xs
xsm
sm
md
lg

ระบบราชการ : “เกลียดคนที่ชาวบ้านรัก รักคนที่ชาวบ้านเกลียด” / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
ระบบราชการ (bureaucratic model) ตามแนวคิดของ แมกซ์เวเบอร์ นักสังคมวิทยาชาวเยอรมัน ผู้นำเสนอรูปแบบองค์การซึ่งเขาเชื่อว่าจะเป็นแนวทางที่ทรงประสิทธิภาพสูงสุดที่จะทำให้องค์การบรรลุเป้าหมาย  เป็นรูปแบบองค์การที่ใช้เหตุผล (logic)  และประสิทธิภาพ (efficient)  โดยมีอำนาจหน้าที่ตามระเบียบ (order)  และตามกฎหมาย (legitimate  authority)  มีลักษณะสำคัญอยู่  6  ประการคือ
 
1.มีสายบังคับบัญชาเป็นลำดับตามหน้าที่ เป็นรูปพีระมิด  ผู้บังคับบัญชาที่อยู่สูงกว่าจะควบคุมผู้อยู่ในบังคับบัญชาที่ต่ำกว่า  2.การแบ่งงานกันทำตามความถนัด และความสามารถ  3.ความไม่เป็นส่วนตัว  มีส่วนลักษณะเป็นทางการไม่ใช่ส่วนตัว  4.มีกฎระเบียบ และวิธีปฏิบัติอย่างเป็นทางการ  เสมอภาค และเท่าเทียม  5.ความก้าวหน้าในงานอาชีพตามหลักคุณภาพ อาศัยความรู้ความสามารถในการทำหน้าที่ และเติบโตในตำแหน่งหน้าที่ตามความรู้ความสามารถ  6.การแบ่งแยกทั้งเรื่องส่วนตัว และทรัพย์สินของบุคคลออกจากองค์การ
 
ประเทศไทยนำระบบราชการตามแบบชาติตะวันตกมาใช้ในการบริหารประเทศตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5  โดยการปฏิรูปการปกครองเมื่อ พ.ศ.2435  นำรูปแบบการปกครองแบบกระทรวงทบวงกรมมาใช้  ต่อมา เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองอีกครั้งใหญ่ พ.ศ.2475  และเมื่อมีระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน  แบ่งการปกครอง หรือระบบราชการออกเป็น  3  ส่วนคือ
 
การปกครองส่วนกลาง  ประกอบด้วย  กระทรวง  ทบวง  กรม  กอง  แผนก
 
การปกครองส่วนภูมิภาค  ประกอบด้วย  จังหวัด  อำเภอ  ตำบล และหมู่บ้าน
 
การปกครองส่วนท้องถิ่น  ประกอบด้วย  สุขาภิบาล  เทศบาล  ต่อมา มีกรุงเทพมหานคร  เมืองพัทยา  ปัจจุบัน มีองค์การบริหารส่วนจังหวัด  และองค์การบริหารส่วนตำบล
 
ระบบราชการไทยมีโครงสร้างการปกครองส่วนกลาง และการปกครองส่วนภูมิภาค เป็นโครงสร้างหลักในรอบร้อยกว่าปีที่ผ่านมา  เป็นโครงสร้างที่ไม่มีส่วนยึดโยงกับประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย  นอกจากผู้บริหารระดับกระทรวง หรือรัฐมนตรีที่บางส่วนมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยอ้อม (ไม่ได้เลือกมาเป็นนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีโดยตรง)  ถือว่าประสบความล้มเหลว เพราะไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น และไม่เป็นไปตามหลักการของระบบราชการตามหลักสากล  อีกทั้งเป็นบ่อเกิดของการทุจริตคอร์รัปชัน  ระบบสอพลอ  เล่นพรรคเล่นพวก  ระบบเส้นสาย  การวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่งในทุกระดับทุกวงการ  ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค
 
