xs
xsm
sm
md
lg

“ถ้าคนใต้ไม่น่าคบ” แล้วคนภาคไหนน่าคบบ้าง? / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ :  คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
จากบทความ “ ‘พวก’ของคนใต้กับ ปชป.” ในมติชนรายวัน  ฉบับวันที่  ๑๖  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๘  หน้า  ๒๐  กล่าวถึงอัตลักษณ์ของคนใต้ที่คนใต้สร้างขึ้นมาเองว่า  คนใต้เป็นคน  “พูดจาโผงผาง  ตรงไปตรงมา  ฯลฯ”  แต่ในขณะเดียวกัน อัตลักษณ์คนใต้ที่คนกรุงเทพฯ สร้างให้คือ  “ไม่น่าคบ เพราะชอบเอารัดเอาเปรียบ  ไม่จริงใจ  ที่สำคัญอย่างหนึ่งซึ่งได้ยินมาจนถึงทุกวันนี้คือ คนใต้ไม่เอาใครทั้งนั้น นอกจากคนใต้ด้วยกัน”
 
ข้อสรุปของนิธิ  ออกจะสวนทางต่อความคิดความเห็นของนักวิชาการทางคติชนวิทยาหลายท่าน ทั้งที่เป็นคนใต้ และไม่ใช่คนใต้  ที่สำคัญนิธิ มักจะมีอคติต่อคนใต้อย่างเห็นชัดเจนในช่วงหลังๆ  โดยเฉพาะหลังเกิดความขัดแย้งทางการเมืองของคนต่างสีในปรากฏการณ์ทักษิณ
 
ชวน  เพชรแก้ว (๒๕๓๔ : ๑๐๑-๑๐๘)  มีความเห็นว่า  ชาวภาคใต้มีการผสมผสานทางวัฒนธรรมกับดินแดนต่างๆ มีการปรับ และหลอมรวมจากหลายส่วน จนเกิดเป็นนิสัย และบุคลิกภาพเฉพาะกลุ่มที่ไม่เหมือนใคร และที่มีลักษณะร่วมกับกลุ่มอื่นๆ ก็มีไม่น้อย  ในหนังสือ “ชีวิวัฒน์” ของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ  เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์  กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช (๒๔๒๗)  เรียกชาวใต้ว่า “ชาวนอก”  มีสำเนียงภาษา  นิสัย  บุคลิกลักษณะอากัปกิริยา และมารยาทแบบ  “…พูดภาษาไทยก็เป็นเสียงชาวนอก แลมักมีกิริยาขึงขังแข็ง…ท่าทางเป็นคนเรียนน้อย  หงิมๆ และเป็นคนมีกิริยาโบราณ  แลกิริยาป่าๆ…”
 
นี่คือภาพของคนใต้ในสายตาของคนเมืองหลวงเมื่อร้อยปีเศษมาแล้ว  เมื่ออำนาจหัวเมืองที่เคยเป็นอิสระต่อส่วนกลางอ่อนแอลง ก็มีผลให้วิถีชีวิตของคนใต้ถูกมองว่าต่ำระดับห่างจากส่วนกลางมากขึ้น  ทั้งๆ ที่ในอดีตเคยร่วมกระแสวัฒนธรรมระดับเดียวกัน
 
ในสภาพที่เป็นจริงโดยทั่วไป  นิสัย และบุคลิกภาพของชาวภาคใต้กับภาคอื่นๆ มีลักษณะร่วมกันอยู่มาก  แต่ลักษณะนิสัย และบุคลิกที่เด่นๆ ของคนใต้ส่วนใหญ่  ได้แก่  ชาวภาคใต้ส่วนใหญ่พูดจาโต้ตอบตรงไปตรงมา  โผงผาง  ไม่ถนอมน้ำใจหรือรักษามารยาทในการพูดกับคู่สนทนา  เจรจาโต้ตอบเฉียบแหลม  ฉับไว  มีเหตุผล  ไม่ยอมรับอะไรง่ายๆ  ใฝ่ศึกษาหาความรู้  ชอบแสดงตนว่าเป็นคนกว้างขวาง  มีน้ำใจกว้าง  กล้าได้กล้าเสีย  มีความเฉียบขาด  รักศักดิ์ศรี และพิทักษ์พวกพ้องเครือญาติ  รักความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ  ไม่กระตือรือร้น  ไม่ค่อยรู้จักอดออม และประมาณในการใช้จ่าย  ชอบทำตัวเป็นหัวเรือใหญ่ หรือเป็นนักเลง  คำนึงถึงประโยชน์เฉพาะหน้า และเอาตัวรอด  รักสนุก  เกียจคร้าน  ชอบรวมกลุ่ม  การทำงานจะผูกพันอยู่กับตัวบุคคล  ธรรมเนียมการถือที่ต่ำที่สูงมีน้อย  ใจบุญสุนทาน  รักและผูกพันกับถิ่นเกิด  ฯลฯ
 
