คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
โดยส่วนตัวผมรู้จัก อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในฐานะอาจารย์ผู้สอนรายวิชาปริทรรศน์ไทยคดีศึกษาในระดับบัณฑิตวิทยาลัย ที่สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ เคยร่วมเสวนาทางวิชาการในโครงการ โครงสร้าง และพลวัตวัฒนธรรมภาคใต้กับการพัฒนาของเมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สายสังคมศาสตร์ (ศ.สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ หัวหน้าโครงการ) และติดตามอ่านหนังสือและบทความของอาจารย์มานานนับทศวรรษ ด้วยความชื่นชมในวิธีคิด และมุมมองที่โดดเด่น และไม่เหมือนใคร โดยเฉพาะความกล้าหาญทางจริยธรรมที่อาจารย์มีให้เห็นมาตลอด
แต่ต่อมาในบั้นปลายของชีวิต เมื่ออาจารย์เกษียณอายุราชการจากอาจารย์ประจำในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มมีข่าวคราวไม่ค่อยเป็นมงคลของอาจารย์ ทั้งในเรื่องส่วนตัวและแนวคิดทางสังคมที่อาจารย์เริ่มผิดเพี้ยนไปจากเดิมที่ผมเคยรู้จัก จนมาปรากฏชัดเจนในการแสดงออกต่อสาธารณชนโดยผ่านการพูด และการเขียน โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องต่อความขัดแย้ง แตกแยก แตกต่างระหว่างเสื้อเหลืองกับเสื้อแดง และความเป็นคนใต้
อาจารย์มีทัศนะที่ดูถูกดูแคลนกระบวนการเคลื่อนไหวของเสื้อเหลือง และคนใต้หลายครั้งหลายคราว อย่างไร้เหตุผล อ้างหลักการ งานวิจัย วิธีคิดแบบข้างๆ คูๆ ถูไถ กระแหนะกระแหนคล้ายคนไม่มีข้อมูล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเป็นมา เป็นอยู่และเป็นไปของเสื้อเหลือง และคนใต้ที่อาจารย์พูดและเขียนถึง
ในฐานะคนรู้จักอาจารย์นิธิ และรู้จักเสื้อเหลือง กับคนใต้คนหนึ่ง เพราะผมเป็นคนใต้และเคยร่วมกิจกรรมกับคนเสื้อเหลืองในต่างกรรมต่างวาระกัน โดยไม่มีอะไรสัมพันธ์กับความเป็นประชาธิปัตย์ เพราะตั้งแต่มีสิทธิเลือกตั้ง ผมไม่เคยเลือกสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากผมชอบ สนับสนุนและให้กำลังใจนักการเมืองที่มีโอกาสน้อยกว่าสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะในยุค “ชวนฟีเวอร์”
ผมจึงอยากเขียนถึงอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ “ปูชนียบุคคล” ที่ผมเคยเคารพนับถือ และยึดเป็นแบบอย่างในการแสดงออกทางสังคม ทั้งในการพูดและการเขียนมาตลอด ก่อนจะมาเสื่อมถอยศรัทธา (แต่ก็ยังซื้อหนังสือที่อาจารย์เขียนมาอ่านทุกครั้งที่มีโอกาส เพื่อจะได้รับรู้ว่าอาจารย์พัฒนาความไม่เป็นธรรมต่อคนใต้และคนเสื้อเหลืองไปถึงไหนแล้ว)
ล่าสุด อาจารย์นิธิ เขียนบทความในมติชนรายวัน ฉบับวันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม 2558 หน้า 20 เรื่อง “ที่มาทางสังคมของเสื้อเหลือง สลิ่ม-นกหวีด (1)” ขึ้นต้นบทความว่า
