้ยากในโลก  หากท่านต้องการจะกอบโกยเพื่อตัวเอง  แม้โดยชอบธรรมก็ย่อมจะทำได้  ไม่แต่ในทางทรัพย์ศฤงคารเท่านั้น  หากรวมถึงเกียรติยศ  ชื่อเสียงนานาประการ  แต่นี่ท่านคิดถึงแต่ส่วนรวม และห่วงผู้อื่น  โดยเฉพาะอนุชน  เกือบตลอดเวลา แม้การรับเกียรติยศก็ดูท่านจะรับเพื่อปรับเอามาเป็นสะพานเพื่อเชื่อมการบำเพ็ญประโยชน์ให้กว้างไกลออกไปเท่านั้น  เช่น การรับรางวัลแมกไซไซ ที่ฟิลิปปินส์  การรับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ที่สิงคโปร์ และการเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของแอล.เอส.อี.ที่ลอนดอน และของสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ที่กรุงเทพฯ  เป็นต้น ทั้งๆ ที่เกียรติเหล่านี้ยากที่คนไทยคนใดจะได้รับ  แต่เกียรตินั้นๆ ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมโดยแท้แล้ว  ท่านจะรีบปฏิเสธโดยทันที  ดังที่ท่านไม่ยอมรับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เป็นต้น  ทั้งๆ ที่ท่านรักธรรมศาสตร์เพียงใด และรักคณะเศรษฐศาสตร์เพียงใด ก็ย่อมเป็นที่ทราบกันอยู่แล้ว
 
ก่อนวันที่  ๖  ตุลาคม  ๒๕๑๙  คุณป๋วย เป็นผู้ที่มีบทบาทมากทั้งภายใน และภายนอกประเทศ แม้จะถูกเขม่น  ถูกสาดโคลน…ก็ตามที  ทั้งนี้ ก็เพราะถ้าท่านจำกัดตัวเองอยู่เพียงแวดวงทางวิชาการ หรือทางด้านการเป็นนักบริหารผู้ซื่อสัตย์  โดยปล่อยให้ชะตากรรมทางสังคมเป็นไปตามใจปรารถนาของผู้ที่กุมอำนาจทางการเมือง  การทหาร และทางการเศรษฐกิจ  โดยทำเป็นทองไม่รู้ร้อน  หรือรู้แต่มองดูอย่างตาปริบๆ ตามแบบแผนของคนไทยทั้งหลายที่เป็นใหญ่เป็นโต  มีหน้าที่ตกอยู่ในลำดับสูงๆ  ท่านก็คงไม่โดนชะตากรรมอันเลวร้าย  ดังที่ลูกศิษย์ลูกหาและคนคราวลูกคราวหลานที่มีชื่อเสียงเกียรติคุณเช่นท่านต้องเผชิญกันมาเป็นแถวๆ  แม้ท่านจะไม่ถูกประหารชีวิต หรือถูกจองจำทำทรมาน  แต่ก็เกือบไป  และพวกที่ไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลงใดๆ ในทางสังคมได้พยายามประหารเกียรติยศชื่อเสียงของท่านมาเกือบจะโดยตลอด  ตั้งแต่ก่อน  ๖  ตุลาคม  ๒๕๑๙  แล้วด้วยซ้ำ  แต่ท่านก็สู้มากับพวกพาลชนเหล่านี้โดยวิถีทางของพุทธิบัณฑิต  ทั้งๆ ที่ท่านไม่เคยประกาศตนว่า เป็นคนถือพุทธ หรือนับถือศาสนาใด  ดังคนรักชาติ  ศาสนา  พระมหากษัตริย์ทั้งหลายที่ถือสากยิ่งกว่าถือศีลเหล่านั้น  กล่าวคือ  ท่านพยายามเอาชนะความชั่วด้วยความดี  เอาชนะความเท็จด้วยความจริง  เอาชนะความกักขฬะหยาบช้าด้วยความสุภาพ
 
แม้เหตุการณ์  ๖  ตุลาคม  ๒๕๑๙  นั้น  เป็นอันทำให้ท่านจำต้องไปพำนักอยู่ต่างประเทศ  แต่ท่านก็พยายามทำหน้าที่ของท่านเพื่อประเทศชาติบ้านเมือง และเพื่อประชาราษฎร  ผู้รักชีวิต  เสรีภาพ  ความสงบ และความชอบธรรม  เท่าที่สติปัญญา และกำลังความสามารถของท่านจะมี  ท่านรับเขียน  รับพูด  รับหาเงินช่วยผู้ตกทุกข์ได้ยาก  โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยากส่วนตัวเองเลย  ท่านเดินทางไปแทบทุกประเทศ และแทบทุกแห่งที่เชื้อเชิญให้ท่านไป  ทุกแห่งที่ท่านไปท่านทำงานหนักมาก  บางแห่งพูดจนแทบไม่มีเวลาพัก  นอกจากจะพูดในที่สาธารณะแล้ว ยังให้สัมภาษณ์  ยังมีเวลาพบปะกับศิษย์ และมิตรสหายอีกเล่า  ไปแทบตลอดยุโรป  ในอังกฤษเองก็ไปหลายเมือง  ที่สหรัฐฯ ก็ไปหลายหน  รวมทั้งไปปรากฏตัวในรัฐสภาด้วย  ทั้งยังไปจนถึงออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์  ถ้าไม่เจ็บเสียก่อน ก็ยังจะไปญี่ปุ่นอีกประเทศหนึ่ง และเมื่อมาเจ็บลงนั้นได้กำหนดไปสหรัฐฯ และแคนาดาอีกด้วย
 