ในประเด็นการชอบทำตัวเป็นหัวเรือใหญ่ หรือนักเลง  ในความเข้าใจของคนใต้หมายถึง  เป็นคนใจกว้าง  มีความเฉียบขาด  กล้าได้กล้าเสีย  รักษาศักดิ์ศรีและปกป้องพวกพ้อง  ต้องอาศัยการสืบทอดทางตระกูล  การผูกมิตรต่อบุคคลอื่น  การเป็นคนหนักแน่น  มีชั้นเชิงสูง  มีความกตัญญูรู้คุณและมีสัจจะ  แต่คนต่างภาคมองว่า คนใต้เป็นคนดุ  เจ้าพ่อ  นักเลงหัวไม้  มั่วอบายมุข  นิสัยแข็งกร้าว  ก้าวร้าว  ชอบข่มขู่ และใช้อำนาจเอารัดเอาเปรียบคนอื่น  เกิดความคิดที่ว่า “ไม่อยากไปทำงานร่วมกับชาวภาคใต้ เพราะว่าไม่อยากไปเป็นนักเลง”
 
ประเด็นเจรจาโต้ตอบตรงไปตรงมา  โผงผาง  ไม่ถนอมน้ำใจคู่สนทนา  และการเจรจาโต้ตอบเฉียบแหลม  ฉับไว  มีเหตุมีผล  ไม่ยอมรับอะไรง่ายๆ  ชาวภาคอื่นมองว่าคนใต้เป็นคนหัวหมอ  เหตุผลใครเหตุผลมัน  คนใต้ไม่มีลักษณะประนีประนอม  ก่อให้เกิดความแตกแยก  เกิดสภากาแฟตามท่ารถท่าเรือ  เป็นนักเลงการเมือง  รังเกียจคนหัวอ่อน  เลี้ยงให้เชื่องได้ง่าย หรือพวกเลียแข้งเลียขา  สตรีคนใต้เป็นคนแข็งกระด้าง  ภาพลักษณ์ในสายตาของคนภาคอื่นคือคนใต้สร้างความขัดแย้ง  แตกแยก หรือสร้างกลุ่มพวกขึ้นมาต่อรอง
 
ประเด็นรักศักดิ์ศรี และพิทักษ์พวกพ้อง และเครือญาติ  หน้าใหญ่ใจเติบ  กลัวเสียหน้า  เสียเหลี่ยม  ใครมาเยี่ยมเยือนต้องเลี้ยงดูปูเสื่อให้สมภาคภูมิ  ผู้อาวุโส หรือเหนือกว่าต้องจ่ายทุกครั้ง  ไม่นิยมทำงานรับจ้างเพราะเสียศักดิ์ศรี  ไม่ใช้บริการรักษาฟรี  ฯลฯ
 
ประเด็นรัก และผูกพันกับถิ่นเกิด  ภาคภูมิใจว่าถิ่นกำเนิดของตนมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากร หรือโภคทรัพย์  สภาพแวดล้อมเจริญหู เจริญตา  เจริญใจ และมีเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ โดยเฉพาะสิ่งสำคัญทางศาสนา  มีความเกื้อกูลเอื้ออารีต่อกันสูง  เมื่อไปอยู่ต่างถิ่นก็กล้าที่จะประกาศตัว หรือแสดงตัวว่าเป็นคนใต้  คนภาคอื่นอาจจะมองว่าคนใต้หลงตัวเอง หรือมีความเป็นท้องถิ่นนิยมสูง  ชอบดูถูกเหยียดหยาม หรือชอบโอ้อวด  จึงรู้สึกไม่เป็นมิตร หรือไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย
 
ประเด็นคนใต้ส่วนใหญ่เกียจคร้าน  รักสนุก  ไม่รู้จักอดออม และประมาณตนในการใช้จ่าย  เนื่องจากอยู่ในสภาพแวดล้อม หรือทรัพยากรอุดมสมบูรณ์  ชอบกู้หนี้ยืมสิน
 
ชวน  เพชรแก้ว  มีความเห็นว่า  คนใต้ไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนนิสัย หรือบุคลิกภาพเดิมให้ตรงตามความต้องการของคนภาคอื่น เพราะมีองค์ประกอบปลีกย่อยอีกมากมายที่คนภาคอื่นไม่รู้ ไม่เข้าใจ  จึงไม่จำเป็นที่คนใต้ต้องอ่อนน้อมถ่อมตน  ลดความเป็นสะตอสามัคคี  สื่อสารกันด้วยมธุรสวาจาอันแสดงถึงความไม่เป็นกันเอง  ไม่จำเป็นต้องลดความกล้าได้ กล้าเสีย เอาจริงเอาจัง หรือรักถิ่นเกิด หรือความเป็นนักเลง  ฯลฯ  แต่อาจจำเป็นที่คนใต้ต้องปรับตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์  ยุคสมัย หรือกาลเวลา  โดยคำนึงถึงประโยชน์ของสังคม และประเทศชาติโดยส่วนรวม
 
หากคนใต้ทีมีบุคลิกภาพเป็นคนนักเลง  ตรงไปตรงมา  ใจคอกว้างขวาง  กล้าได้กล้าเสีย  ฯลฯ  เป็นคนไม่น่าคบในสายตาของคนกรุงเทพฯ  และนิธิ  เอียวศรีวงศ์  แล้วคนแบบไหนในภาคไหนของประเทศนี้ที่น่าคบมากกว่าเล่า…?

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น