xs
xsm
sm
md
lg

ไฟไหม้บ้านที่ตะโหมด พัทลุง : สื่อก้าวหน้า แต่สังคมล้าหลัง / จรูญ หยูทอง-แสงอทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากอินเทอร์เน็ต
 
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอทัย
 
ความแตกต่างระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้ว กับประเทศกำลังพัฒนา เขาแยกกันที่คุณภาพของประชาชน และคุณภาพของประชาชนอยู่ที่วัฒนธรรมการเรียนรู้ วัฒนธรรมการเรียนรู้มีสื่อมวลชนเป็นเครื่องมือ หรือกลไกที่สำคัญในการพัฒนาประสบการณ์ในการคิดวิเคราะห์ของประชาชน หลังจากได้รับข้อมูลข่าวสารอันเป็นปัจจัยสำคัญในการสังเคราะห์เป็นความรู้  ความคิด และความเชื่อ
 
ประสบการณ์ในการคิดวิเคราะห์เป็นกระบวนการสำคัญในการพัฒนาคนให้มีคุณภาพ เพราะกระบวนการคิดเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการเรียนรู้  หลังจากได้รับข้อมูลข่าวสารจากประสบการณ์ตรง และประสบการณ์อ้อมในการใช้ชีวิตทั้งจากแหล่งอื่น และจากสื่อมวลชน
 
แฟ้มภาพ
 
กรณีปรากฏการณ์ภาพข่าวไฟไหม้สิ่งของเครื่องใช้ในบ้านหลังหนึ่งใน อ.ตะโหมด จ.พัทลุง นับร้อยครั้ง  โดยไม่ทราบสาเหตุ  เจ้าของบ้านให้ข้อมูลว่า จะเกิดไฟไหม้หลังจากที่เด็กผู้หญิงวัยสองขวบกว่าๆ ตะโกนบอกว่าไฟไหม้  จากกรณีนี้มีจุดน่าสนใจหลายแง่หลายมุม
 
ประการแรก  คุณภาพของสื่อมวลชนไทย ทั้งสื่อโทรทัศน์กระแสหลัก  ทางเลือก และสื่อสิ่งพิมพ์  ส่วนใหญ่นำเสนอข่าวสารข้อมูลไปในทางเดียวกับความเชื่อของเจ้าของบ้าน และชาวบ้านทั่วไปว่า  เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นการกระทำของสิ่งลึกลับเหนืออำนาจมนุษย์  แม้ว่าเจ้าของบ้านอาจจะยังคาดหวังว่าการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์อาจจะช่วยคลี่คลายเรื่องนี้ได้
 
ประการที่สอง  คุณภาพของประชาชนส่วนใหญ่  โดยเฉพาะกลุ่มโลกสวยมีความเชื่อโดยสนิทใจว่า ปรากฏการณ์นี้เป็นการกระทำของสิ่งลึกลับเหนืออำนาจมนุษย์  เข้าทำนองว่า “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่”  ดังนั้น เมื่อมีนักวิชาการออกมาโต้แย้งว่า เป็นการกระทำของมนุษย์อย่างแน่นอน ไม่ใช่ทั้งปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์และไสยศาสตร์  ชาวบ้านส่วนหนึ่งจึงแสงดความไม่พอใจ หาว่านักวิชาการเหล่านี้ซ้ำเติมความทุกข์ยากให้แก่เจ้าของบ้าน  แม้ว่านักวิชาการ และสื่อมวลชนบางรายมีวิดีโอแฉให้เห็นว่า มีคนจุดไฟ และสร้างสถานการณ์ให้เด็กผู้หญิงออกมาชี้จุดที่ไฟไหม้ก็ตาม
 
ประการที่สาม  ยังมีนักวิชาการส่วนหนึ่งที่ยังยืนยันในหลักวิชาการ  และมีความกล้าหาญทางจริยธรรมที่จะออกมาทำความจริงให้ปรากฏ  แม้จะรู้ว่าจะได้รับผลลบร้ายแรงอย่างไรที่กล้าออกมาสวนกระแสความเชื่อของคนในสังคม “อนารยะ” ทางด้านความคิดความเชื่อโดยส่งทอดผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารยุคดิจิตอลผ่านดาวเทียม  ข้อมูลข่าวสารไร้พรมแดน
 
ประการที่สี่  ระบบราชการ และการเมือง  ทั้งในระดับท้องถิ่น  ภูมิภาค และส่วนกลาง  ไม่มีศักยภาพในการพิสูจน์ทราบข้อสงสัยให้แก่ประชาชน  ทั้งในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ และเรื่องที่สำคัญๆ เกี่ยวกับความเป็นความตายของประชาชน และสังคม  จนถึงวันนี้เหตุการณ์นี้ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจากหน่วยงานของรัฐว่าเกิดจากอะไร  ดูเหมือนว่า พวกฤาษี และเจ้าพ่อเจ้าแม่ร่างทรงจะมีบทบาทโดดเด่นมากกว่านักการเมือง และนักปกครอง
 

