คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
จากการศึกษาโครงสร้าง และพลวัตด้านคติและพลังชุมชนภาคใต้ของ สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ และคณะ (2544 : 49) พบว่า ประชาชนคนใต้ที่เป็นชาวพื้นเมืองขาดความกระตือรือร้นในการทำงาน โดยเฉพาะคนจีน และคนต่างภาคที่มีความคิดในการแข่งขันเพื่อแสดงความมั่งคั่ง ถึงกับเห็นว่าคนใต้เป็นคนไม่ขยัน ไม่อดทน ไม่อยากทำงานประเภทใช้แรงงาน ไม่คิดหาวิธีการจัดการเพื่อเพิ่มมูลค่าแก่ทรัพยากรธรรมชาติ ดังความเห็นของบางคน ดังนี้
“ราษฎรในเมืองนครศรีธรรมราช ไม่ใคร่ทำมาหาเลี้ยงชีพสักเท่าใด ที่ทำก็พอรับประทาน ไม่คิดถึงกับจะได้ค้าขายให้เป็นอาณาประโยชน์ต่อไป จึงเป็นคนที่ยากจนโดยมาก” (พระยาสุขุมนัยวินิต.)
“ชาวภาคใต้เป็นคนชอบสบาย ไม่ขยัน พูดจาไม่เพราะ ไม่ถนอมคำพูด แต่มีจุดเด่นที่คนจีนส่วนใหญ่รู้สึกตรงกันคือ คนภาคใต้ยอมรับคนเก่ง รักพวก” (สุทัศน์ จิรพัฒนาการ.)
“จุดเด่นของชาวภาคใต้คือ มีความเอื้ออารี มีความสามัคคี พูดตรงไปตรงมา จุดอ่อนก็มีบ้างคือ การเมาสุรา และการพนัน ชาวภาคใต้ไม่ถึงกับขี้เกียจ แค่ไม่กระตือรือร้นเพราะเคยอุดมสมบูรณ์ แม้จะยากจน แต่ไม่ถึงขั้นแร้นแค้นจนหมดหนทางทำกิน ตกอับบ้างด้วยเหตุสุดวิสัยก็จะมีญาติมิตรให้ความช่วยเหลือ ไม่ผ่านการเจ็บปวดแบบประดาประดังเหมือนอย่างที่คนจีนเคยมี เพียงลงมือทำ หาวิธีการจัดการเพียงเล็กน้อยก็พอมีกิน” (มนินทร์ปัจจักขภัติ.)
เอกวิทย์ ณ ถลาง (2544 : 123-132) มีความเห็นว่า ชีวิทัศน์ และโลกทัศน์ของชาวภาคใต้มีลักษณะร่วมกับของคนไทยทั่วไป เพราะปัจจัยแม่บทคือ ความเป็นสังคมชาวนาชาวพุทธ มีภาษาไทย และวัฒนธรรมไทย มีการเมืองการปกครองที่รวมศูนย์ที่ราชธานี แต่ส่วนที่แตกต่างตามบริบทของธรรมชาติแวดล้อม และการได้แลกเปลี่ยนกับคนจากวัฒนธรรมอื่นๆ อย่างต่อเนื่องมากว่าพันปี โดยเฉพาะชีวทัศน์และโลกทัศน์เกี่ยวกับการปกครอง และความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ชาวบ้านภาคใต้มีชีวทัศน์และโลกทัศน์ตามหลักเหตุผล นิยมในการพึ่งตนเอง ไม่ค่อยไว้ใจราชการ ไม่ไว้วางใจฝ่ายปกครองว่าจะจริงใจ เข้าใจปัญหาของเขา และช่วยเขาได้จริง จึงยึดมั่นในหลักพึ่งตนเอง ให้ความสำคัญต่อพวกพ้อง เครือญาติ และเครือข่ายชุมชนที่รู้จัก ในช่วงปราบปรามคอมมิวนิสต์ (พ.ศ.2508-2516) ชาวบ้านภาคใต้จำนวนไม่น้อยที่มีใจเป็นนักเลง และเป็นตัวของตัวเอง ไม่ก้มหัวให้อำนาจรัฐ ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ และถูกเข่นฆ่ามากมาย เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ทำให้ชาวใต้ระดับชาวบ้านไม่ไว้วางใจ และชิงชังคนของราชการ โดยเฉพาะตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง และถือว่าอำนาจรัฐนั้นเป็นสิ่งที่ต้องต่อสู้ หรือไม่ก็หลีกไปให้พ้น
