คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
ย้อนหลังไปเมื่อประมาณกว่ากึ่งศตวรรษที่ผ่านมา คนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาฝั่งตะวันออกและฝั่งเหนือ หรือบริเวณทุ่งระโนด-กระแสสินธุ์ ตรงรอยต่อสามจังหวัดคือ สงขลา-นครศรีธรรมราช-พัทลุง แถวตำบลตะเครียะ ตำบลบ้านขาว อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ตำบลควนชะลิก อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช และตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ต่างค้นหูกับสำนวนคล้องจองดังกล่าวข้างต้น
“หนังหัวป่า” หมายถึง คณะนายหนังตะลุงที่มีภูมิลำเนาเกิดอยู่ในบ้านหัวป่า ตำบลตะเครียะ (ปัจจุบันอยู่ในท้องที่ตำบลบ้านขาว หมู่ที่ ๑ และหมู่ที่ ๖) ซึ่งไม่ค่อยมีคณะนายหนังตะลุงที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของคนดูหนังตะลุง เท่าที่ผู้เขียนจำได้ในช่วงเวลาย้อนหลังไปประมาณกว่ากึ่งศตวรรษ มีแต่ “หนังริม คงจันทร์” หลานลุงแต้ม ต่อมา ไปมีครอบครัวตั้งบ้านเรือนทำมาหากินอยู่ในท้องที่บ้านตะเครียะ ปัจจุบันถึงแก่กรรมแล้ว และ “หนังสุยิน เสียงแก้ว” ทายาทของเพลงบอก ย่อง สุดเสงี่ยม เพื่อนรุ่นพี่ของผู้เขียนที่เริ่มหัดหนังตะลุงตั้งแต่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ โดยปลูกโรงหัดหนังตะลุงอยู่ในวัดหัวป่า และต่อมา ไปมีครอบครัวอยู่ที่จังหวัดพัทลุง และแสดงหนังตะลุงจนเป็นที่ยอมรับของวงการหนังตะลุงอยู่บ้าง แต่ก็ไม่โด่งดังเหมือนนายหนังคณะอื่นๆ ในยุคเดียวกัน
“โนราเล” หมายถึง โนราบ้านทะเลน้อย ตำบลทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง ส่วนใหญ่เป็นโนรารำแบบโบราณ รำตามแบบแผน โนราลงครู หรือโรงครู ไม่มีดนตรีสากลประกอบการแสดง ไม่มีการร้องเพลง และแสดงละคร มีแต่การร่ายรำ และทำบทตามขนบนิยม จึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมของคนหนุ่มสาวในยุคนั้น แต่โนราเลบางคณะก็ได้รับการยกย่องในระดับชาติในช่วงหลัง บางท่านได้เป็นศิลปินแห่งชาติ เช่น โนราพุ่มเทวา หรือขุนอุปถัมภ์นรากร โนรายก ชูบัว เป็นต้น
“ลิเกบ้านบน” หมายถึง ลิเกคณะแก้วราหู หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “แก้วเข้” เพราะหน้าตาของหัวหน้าคณะคล้ายจระเข้ เช่นเดียวกับนายยอดทองรูปตลกของนายหนังตะลุง ลิเกคณะนี้มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านบน ตำบลบ้านใหม่ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เป็นลิเกคณะเดียวในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา (ไม่นับลิเกป่าบ้านคูขุด อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา) ที่นิยมเล่นในงานเทศกาลเทศน์มหาชาติ โดยหัวหน้าคณะคือ ลุงแก้วเข้ แต่งตัวเป็นชูชก จูงเด็กผู้หญิง และผู้ชายที่แต่งเป็นกัณหา ชาลี เดินเฆี่ยนเด็กทั้งสองไปท่ามกลางชาวบ้านเผื่อว่าใครสงสารกัณหา ชาลี ก็ให้ควักเงินมาให้ชูชกเพื่อนำไปบูชากัณฑ์เทศน์ ลิเกคณะนี้จึงไม่มีการแสดงเป็นเรื่องเป็นราวแบบลิเกภาคกลางที่สร้างบรรยากาศแม่ยก หรือบ้าหัวจุกลิเก เพราะรูปร่างหน้าตาของหัวหน้าคณะไม่เอื้อให้ทำแบบนั้นได้
