xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองวัฒนธรรมของคนใต้ / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

การหาเสียงเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
 
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
งานศึกษาเชิงมานุษยวิทยาเกี่ยวกับการเมืองเลือกตั้งในภาคใต้ของ มาร์ค  แอสคิว (Marc  Askew) ชี้ให้เห็นว่า  ชีวิต และการตัดสินใจทางการเมืองของคนใต้ ไม่สามารถอธิบายผ่านบุคลิกภาพของคนใต้ในลักษณะ “ความเป็นคนใต้” ได้ เพราะแม้ “ความเป็นคนใต้” จะก่อตัวขึ้นภายใต้เงื่อนไขเฉพาะของนิเวศวิทยา และประวัติศาสตร์  แต่สาเหตุที่ “ความเป็นคนใต้” กลายเป็นความจริงทางสังคมขึ้นมาก็เพราะได้รับการตอกย้ำจากนักวิชาการท้องถิ่นด้านคติชนวิทยา  และถูกขยายความโดยพรรคประชาธิปัตย์  ซึ่งชู “ความเป็นคนใต้” ในทางการเมือง
 
พรรคประชาธิปัตย์ ชูภาพคนใต้ที่แตกต่างจากภาคอื่นในแง่มีความกระตือรือร้นทางการเมือง  ชื่นชอบนักการเมืองที่มีคุณธรรม และต่อต้านอำนาจรัฐที่ฉ้อฉล  เสนอตัวว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็น “พรรคคนใต้” ผ่านสโลแกนว่า “พรรคของเรา  คนของเรา” หรือ “คนที่เรารัก  พรรคที่เราชอบ”  มีหัวหน้าพรรคที่ซื่อสัตย์ และต่อต้านอำนาจรัฐที่อยุติธรรมมาอย่างต่อเนื่อง  เพราะมักเป็นฝายค้านในสภา
 
แอสคิว   เสนอว่า  การที่คนใต้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์มาตั้งแต่ปี  2530  (ปีที่นายชวน  หลีกภัย  นักการเมืองขวัญใจชาวใต้ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  และชูนโยบายในการหาเสียง “เลือกประชาธิปัตย์ยกทีม  ยกภาค  สนับสนุนนายชวน  หลีกภัย  คนใต้เป็นนายกรัฐมนตรี”) ไม่ได้เป็นแต่เพียงผลพวงจากกลยุทธ์ทางการเมืองที่อิงแอบกับ “ความเป็นคนใต้” หากทว่าเพราะพวกเขาต้องการสร้างตัวตน และชุมชนทางการเมืองในอุดมคติของพวกเขาด้วย
 
คนใต้เห็นว่าการสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์คือ การสร้างให้เห็นว่าพวกเขาได้กระทำในสิ่งที่ถูกต้อง และเป็นประโยชน์ต่อระบบการเมือง  คือ การไม่ขายเสียง และต่อต้านการทจริตและตรวจสอบรัฐบาล
 
การศึกษาการเมืองเลือกตั้งในภาคใต้ส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญต่อความสำเร็จของกลวิธีทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์  แต่ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงตัวตน และการสร้างตัวตนทางการเมืองในลักษณะอื่นของคนใต้ที่แตกต่าง หรือตรงกันข้ามจากคนใต้ทั่วไป  เพราะคนใต้จำนวนหนึ่งไม่ได้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์  เนื่องจากพวกเขามองว่าเป็นพรรคการเมืองที่ไม่เคยแก้ปัญหา หรือสร้างประโยชน์เชิงรูปธรรมให้แก่คนใต้ในพื้นที่  พวกเขาเห็นว่าประชาธิปัตย์ “แหลงหรอย” หรือเชี่ยวชาญในการใช้โวหาร  แต่ไม่มีความสามารถในการบริหารประเทศ  พวกเขาเหล่านี้จึงเลือกพรรคการเมืองอื่นที่ไม่ใช่ประชาธิปัตย์มาโดยตลอด (อนุสรณ์  อุณโณ.  มหาประชาชน. 25-31  มีนาคม 2554.)
 
