xs
xsm
sm
md
lg

การเปลี่ยนแปลงคตินิยมของชุมชน (2) / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
ปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นต่อวัด และชุมชนบางแห่งในพื้นที่ สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนเปลี่ยนคตินิยมดั้งเดิม  อันมีผลต่อวิถีคิด  มุมมอง และการให้ความหมายของระบบคุณค่าในสังคมปัจจุบันได้เป็นอย่างดี  ด้วยฐานคิดที่ยึดระบบเงินตรา  ความผูกพันบนผลประโยชน์มากกว่าคุณธรรม  ความดี  ทำให้พระในฐานะเจ้าอาวาสที่เคยเป็นศูนย์รวมจิตใจ  เป็นที่ยึดมั่นศรัทธาของชาวบ้านระดับเป็นเกจิอาจารย์  กลายเป็นคู่ขัดแย้ง ถูกกล่าวหาว่าเบียดบังเงินวัดที่ได้จากการทอดกฐินบ้าง การมีผู้มารับบูชาพระเครื่องบ้าง  จากการบริจาคของชาวบ้านบ้าง  ความขัดแย้งดังกล่าวนับวันจะขยายวงออกไปจนถึงขั้นฟ้องร้อง  ดำเนินคดี  โดยเจ้าอาวาสฟ้องชาวบ้านว่าบุกรุกเขตอภัยทาน  และชาวบ้านร้องเรียนว่า พระเจ้าอาวาสทุจริตเงินวัดไปสร้างบ้าน  กล่าวหากันไปมา  บางวัดชาวบ้านไม่ทำบุญตักบาตรพระผู้เป็นเจ้าอาวาส  และเจ้าอาวาสให้ลูกเมียมาหุงหาอาหาร  จนถูกว่ากล่าวตักเตือนจากเจ้าคณะตำบล และเจ้าคณะอำเภอว่า  อย่าให้ลูกเมียมายุ่มย่ามในวัด  ชาวบ้านในหมู่บ้านไม่ร่วมสังฆกรรมกับเจ้าอาวาสรูปนี้มานานแล้ว  เริ่มตั้งแต่ไม่ยอมทำบุญตักบาตรวันสารทในวัด  ลงทุนไปเช่าเต็นท์มากางนอกวัดเพื่อทำพิธีทางศาสนาในวันสารท  ปัจจุบันนี้วัดแห่งนี้บางปีไม่มีการทอดผ้าป่า หรือทอดกฐินมานานแล้ว  เพราะชาวบ้านไม่เอาด้วย  แม้จะมีกฐินจากภายนอกมาทอดชาวบ้านก็เข้าร่วมไม่ถึง  10  คน  ได้เงินทอดกฐินไม่ถึง  40,000  บาท  ขณะที่ชาวบ้าน และโรงเรียนทอดผ้าป่าได้เงินเป็นแสนๆ
 
บางวัดเกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มบุคคลที่สูญเสียผลประโยชน์จากการบริหารจัดการของเจ้าอาวาส  และเรื่องการแต่งตั้งกรรมการวัด และไวยาวัจกร  เงินฝังลูกนิมิต  ส่วนเจ้าอาวาสอ้างว่า ที่ชาวบ้านไม่พอใจ และหาเรื่องกล่าวหาใส่ร้ายป้ายสีต่างๆ  นานา  เพราะเจ้าอาวาสชอบตำหนิคนจัดงานประจำปีในวัดที่ไม่รับผิดชอบ  ปล่อยให้มีการเล่นการพนันในวัด  ไม่เก็บขยะ  แสวงหาประโยชน์  เล่นการพนัน และกินเหล้าในวัด ซึ่งเป็นการกระทำผิดกฎหมาย
 
ปัจจุบัน คู่ขัดแย้งระหว่างพระกับชาวบ้านต่างมีมุมมองสวนทางกัน  กล่าวคือ  พระมองว่าชาวบ้านปัจจุบันนี้ไม่เหมือนชาวบ้านในอดีต  การที่เจ้าอาวาสในอดีตเป็นที่เชื่อถือศรัทธาของชาวบ้าน  เพราะชาวบ้านในอดีตให้เกียรติพระ  ศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา  เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม  ชอบทำบุญบริจาคทาน  สร้างบุญกุศลส่งเสริมศาสนา  ในขณะที่ชาวบ้านในปัจจุบันกลับทำตรงกันข้าม  คิดเอาแต่ได้  แสวงหาประโยชน์เอากับวัด  ส่วนชาวบ้านซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งกับพระก็มองว่า  การที่พวกเขาขัดแย้งกับเจ้าอาวาส  เพราะเจ้าอาวาสเดี๋ยวนี้ไม่เหมือนเจ้าอาวาสสมัยก่อน  เหมือนกันคือ ทำตัวไม่เหมาะสม  ไม่น่าเชื่อถือศรัทธา  ทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสมต่อสมณเพศ  เป็นต้น
 