ส่วนการปกครองส่วนท้องถิ่น ยังถูกมองว่าเต็มไปด้วยผู้แสวงหาผลประโยชน์  ทุจริตคอร์รัปชัน  ทำมาหากินกับงบประมาณที่มาจากเงินภาษีของประชาชน  แม้ว่าผู้บริหาร และฝ่ายตรวจสอบ หรือนิติบัญญัติจะมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน แต่ก็เป็นการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ และเที่ยงธรรม  โดยเฉพาะมีการซื้อสิทธิขายเสียง และต่อรองผลประโยชน์นานาประการ
 
ระบบราชการไทยโดยภาพรวมจึงไม่สามารถจะสร้างศรัทธาในหมู่ประชาชนทั่วไปได้  แม้ว่าประชาชนส่วนใหญ่จะนิยมชมชอบให้บุตรหลานรับราชการ แต่ไม่ใช่เพราะศรัทธาในอาชีพนี้ ในฐานะที่จะสร้างเกียรติภูมิแก่วงศ์ตระกูล  เพียงแต่เห็นว่าเป็นอาชีพที่มีความมั่นคง และมีสวัสดิการเอื้อต่อพ่อแม่ และทายาทผู้สืบสันดาน
 
ปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นภาคใต้ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีโครงการขนาดใหญ่แบบท่าเรือน้ำลึก  โรงไฟฟ้าถ่านหิน  การสัมปทานเขาคูหา  และการค้ามนุษย์ที่กำลังอยู่ในความสนใจของชาวไทย และชาวโลก ล้วนสะท้อนให้เห็นความล้มเหลว และชั่วร้ายของระบบราชการไทย  ดังนี้
 
ประการแรก  คนในระบบราชการทั้งส่วนกลาง  ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น  ไม่ทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของท้องถิ่น และของคนส่วนใหญ่  ดังจะเห็นได้จากโครงการขนาดใหญ่ที่เอื้อต่อนายทุน แต่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนส่วนใหญ่ ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว อย่างโครงการท่าเรือน้ำลึก  โรงไฟฟ้าถ่านหิน และการสัมปทานเขาคูหา  ข้าราชการทุกระดับต่างให้การสนับสนุนโดยไม่ฟังเสียงคัดค้านของประชาชน  และมีท่าทีเฉยเมย  มิหนำซ้ำบางครั้งถึงกับข่มขู่คุกคามประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวก็มี
 
ประการที่สอง  ข้าราชการส่วนท้องถิ่น และส่วนภูมิภาคเรียกรับผลประโยชน์  และเป็นพวกเดียวกันกับผู้กระทำผิดกฎหมายบ้านเมือง  ธุรกิจผิดกฎหมายส่วนใหญ่ล้วนมีข้าราชการเกือบทุกสังกัดที่เกี่ยวข้องต่อการควบคุม และดูแลเรื่องนั้นๆ
 
ประการที่สาม   มาตรการที่ทางราชการมีต่อการกระทำความผิดอย่างร้ายแรงของข้าราชการเหล่านี้คือ  การย้ายเข้าส่วนกลาง  ภาค หรือจังหวัด  รอให้เรื่องเงียบลงก่อนแล้วค่อยกลับมาทำหน้าที่เหมือนเดิม
 
ดังนั้น  ในการปฏิรูปประเทศครั้งนี้  คนสงขลาที่เข้าร่วมในเวทีระดับอำเภอ และจังหวัด  จึงมีข้อเสนอที่รุนแรง และเด็ดขาดต่อข้าราชการ  เช่น  ให้คดีทุจริตคอร์รัปชันไม่มีอายุความ  ให้เอาผิดผู้ทุจริตคอร์รัปชันไปถึงโคตรเหง้าวงศ์ตระกูล  ให้ข้าราชการแสดงบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สินเหมือนนักการเมือง  และให้มีโทษสูงสุดคือ ประหารชีวิต  เป็นต้น
ภาพจากอินเทอร์เน็ต
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น