 
จากปรากฏการณ์นี้ทำให้คลายความสงสัยไปได้ว่า ทำไมสังคมไทยจึงยังเป็นประชาธิปไตยไม่ได้  ต้องมีการปฏิวัติรัฐประหารเพื่อขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง  เพราะมีพฤติกรรมฉ้อฉล  ทุจริตคอร์รัปชัน  สร้างความเสียหายให้แก่ชาติบ้านเมืองทั้งในระยะสั้น และระยะยาว  และแอบอ้างว่าตนเองเป็นประชาธิปไตย  ที่เป็นเช่นนี้เพราะประชาชนส่วนใหญ่ขาดคุณสมบัติของประชาชนในประเทศที่พัฒนาแล้ว  อันเป็นประเทศต้นกำเนิดความเป็นประชาธิปไตยที่ต้องเป็นคนมีหลักการ  เหตุผล  มีหลักคิดวิเคราะห์  วิจารณญาณ  อย่างน้อยตามแนวทางของหลักกาลามสูตรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 
 
สังคมไทยเป็นสังคมที่เน้นทักษะด้านความจำ และความเชื่อ  คือ จำตามคำสอนของผู้มีอำนาจ  ทั้งในครอบครัว และในบ้านเมือง  กล่าวคือ  ภรรยาต้องจำคำกล่าวของสามี  ลูกต้องจำคำสอนของพ่อแม่ปู่ย่าตายาย หรือผู้อาวุโสในครอบครัว  น้องต้องจำคำสอนของพี่  ลูกน้องต้องจดจำคำสอนของเจ้านาย หรือหัวหน้า  ลูกศิษย์ต้องท่องจำคำสอนของครูบาอาจารย์
 
ในด้านความเชื่อก็เช่นกัน  ผู้อ่อนอาวุโส และด้อยสถานภาพกว่าต้องเชื่อฟังผู้อาวุโส และมีสถานภาพเหนือกว่า  โดยผ่านวาทกรรมว่า  “อาบน้ำร้อนมาก่อน” หรือ “พ่อแม่บังเกิดเกล้า”
 
สังคมไทยไม่เน้นให้คิด  โต้แย้ง  ถกเถียง  เพราะสังคมไทยนิยมใช้ความรู้สึกในการตัดสิน  มากกว่าความรู้  ความจริง  ลูกต้องไม่เถียง หรือโต้แย้งพ่อแม่ผู้ปกครอง  ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นคนไร้เหตุผลอย่างไรก็ตาม  ลูกศิษย์ต้องไม่ถกเถียง หรือโต้งแย้งอาจารย์  ทั้งสองกรณีนี้ใครฝ่าฝืนจะกลายเป็น “คนเนรคุณ” โดยง่ายดาย
 
พื้นฐานของคนในสังคมไทยเกือบทั้งหมดขัดแย้งต่อพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของชาติตะวันตกที่มีปรัชญาในการดำรงชีวิต โดยการดัดแปลง หรือเอาชนะธรรมชาติ  ในขณะที่เราต้องดัดแปลงตนเองให้เข้ากับธรรมชาติ และเคารพธรรมชาติ  ชาติตะวันตกเน้นที่ปัญญาคือ  ความรู้  แต่เรากลับเน้นที่ศรัทธาคือ ความเชื่อ (บางครั้งโดยปราศจากความรู้) 
 
ดังนั้น  ปรากฏการณ์ที่ตะโหมดในครั้งนี้ และที่อื่นๆ ในกรณีคล้ายคลึงกันนี้  ต่างเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงสังคมที่มีสื่อ หรือช่องทางที่ทันสมัย  แต่สาร หรือสาระที่คนในสังคมส่วนใหญ่เชื่อกลับเป็นเรื่องที่ร่วมสมัยอย่างยิ่งกับมนุษย์ในยุคบรรพกาลที่ยังเชื่อในสิ่งลึกลับมหัศจรรย์ดึกดำบรรพ์  เช่น  แผ่นดินไหว เพราะปลาอานนท์ที่หนุนโลกขยับตัว  ฟ้าแลบ  ฟ้าร้อง  ฟ้าผ่า มาจากรามสูรขว้างขวานใส่นางเมฆขลาที่มาล่อแก้ว  เป็นต้น
 
สังคมแบบนี้จะต้องใช้รัฐธรรมนูญกี่หมื่นกี่แสนกี้ล้านมาตรา จึงจะสร้างความเป็นประชาธิปไตยอย่างเขาได้
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น