“คนหลาธรรม์” หมายถึง ชาวบ้านบ้านศาลาธรรม์ หรือที่ชาวทุ่งระโนดเรียกว่า “บ้านหลาธรรม์” ซึ่งมีวัดร้างสลับกับมีพระมาจำพรรษาบ้างในบางพรรษา เพราะสมัยก่อนมีชาวบ้านในท้องที่ตำบลตะเครียะ มาอาศัยตั้งบ้านเรือนไม่กี่หลังคาเรือน แต่ว่าวัดนี้ปรากฏอยู่ในเอกสารแผนที่กัลปนาวัดตั้งแต่สมัยอยุธยา มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำวัดคือ “ทวดเจียม” ซึ่งเชื่อกันว่า เป็นคหบดีผู้สร้างวัด และเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน ในช่วงที่ชลประทานทุ่งระโนดเข้ามาบุกเบิกเส้นทาง เพื่อลำเลียงเครื่องจักรและอุปกรณ์เข้าไปจัดสร้างหัวงานโครงการ ต้องบุกเบิกเส้นทางผ่านสระทวดเจียม มีคนเอาปลาจากสระไปกิน และมีเสียงเล่าลือกันว่า มีบางคนอาเจียนออกมาเป็นเลือด คนอื่นๆ จึงต้องเอาปลากลับมาปล่อยลงสระทวดเจียมเหมือนเดิม นอกจากนั้น ยังมีคนเชื่อว่ากรณีที่ นายเปรม ชูเกลี้ยง ชาวบ้านขาวที่มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งชลประทานทุ่งระโนด แต่ประสบอุบัติเหตุถูกรถยนต์ชนเสียชีวิตเพราะเหตุนี้ด้วยเช่นกัน (แต่ในความเป็นจริงตอนที่นายเปรม ประสบอุบัติเหตุ กรมชลประทานยังไม่เริ่มโครงการในพื้นที่เลย)
ปัจจุบัน แม้ว่าหนังหัวป่าจะยังไม่มีหนังคณะใดโด่งดังเป็นที่รู้จักทั่วไปแบบหนังคณะอื่นๆ ในยุคที่ผ่านมา แต่โนราเลอย่างน้อย ๒ คนที่มีชื่อเสียงได้รับการยกย่องในระดับชาติ คือ โนราพุ่มเทวา และ โนรายก ชูบัว ส่วนลิเกบ้านบน ก็ยังได้รับการสืบทอดจากลูกหลาน ยังขึ้นป้ายคณะรับงานอยู่จนปัจจุบัน บ้านศาลาธรรม์ มีวัดที่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เจริญรุ่งเรือง มีรั้วรอบขอบชิดสวยงามทัดเทียมกับวัดบ้านใหม่ วัดวารีปาโมกข์ (ปากบางตะเครียะ) วัดหัวป่า วัดแกล้วทรงธรรม (วัดหนองถ้วย) และวัดบ้านขาว และชาวบ้านศาลาธรรม์ก็มีครัวเรือนหนาแน่นเหมือนชมชนใกล้เคียง
“หนังหัวป่า โนราเล ลิเกบ้านบน คนหลาธรรม์” เป็นสำนวนคล้องจองที่สะท้อนว่า นายหนังจากบ้านหัวป่า หัวหน้าคณะโนราจากบ้านทะเลน้อย และคณะลิเกจากบ้านบน ไม่ค่อยมีชื่อเสียงเป็นที่นิยมของชาวบ้าน อย่างดีจะมีคนดูก็ประมาณจำนวนคนบ้านศาลาธรรม์ ที่ในขณะนั้นมีน้อยจนพระไม่อาจจะจำพรรษา หรืออยู่ประจำวัดได้ เพราะบิณฑบาตได้ไม่พอฉันในแต่ละวัน ประกอบกับเส้นทางคมนาคมในสมัยนั้นไม่สะดวกสบายเหมือนในสมัยนี้