…แม้คนไทยส่วนใหญ่จะรู้จักคุณป๋วย และมีข้อเขียนเกี่ยวกับท่านอยู่มาก ทั้งโดยนัยลบและนัยบวก  แต่ที่จะรู้จักท่านอย่างจริงๆ จังๆ เห็นจะยาก  แม้ที่ท่านเขียนเกี่ยวกับตัวเองท่านก็มักไม่มองมาที่ตัวตน และผลงานของตนเองเท่าไรนัก  จึงต้องอาศัยเกียรติประวัติจากมูลนิธิแมกไซไซ  ซึ่งรวบรวมไว้ค่อนข้างสมบูรณ์  ตอนที่ท่านได้รับรางวัลนั้น…(สุลักษณ์  ศิวรักษ์. ๒๕๒๓ : คำนำ)
 
นายป๋วย  อึ๊งภากรณ์  เกิดเมื่อวันที่  ๙  มีนาคม  ๒๔๕๙  ที่บ้านในตลาดน้อยย่านธุรกิจของกรุงเทพฯ  เป็นบุตรคนที่  ๔  ของครอบครัว ซึ่งมีลูกชาย  ๕  คน  ลูกสาว  ๒  คน  บิดาชื่อ นายซา  อึ๊งภากรณ์  อพยพมาจากเมืองจีน และมีอาชีพเป็นพ่อค้าขายส่งปลา  บิดาถึงแก่กรรมเมื่อนายป๋วย มีอายุเพียง  ๑๐  ปี  ภาระในการเลี้ยงดูลูกๆ จึงตกอยู่กับ นางเซาะเช็ง ผู้เป็นมารดา  ซึ่งเป็นคนจีนเกิดในไทย  มารดามีความตั้งใจให้ลูกได้รับการศึกษาดีทุกคน  แม้ว่าตัวเองจะยากลำบากแค่ไหนก็ตาม
 
นายป๋วย เข้ารับการศึกษาระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาแผนกภาษาฝรั่งเศส  ที่โรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก  วิชาที่ได้คะแนนดีเยี่ยมเป็นพิเศษคือ  ภาษาฝรั่งเศส และคณิตศาสตร์  สำเร็จการศึกษาเมื่อปี ๒๔๗๕  ทางโรงเรียนรับไว้เป็นครูสอนทันที  ได้เงินเดือนๆ ละ  ๔๐  บาท  และรับผิดชอบครอบครัวแทนมารดาเมื่ออายุ  ๑๗  ปี  ปีนั้นมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นในกรุงเทพฯ  นายป๋วย ลงทะเบียนเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองขณะที่ยังเป็นครู  โดยใช้เวลาในตอนค่ำ และวันสุดสัปดาห์เป็นวันศึกษาอย่างหมั่นเพียร  จนสำเร็จปริญญาตรีทางกฎหมายและการเมือง ในปี  ๒๔๘๐  หลังจากนั้นก็ลาออกจากการเป็นครู และทำงานเป็นล่ามให้แก่อาจารย์ชาวฝรั่งเศส ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นเวลาประมาณ  ๘  เดือน
 
ปี  ๒๔๘๑  สอบเข้าแข่งขันชิงทุนรัฐบาลไปศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์และการคลัง  และมารดาถึงแก่กรรมในปีเดียวกัน  นายป๋วย เลือกศึกษาที่ลอนดอนสกูลออฟอีโคโนมิคส์  ในมหาวิทยาลัยลอนดอน  และสำเร็จปริญญาตรีทางเศรษฐศาสตร์ในปี ๒๔๘๔  และได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง  ได้รับทุนลีเวอร์ฮูล์มได้ศึกษาต่อระดับปริญญาเอกได้เลย  โดยไม่ต้องผ่านระดับปริญญาโท  แต่การศึกษาต้องหยุดลงชั่วคราวเพราะเกิดสงครามโลก  และประเทศไทยประกาศเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น  นายป๋วย ได้ร่วมกับเพื่อนๆ จัดตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้นในอังกฤษเมื่อเดือนสิงหาคม  ๒๔๘๕  นายป๋วย มีชื่อรหัสว่า “นายเข้ม”
 
ปี ๒๔๘๖  เดือนกันยายน  นายป๋วย ได้รับเลือกเป็นหนึ่งในสามของอาสาสมัครไทยกลุ่มแรกที่จะถูกส่งขึ้นฝั่งไทยจากเรือดำน้ำ  โดยมีอุปกรณ์สื่อสารทางวิทยุพร้อมเพื่อหาทางติดตั้งการติดต่อทางวิทยุกับกองบัญชาการของอังกฤษในอินเดีย  สำหรับใช้การติดต่องานด้านข่าวกรอง
 
(ต่อฉบับหน้า)
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น