คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
จากการศึกษาของยงยุทธ ชูแว่น (2529 : 119) ศึกษาวิเคราะห์วรรณกรรมสมัยใหม่ในงานวิจัยเรื่อง “การเคลื่อนเปลี่ยนของคตินิยมในบริเวณสามจังหวัดรอบทะเลสบสงขลา พ.ศ.2504-2529 : ศึกษาจากวรรณกรรม” พบว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจ (และสังคม) แห่งชาติก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของชุมชนสามจังหวัดรอบทะเลสาบสงขลาอย่างรวดเร็วและผิดสัดส่วน ชาวบ้านขัดแย้ง และสับสนในวิถีชีวิต เกิดช่องว่างทางความคิดและทัศนคติระหว่างคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ความสัมพันธ์ในครอบครัวเริ่มเสื่อมถอย
การศึกษาเน้นให้รับรู้วิทยาการโลกสมัยใหม่ ทำให้ประสบการณ์ของคนรุ่นเก่าหมดความสำคัญ อุดมการณ์ในการศึกษาก็เพื่อประกอบอาชีพรับราชการ ค่านิยมความเป็นคนนักเลงเน้นการรักพวกรักพ้อง เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ และรักษาคำพูดอย่างเคร่งครัด คลี่คลายไปในทางที่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ระบบเงินตราทำให้ชาวบ้านต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของผลผลิต ผู้นำชุมชนซึ่งเคยเป็นที่ศรัทธา เพราะเป็นผู้ให้การพึ่งพิง คอยคุ้มครองความปลอดภัย และรักษาผลประโยชน์ของชุมชน กลายเป็นผู้ที่สร้างอิทธิพลเพื่อตนเอง หรือญาติพี่น้องเท่านั้น มีการสร้างสมบารมีเพื่อข่มขู่คู่แข่งขันทางธุรกิจ หรือปกป้องผู้ที่ทำประโยชน์ให้ตน (อ้างถึงในพิเชฐ แสงทอง.2545 : 16-17)
โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาระโนด-กระแสสินธุ์ ของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตและระบบความสัมพันธ์แบบดั้งเดิมของชาวนาทุ่งระโนด จากการผลิตแบบยังชีพ ทำนาเอาข้าวไว้กิน ทำบุญและแบ่งปันกันในยามขาดแคลน มาทำนาเพื่อขาย จากทำนาตามฤดูกาลปีละครั้ง หรือนาปี มาทำนาปี และนาปรัง โดยอาศัยการสูบน้ำจากทะเลสาบสงขลาในหน้าแล้ง ที่มักจะเกิดความขัดแย้งระหว่างชาวนาด้วยกันที่มีพื้นที่นาอยู่ใกล้และไกลชลประทานไม่เหมือนกัน ทำนาไม่พร้อมกัน เกิดการแย่งน้ำกันบ้าง นาที่อยู่ใกล้คลองส่งน้ำชลประทานไม่ยอมปล่อยน้ำให้นาที่อยู่ไกลบ้าง
อีกทั้งเกิดความขัดแย้งระหว่างชลประทานกับชาวนา กรณีที่น้ำเค็มเกินกำหนด ชลประทานจะไม่สูบน้ำให้ชาวนา แต่ชาวนากลับต่อรองโดยผ่านการชุมนุมเรียกร้องภายใต้การนำของนักการเมืองท้องถิ่นให้ชลประทานสูบน้ำให้ แม้จะรู้ว่าเสี่ยงต่อการสูญเปล่าก็ตามที และความขัดแย้งที่มีมานานนับตั้งแต่มีปัญหาเรื่องน้ำเค็มรุกล้ำทะเลสาบสงขลาก็คือ การพยายามลดพื้นที่ทำนาปรังของชาวบ้านที่ชลประทานยังไม่สามารถทำให้ชาวบ้านตอบสนองนโยบายนี้ของรัฐบาลได้ เพราะชาวบ้านอ้างว่า ถ้าไม่ทำนาก็ไม่รู้จะไปทำอะไรกิน นอกจากไปเป็นโจร