ความนิยมนับถือนักเลง หรือ “ลักเลง” ของคนใต้เกิดจากชีวทัศน์เกี่ยวกับสถานภาพและความประพฤติของชาย-หญิง กล่าวคือ เป็นสังคมที่ยกย่องบุรุษเพศที่มีความรู้ มีคุณธรรม และเป็นคนจริง เชื่อถือได้ ไม่เหลวไหล นักเลงภาคใต้เป็นพัฒนาการของสังคมชนบทที่ห่างไกลศูนย์กลางอำนาจ ชาวบ้านจึงต้องปกครองกันเอง จัดการต่อปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างชาวบ้านเองโดยเอกเทศ
สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ (อ้างถึงใน เอกวิทย์ ณ ถลาง. 2544 : 138-145) ได้นิยามความหมายของนักเลง หรือลักเลงของคนใต้ว่าคือ ผู้ที่มีคุณลักษณะ ดังนี้ 1) เป็นผู้มีบุคลิกภาพพิเศษ กล้าได้กล้าเสีย มีความเฉียบขาด รักษาคำพูด ละศักดิ์ศรี รักที่จะต่อสู้กันอย่างอาจหาญ รักและปกป้องพรรคพวกตนสุดกำลัง มีอิทธิพล และบริวารมาก เป็นที่ยกย่องของสังคม มักจะแผ่ขยายบารมีไปยังท้องถิ่นอื่นด้วยการผูกสัมพันธ์โดยการเป็นเพื่อนเกลอ คอยเสริมบารมีให้แก่กัน มีบุตรหลานแต่งงานเกี่ยวดองกัน 2) เป็นคนหนักแน่น พูดน้อย ระวังถ้อยคำ คำพูดแต่ละคำเสมือนคำสั่ง หรือข้อสัญญาที่จะต้องปฏิบัติตลอดไป 3) เมื่อมีผู้มากล่าวโทษบุคคลใด จะต้องไม่หูเบา ก่อนจะเอาโทษ หรือกระทำการอย่างใดลงไปจะต้องสอบถามเอาความจริงจากเจ้าตัวอย่างตรงไปตรงมาเสียก่อน แล้วจึงเผยท่าที หรือประกาศเอาโทษเพื่อให้ฝ่ายตรงข้าม และคนทั่วไปรู้มูลเหตุที่ต้องกระทำเช่นนั้น 4) ต้องวางตัวเป็นคนมีชั้นเชิง ไม่พูด หรือกระทำการใดอันแสดงความอ่อนแอ หรือเสียเชิงแก่ผู้อื่น เมื่อเสียเชิงต้องรักษาศักดิ์ศรีนักเลงไว้ แต่ต้องไม่ใช้เล่ห์เหลี่ยมชั้นเชิงกับพรรคพวก 5) ไม่ลดตนลงไปสู้รบปรบมือกับผู้ด้อยศักดิ์ศรีกว่าตน 6) มีความกตัญญู ไม่ล่วงละเมิด ลบหลู่ หรือเนรคุณผู้มีพระคุณ 7) ไม่กระทำเสนียดจัญไร เช่น รบราฆ่าฟันกันในวัด ล่วงละเมิดตัวประกัน ดูหมิ่นเครื่องรางของขลังของศัตรู ดูหมิ่นศพ 8) ไม่ลักขโมยของจากบ้านที่ตนเคยพึ่งพาอาศัย 9) ไม่ฆ่าฟันทำอันตรายคนนอนหลับ คนกำลังถ่ายทุกข์ คนกำลังกินข้าว คนกำลังป่วย หรือหมดทางสู้ หญิงมีครรภ์ หญิงไม่มีความผิด และเด็ก ไม่ฉวยโอกาสเอาเปรียบศัตรู