ในส่วนของการต่อรองระหว่างชาวบ้านกับอำนาจรัฐ และนักการเมือง  ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ  มีความซับซ้อน  หลากหลายขึ้นมาก  โดยชาวบ้านเรียนรู้ที่จะมีการรวมกลุ่มในรูปแบบต่างๆ ทั้งในระบบ และนอกระบบ  เพื่อให้มีพลังในการต่อรองเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากรัฐ และการเมืองแนวใหม่  เช่น  ชมรมผู้ใช้น้ำที่ก่อตั้งขึ้นมาร่วมกับชลประทานทุ่งระโนด ในการบริหารจัดการน้ำทั้งในเรื่องการสูบน้ำเข้าที่นา และการเปิดปิดประตูระบายน้ำปากระวะ  กองทุนหมู่บ้านบ้านปากบาง  บ้านหนองถ้วย  บ้านปากเหมือง  บ้านคลองโพธิ์ ที่มีบทบาทในการออมเงินเพื่อเป็นทุนในการประกอบอาชีพ  กลุ่มวิสาหกิจชุมชน  เช่น  กลุ่มสุราตะเครียะ และกลุ่มเหล้าเครียะ  กลุ่มสัจจะวันละบาท อันเป็นกลุ่มจัดสวัสดิการสำหรับสมาชิกในชุมชน  เป็นต้น  ชาวบ้านมีความรู้  ความกล้าที่จะต่อรองต่ออำนาจรัฐมากขึ้น  กล้าที่จะวิพากษ์วิจารณ์ หรือบอกว่านายอำเภอ หรือเจ้าหน้าที่รัฐคนไหนเป็นอย่างไร  ทำหน้าที่ดีหรือไม่ดี  โดยเฉพาะบทบาทในการแก้ปัญหาปากท้องของชาวบ้าน
 
ทัศนคติที่มีต่อนายยังคงติดลบเหมือนเดิม  โดยเฉพาะ “นาย” ในความหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ  ในสังคมที่กำลังประสบปัญหาอาชญากรรม  ปัญหายาเสพติด  ชาวบ้านส่วนใหญ่ต่างมีความเห็นว่า ปัญหาเหล่านี้แก้ไม่ได้เพราะ “นายมีส่วนเกี่ยวข้อง  พัวพันต่อขบวนการเหล่านี้”
 
สถานการณ์โดยภาพรวมในชุมชนตะเครียะวันนี้คือ ชุมชนขาดจิตสำนึกสาธารณะ  ยึดโยงกันด้วยผลประโยชน์ในระบบมูลค่าเป็นสำคัญมากกว่าระบบคุณค่า  แม้ว่าจะมีบางกลุ่มพยายามจะสร้าง  เช่น  การร่วมกันสร้างรูปเหมือน “เปรม  ชูเกลี้ยง”  วีรบุรุษเกษตรกร (สามัญชนคนบ้านขาวผู้ริเริ่มผลักดันให้เกิดโครงการชลประทานทุ่งระโนด หรือโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาระโนด-กระแสสินธุ์ แต่มาประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์เสียชีวิตที่กรุงเทพมหานคร ก่อนที่โครงการดังกล่าวจะทันได้ดำเนินการสูบน้ำให้ชาวนาทุ่งระโนดตามที่เรียกร้อง) ประดิษฐานไว้ที่หน้าโรงสูบน้ำของโครงการ และส่งมอบให้อยู่ในความรับผิดชอบของโครงการ  อีกทั้งร่วมกันจัดงานรำลึกครบรอบวันเสียชีวิตของผู้มีคุณูปการต่อชาวนาทุ่งระโนดเป็นประจำทุกปีในวันที่  18  เมษายน  วันคล้ายวันที่นายเปรม  ชูเกลี้ยง เสียชีวิต  รวมทั้งการร่วมกันจัดตั้งกองทุน “เปรม  ชูเกลี้ยง” และจะดำเนินการจดทะเบียนเป็นมูลนิธิเพื่อช่วยเหลือชาวนาต่อไป  แต่กิจกรรมดังกล่าวก็ยังรับรู้กันในวงแคบๆ เฉพาะในส่วนของญาติสนิทมิตรสหาย และผู้มองเห็นการสร้างคุณประโยชน์ของนายเปรม  ชูเกลี้ยง  เท่านั้น
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น