ถนนสายสงขลา-ระโนด-หัวไทร เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในการคมนาคมติดต่อกับชุมชนอื่นของชาวตะเครียะ จากการใช้เรือยนต์ เรือหางยาว มาใช้รถใช้ถนนแทน ทำให้ความเจริญตามวิสัยทัศน์ของสังคมสมัยใหม่หลั่งไหลเข้ามาในชุมชนในหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานพาหนะ เครื่องจักรกล ฯลฯ เกิดอาชีพ และการบริการแบบใหม่มากมาย ชาวบ้านใช้ถนนสายนี้เพื่อการติดต่อ คมนาคม และใช้ต่อรองกับรัฐบาลในยามที่ราคาผลผลิตจากนาข้าวและนากุ้งตกต่ำ โดยการประท้วงปิดถนนสายนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า โดยการนำของนักการเมืองท้องถิ่นระดับสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และตัวแทนเกษตรกรที่จัดตั้งขึ้นมาเป็นการเฉพาะกิจ เพื่อการต่อรองกับตัวแทนของรัฐบาลโดยเฉพาะ
โรงเรียนขยายโอกาสและโรงเรียนมัธยมประจำตำบล ทำให้ลูกหลานของชาวบ้านมีทางเลือก และโอกาสในการศึกษาต่อในระดับสูงกว่าภาคบังคับมากขึ้น หลายคนประสบความสำเร็จมีงานทำทั้งงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประกอบธุรกิจส่วนตัว แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้กลับมาอยู่ในหมู่บ้าน เพียงกลับมาเยี่ยมบ้านในช่วงเทศกาลสงกรานต์บ้าง ช่วงเทศกาลวันสารทเดือนสิบบ้าง หรือไม่ก็กลับมาช่วยวัด ช่วยโรงเรียน เมื่อมีการทอดผ้าป่า หรือทอดกฐิน คนเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการนำความรู้ ประสบการณ์ และสิ่งใหม่ๆ เข้ามาในหมู่บ้าน
องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด อันเป็นการเมืองท้องถิ่นสมัยใหม่ที่ใกล้ชิดกับชาวบ้าน นำรูปแบบการหาเสียง การเลือกตั้ง และวัฒนธรรมทางการเมืองแบบใหม่มาสู่หมู่บ้าน โดยเฉพาะการซื้อสิทธิขายเสียง การต่อรองระหว่างผู้มีสิทธิเลือกตั้ง กับผู้สมัครรับเลือกตั้งในช่วงการเลือกตั้งว่า นอกจากเงินที่ต้องจ่ายรายหัวในอัตราที่มากกว่าคู่แข่งแล้ว หลังการเลือกตั้งถ้าได้รับเลือกตั้งจะมีโครงการดีๆ ที่มีประโยชน์ต่อชาวบ้านในเขตเลือกตั้งอย่างไรบ้าง
การต่อรองทำนองนี้จะมีความเข้มข้น และราคาต่อรองที่แตกต่างกันไป ระหว่างการเลือกตั้งระดับชาติคือ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ราคาต่อรองจะไม่สูงนัก แต่ถ้าเป็นการเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล นายกองค์การบริหารส่วนตำบล และการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน ราคาต่อรองจะสูงที่สุด เนื่องจากดีกรีการแข่งขันจะสูงมาก
“ถนนพระ-ประชาทำ” สายหัวป่า-ไสกลิ้ง อันเป็นเส้นทางสายประวัติศาสตร์เชื่อมคาบสมุทรสทิงพระ กับฝั่งอันดามัน และฝั่งอ่าวไทย เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจของพระครู 2 รูปเจ้าอาวาสวัดจาก อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา และเจ้าอาวาสวัดป่าลิไลยก์ ตำบลลำปำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง (มรณภาพแล้ว) กับชาวบ้านในอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา และชาวอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง
ถนนสายนี้สะท้อนถึงพลังของชาวบ้านที่พึ่งตนเองเป็นหลักในการสร้างถนน เพราะไม่ได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากทางราชการ และนักการเมืองที่พวกเขาสนับสนุนมาตลอด มิหนำซ้ำยังถูกขัดขวางต่างๆ นานา กว่าจะประสบความสำเร็จและสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชน และประเทศชาติ ทั้งในด้านการคมนาคมขนส่ง และการท่องเที่ยว