วุฒิสาร ตันไชย และคณะ (2541 : 103-114) ได้ศึกษาพฤติกรรมการแสดงออกทางการเมืองของคนใต้ โดยศึกษาเฉพาะกรณีจังหวัดสงขลา และภูเก็ต พบว่า คนใต้ส่วนใหญ่ยังไม่มีส่วนร่วมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของคนใต้ด้านความรู้ ความเข้าใจ และความเห็นต่อการเมืองของประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เอื้อให้เกิดประชาธิปไตยในท้องถิ่น ที่มุ่งหวังให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบท้องถิ่นของตนเอง จึงส่งผลให้เกิดพฤติกรรมของประชาชนต่อการเมือง ทั้งระดับชาติ และระดับท้องถิ่น เป็นไปในลักษณะ “ไม่สนใจ และไม่เข้าร่วม”
คนใต้ส่วนใหญ่เห็นว่า การเมืองคือ ชีวิต และมีความสัมพันธ์กับระบบต่างๆ ในสังคม การเมืองที่ดีจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น แต่ความเข้าใจต่อการเมืองของประชาชนก็เพียงการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ร่วมรณรงค์ในการหาเสียง และติดตามข่าวสารทางการเมืองจากสื่อมวลชนเท่านั้น ความคิดเห็นและบทบาทในเชิงรุก เชิงต่อรองอำนาจกับกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองต่างๆ ยังคงเป็นเรื่องที่ประชาชนยังไม่เข้าใจ และแม้จะมีความตื่นตัวทางการเมืองสูงเป็นส่วนใหญ่ แต่ยังมีความแตกต่างในกลุ่มอาชีพ เช่น ชาวนา กับชาวสวนยาง
ความสนใจทางการเมืองของคนใต้มีมากกว่าคนภาคอื่นๆ โดยไม่หวังจะพึ่งพิงนักการเมือง เพราะคิดว่าพึ่งตนเองได้ ต่างจากคนภาคอื่นๆ ที่คิดว่านักการเมืองคือที่พึ่ง เมื่อเดือดร้อนต้องไปหานักการเมือง เป็นการอุปถัมภ์ มีบุญคุณต้องตอบแทนช่วยเหลือกัน ขณะที่นักการเมืองภาคใต้ จะมีความใกล้ชิดกับประชาชน เพราะประชาชนคิดว่านักการเมืองก็คือ คนธรรมดาที่สามารถเข้าถึงได้ สนใจการเมืองท้องถิ่นน้อยกว่าระดับชาติ เลือกตามกระแส เลือกพวกพ้อง พี่น้องเพราะคิดว่าสื่อกันได้ดีกว่า ช่วยเหลือกันดี หากไม่มีพี่น้องก็เลือกคนที่มีความรู้ มีการศึกษา
คนใต้มีวัฒนธรรมกระฎุมพีสูงกว่าภาคอื่นๆ มีความเป็นเสรีชนสูง ต้องการปลอดจากอำนาจรัฐ หยิ่งในศักดิ์ศรี พึ่งตนเองได้ ไม่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐมากนัก ยกเว้นเรื่องใหญ่ๆ พึ่งตนเอง และกลุ่มก้อน หากไม่สำเร็จจึงพึ่งนักการเมือง แต่จะไม่พึ่งข้าราชการเพราะไม่เชื่อว่าจะช่วยเหลือได้ เนื่องจากชุมชนท้องถิ่นกินดีอยู่ดี ไม่อดอยาก และไม่ค่อยว่างงาน ชอบคนพูดเก่ง ใช้สำนวนโวหารดี และคิดว่าคนพูดได้ดีย่อมเป็นคนเก่ง มีความรู้ และความคิดเป็นระบบ มองว่าคนที่กล้าพูดคือคนกล้าหาญ
วัฒนธรรมการยึดตัวบุคคล ระบบอุปถัมภ์โดยบุคคลที่เหนือกว่าทั้งด้านเศรษฐกิจ ฐานะทางสังคม ติดยึดกับตัวบุคคล มีความเกรงใจ และซื่อสัตย์ต่อบุคคลคือ ยึดตัวบุคคลด้วยความชื่นชมพรรคการเมือง ชอบคนที่มาดูแลเอาใจใส่ มีความประพฤติดี ซื่อสัตย์ มีความรู้ความสามารถมากกว่าสาระของนโยบาย และเหตุผลอื่นประกอบ ยึดตัวบุคคลเพราะรับผลประโยชน์จึงต้องตอบแทน เป็นต้น