ตัวตนของคนใต้ หรือ “ความเป็นคนใต้” ตามความเห็นของนักวิชาการด้านคติชนวิทยาที่กล่าวถึงกันคือ  “พูดตอบโต้ฉาดฉาน  ตรงไปตรงมา  โผงผางแบบขวานผ่าซาก  ไม่ถนอมน้ำใจ หรือรักษามารยาทในการพูดกับคู่สนทนา  ไม่ยอมรับอะไรง่ายๆ  ชอบแสดงตัวว่าเป็นคนกว้างขวาง  หน้าใหญ่มือเติบ (สำนวนคนพัทลุงว่า “ทำหมาดอใหญ่”)  กล้าได้กล้าเสีย  รักพวกพ้อง  ทำตัวเป็นหัวเรือใหญ่หรือคนนักเลง  รักสนุก  ผูกพันกับตัวบุคคล  รักและผูกพันกับถิ่นเกิด…” (ชวน  เพชรแก้ว.  2534 : 103)
 
คนใต้ในอดีตถูกมองว่า “เป็นคนหัวหมอ” หรือ “บังคับยาก” (หัวเมืองในลุ่มทะเลสาบสงขลาคือ นครศรีธรรมราช  สงขลา และพัทลุง ถูกเรียกว่า “หัวเมืองบังคับยาก” ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น)  มีคตินิยมดั้งเดิมเป็นคนนักเลง  มีความเลื่อมใสในศาสนาพุทธ และศาสนาอิสลาม  เชื่อถือไสยศาสตร์  เคร่งครัดในจารีตทางเพศ  หยิ่งในศักดิ์ศรี  ประพฤติตนเป็นคนหน้าใหญ่ใจเติบ (ยอมฉิบหายขายนาเพื่อรักษาหน้าในการจัดงานต่างๆ  โดยเฉพาะงานศพ  งานแต่งงาน)  เป็นคนกว้างขวาง  พูดจาไม่มีหางเสียง  ห้วนๆ  รักใครรักจริง  เกลียดใครเกลียดจริง  ทันคน  ฯลฯ
 
คนใต้ชอบพึ่งตนเอง  ไม่เชื่อมั่นในระบบราชการว่าจะช่วยเหลือประชาชนได้จริง  ดังจะเห็นได้จากสำนวน  คำพังเพยของคนใต้ตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบันที่ว่า
 
“นายรักเหมือเสือกอด  หนีนายรอดเหมือนเสือหา”
 
“ไม่รบนายไม่หายจน”
 
“กินขี้หมา ดีหวาค้าความ”
 
กระบวนการกล่อมเกลาทางการเมืองอันเป็นรากเหง้า หรือภูมิหลังของคนใต้ทางการเมือง  ได้แก่  สถาบันครอบครัว  สถาบันศาสนา  ฯลฯ
 
สถาบันครอบครัว  กล่อมเกลาทัศนคติ  ค่านิยม และพฤติกรรมทางการเมืองผ่านเพลงกล่อมเด็ก  หรือเพลงร้องเรือ  หรือเพลงชาน้อง  เช่น
 
“โผกเปลเหอ
โผกไว้ใต้ต้นอวด
ได้ผัวเป็นตำรวจ
ไม่พักทำไอ้ไหร                  
ตีสร้อยให้น้องแขวน
ตีแหวนให้น้องใส
ไม่พักทำไอ้ไหร
โผกเปลเวช้าน้องเหอ”
 
หรือ
 
“นกขุ้มเหอ
หางหลุ้นตีนเทียน
เทียมได้ผัวเหมียน
นั่งเขียนแต่แล็บ
ผักบุ้งชายคลอง
ไม่ต้องไปแก็บ
นั่งเขียนแต่แล็บ
กินของกำนัลผัว”
 
สถาบันศาสนา  จากการศึกษาของสุธิวงศ์  พงศ์ไพบูลย์ (2523  :  1-7) เกี่ยวกับลักษณะทั่วไปของการนับถือศาสนาพุทธของพุทธศาสนิกชน และบทบาทของสถาบันศาสนาแถบลุ่มทะเลสาบสงขลาฝั่งตะวันออก พบว่า  พุทธศาสนามีอิทธิพลต่อชาวใต้อย่างลึกซึ้ง และเหนียวแน่น  ค่านิยมพื้นฐานของชาวใต้ส่วนใหญ่มีขึ้นเนื่องมาแต่ลักษณะของสังคมเกษตรกรรมพุทธศาสนา (พุทธเกษตร)  วัฒนธรรมทางพุทธศาสนาเป็นยอดของความรู้ และความเห็น เพราะมีวัฒนธรรมทางทัศนวิชา  มีอรรถธรรมประกอบด้วย อรรถรส และเหตุผลตามระบอบประชาธิปไตย.
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น