xs
xsm
sm
md
lg

กระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม : วัดเปลี่ยนไป ประชาชนเปลี่ยนแปลง / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากอินเทอร์เน็ต
 
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
ผู้เขียนเกิด และเติบโตมาในสังคมที่มีสถาบันทางสังคมทำหน้าที่กล่อมเกลาทางสังคม หรือการเมืองมาตั้งแต่จำความได้  เริ่มจากสถาบันครอบครัวที่ทำหน้าที่ผลิต และอบรมสั่งสอนคุณธรรมจริยธรรมผ่านเพลงกล่อมเด็ก หรือเพลงร้องเรือ หรือเพลงช้าน้อง ที่ผูกพันกับวิถีความเชื่อทางโลก และทางธรรม  ขับกล่อมให้เด็กหลับเร็ว และหลับสนิท  มีเนื้อหาสาระเชิงให้ความรู้ และความคิด  มีเจตนาให้ความบันเทิงใจเพื่อให้เกิดอารมณ์ขันโดยตรง  มีเนื้อหาสาระเพื่อปกปักรักษาปทัสถานของสังคม  และมีเนื้อหาสาระเพื่อปกป้องสิทธิ และหน้าที่อันพึงมีพึงได้โดยชอบธรรม  เช่น
 
“ไปคอนเหอ
ไปแลพระนอนพระนั่ง
พระพิงเสาดั้ง
หลังคามุงเบื้อง
เข้าไปในห้อง
ไปแลพระทองทรงเครื่อง
หลังคามุงเบื้อง
ทรงเครื่องดอกไม้ไหว”
 
“โลกสาวเหอ
โลกชาวเรินตีน
เดินไม่แลตีน
เหยียบเอาโลกไกตาย
หนวยตาตั้งสองหนวย
หวางอี้หลียวแลชาย
เหยียบเอาโลกไกตาย
แลชายบ่วางตา”
 
“แม่ไกเหอ
แม่ไกหางหลุ้น
ข้าหลวงออกมาวุ่น
ชันชีจับแด็ก
จับสิ้นสาวสาว
บาวบาวไว้ทำพวกหาดแล็ก
ชันชีจับแด็ก
จับสิ้นทั่วเมืองหนี้”
 
ต่อมา หลังปี  ๒๕๙๐  ความนิยมในการร้องเพลงกล่อมเด็กค่อยเสื่อมคลายลงตามลำดับ  จนถึงปัจจุบันก็สูญหายไปจากสังคมไทย
 
ส่วนสถาบันศาสนาอันมีวัด และพระเป็นผู้แสดงบทบาทแทน ก็เคยมีความความสำคัญต่อวิถีคิดวิถีปฏิบัติของคนในชุมชน  ทั้งในชนบท และในเมือง  วัดในชนบทเป็นศูนย์รวมทางจิตใจ  ศูนย์รวมในพิธีกรรม  ความเชื่อและประเพณี  ทางศาสนาและสังคมของชาวบ้าน  เจ้าอาวาสทุกวัดเป็นที่นับถือศรัทธาของชาวบ้าน  ทำหน้าที่สอนศีลธรรมจรรยาแก่อุบาสกอุบาสิกา  กุลบุตรกุลธิดา  ตลอดจนสอนศิลปะวิทยาการช่างสิบหมู่  ตำรายากลางบ้าน  หมอพื้นบ้าน  การรักษาคนวิกลจริต  คนถูกงูพิษกัด  สร้างเครื่องรางของขลัง  เครื่องบูชา  เป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ของคนหนุ่มทั้งหมู่บ้านย่านตำบล  รวมทั้งมีบทบาทในการสนับสนุนการศึกษาในระบบทั้งภาคบังคับ และระดับมัธยมศึกษาระดับตำบล  โดยเฉพาะบทบาทในการสร้างโรงเรียน
 
ปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่างวัด และพระกับชุมชนกลายเป็นปฏิปักษ์กัน  ทั้งในชนบทและในเมือง  ส่วนใหญ่เกิดจากความไม่ศรัทธาซึ่งกันและกัน  และขัดแย้งกันเพราะผลประโยชน์  ชาวบ้านกล่าวหาว่าพระ  โดยเฉพาะเจ้าอาวาสเบียดบังเอาทรัพย์สินและสมบัติของวัด  อันเป็นทรัพย์สิน และสมบัติที่ได้มาจากการบริจาคของชาวบ้านไปเป็นทรัพย์สมบัติส่วนตัว  ส่วนเจ้าอาวาสก็กล่าวหาว่า ชาวบ้านเบียดบังผลประโยชน์ของวัด  บุกรุกที่วัด
 
รูปธรรมของปัญหาในปัจจุบัน  มีบางวัดชาวบ้านไม่ยอมเข้าวัด  แม้ประเพณีวันสารทชาวบ้านยอมลงทุนเช่าเต็นท์ตั้งเปรตนอกวัด  บางปีไม่มีการทอดกฐิน  ทอดผ้าป่า  บางปีมีกฐินจากนอกบ้านมาทอดที่วัดมีคนในหมู่ไปร่วมไม่ถึงสิบคน  ทั้งๆ ที่ในหมู่บ้านรอบวัดมีประชากรสองสามพันคน  เงินทอดกฐินบางปีได้แค่สามสี่หมื่น  ในขณะที่วัดอื่นได้เป็นล้านสองล้าน
 
บางวัดชาวบ้าน  กรรมการวัด และสมภารมีความสัมพันธ์กันดี  แต่พอทางวัดจัดสร้างพระเครื่องอดีตเจ้าอาวาสจนเป็นที่นิยมว่าศักดิ์สิทธิ์  คลาดแคล้ว  อยู่ยงคงกระพัน  เป็นที่นิยมของนักเลงพระเครื่องทั่วราชอาณาจักร  สร้างรายได้เข้าวัดนับสิบล้าน  ก็เกิดปัญหาความแตกแยกแตกร้าว  เพราะมีการกล่าวหากันว่ากรรมการวัดบางคนเบียดบังเงินรายได้ส่วนนี้เข้ากระเป๋าพวกตน  จนไม่เหลือให้บำรุงวัดตามที่ควรจะเป็น
 
บางวัดเกิดคดีความฟ้องร้องระหว่างเจ้าอาวาส กับชาวบ้านข้างวัด  กรณีชาวบ้านไปสร้างยอจับปลาลงในเขตอภัยทานหน้าวัด  จนประมงอำเภอสั่งให้รื้อถอน  ชาวบ้านก็พาลไปเรื่องเงินวัด  โดยกล่าวหาว่าเจ้าอาวาสเอาเงินวัดไปสร้างบ้าน  และมีคดีความกล่าวหากันไปมามากมาย  จริงเท็จอย่างไรไม่สำคัญ  สำคัญแต่ให้ได้เอาคืนบ้างเท่านั้น  ซึ่งถ้าเป็นสมัยก่อนเรื่องแบบนี้ไม่มีวันเกิดขึ้นกับสังคมชนบทแห่งนี้  แต่วันนี้ทุกสิ่งทุกอย่างมันเปลี่ยนไป  จนเกินกว่าจะเยียวยาด้วยสถาบันทางสังคมแบบเดิมได้แล้ว
 
ที่น่าเศร้ากว่านั้นคือ  บางวัดที่กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเพราะมีทิวทัศน์สวยงาม  และแน่นอนกลายเป็นที่ซ่องสุมของวัยรุ่น  วัยเรียน  และวัยเสพยาที่ปะปนเข้ามา  วันหนึ่งเจ้าอาวาสเดินผ่าห้องน้ำวัดริมทะเล ไปเห็นวัยรุ่นกำลังมีเพศสัมพันธ์กันข้างห้องน้ำวัดกลางวันแสกๆ อย่างไม่เกรงกลัวนรก  พอเห็นเจ้าอาวาสเดินมาแทนที่มันจะวิ่งหนี  หรือแอบให้พ้นหูพ้นตา  มันกลับหันมาถามเจ้าอาวาสเป็นภาษาใต้ว่า
 
“เอาสักทีกันไหม้หลวง”
 
นี่คือสภาพสังคมไทยในวันนี้ที่ไปไกลกว่าพุทธทำนายแล้วครับ.
ภาพจากอินเทอร์เน็ต
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น