“ผมคิดว่า เราคงพอนึกภาพได้แจ่มชัดพอสมควรว่า เสื้อแดงเป็นใคร พลังทางเศรษฐกิจ-สังคมที่ทำให้เขาออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองคืออะไร ทำไมข้อเรียกร้องทางการเมืองของเขาจึงเป็นเช่นนั้น ทั้งนี้ โดยไม่ต้องยึดติดกับตัวบุคคลที่ลอยละล่องอยู่บนกระแสความเคลื่อนไหวทางการเมืองของเสื้อแดง ไม่ว่าจะเป็นแกนนำอย่างคุณณัฐวุฒิ ไปจนถึงนักการเมืองอย่างคุณทักษิณ หรือคุณยิ่งลักษณ์ ภาพของเสื้อแดงเช่นนี้ชัดเจนพอสมควร เพราะมีข้อมูลจากงานวิจัยรองรับอยู่ไม่น้อย”
เพียงย่อหน้าแรกของบทความชิ้นนี้ ผมเริ่มเห็นความไม่ปกติของคนอย่างอาจารย์นิธิในการสรรเสริญเยินยอ “คนเสื้อแดง” จนเกินเหตุ ซึ่งก็ไม่แปลก มันเป็นสิทธิเสรีภาพของอาจารย์อย่างเต็มที่ ในการที่อาจารย์จะรู้สึกดีหรือไม่ดีกับใคร แต่ผมก็คาดไม่ผิดว่า ย่อหน้าต่อไปที่อาจารย์จะเขียนถึงคงจะเป็นฝ่ายตรงข้ามกับเสื้อแดง และแน่นอนด้วยตรรกะ และความคิดเห็น ความรู้สึกนึกคิดที่ตรงกันข้าม ซึ่งก็เป็นจริงดังคาด เพราะย่อหน้าถัดมาอาจารย์เขียนว่า
“ในทางตรงกันข้าม หากเราพยายามจะมองเสื้อเหลือง-สลิ่ม-นกหวีด ในลักษณะเดียวกันบ้าง โดยไม่ติดอยู่กับคุณสนธิ คุณจำลอง คุณสุเทพ หรือเสี่ยๆ ที่หนุนหลังทางการเงิน และผู้ดีที่ถ่ายโอนความชอบธรรมให้แก่ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของเขา เราแทบจะอธิบายคนกลุ่มนี้ไม่ได้ว่าอะไรคือที่มาทางสังคมของเขา มักจะกล่าวกันว่า คนกลุ่มนี้มีผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกับทักษิณและเสื้อแดง ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ทางสังคม หรือทางอุดมการณ์ แต่ครั้นซักไซ้ในรายละเอียดก็มองไม่ค่อยเห็นว่าสิ่งเหล่านั้นมันขัดแย้งกันอย่างไร”
ช่างเป็นทัศนะ และตรรกะที่ดูถูก ดูแคลน และรีบสรุปแบบด้านเดียว ผิดวิสัยของนิธิ ผู้เคยเปรื่องปราดฉลาด และแหลมคม มองไม่เห็น “ที่มาทางสังคม” ของมวลมหาประชาชนเรือนแสนเรือนล้านที่ออกมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องยาวนานเป็นประวัติศาสตร์ แทบไม่น่าเชื่อว่าคนระดับอาจารย์นิธิจะไม่มีข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของมวลมหาประชาชน มากไปกว่าที่เอ่ยอ้างออกมา จึงไม่น่าแปลกที่ท่านจะสรุปปรากฏการณ์ทั้งหมดว่า มีธาตุแท้เพียงแค่นี้ แค่ที่ท่าน และพรรคพวกที่มีความเห็นและข้อมูลชุดเดียวกันรับรู้
ป่วยการที่ผมจะแลกเปลี่ยนในประเด็นนี้ เพียงแต่อยากจะบอกท่าน และพรรคพวกว่า ถ้าท่านเปิดหูเปิดตาให้กว้างกว่านี้ ลงไปสัมผัสชีวิต และเลือดเนื้อจริงของพี่น้องประชาชน ท่านอาจจะดูถูกดูแคลนเขาไม่ลงก็ได้ครับ เพราะเขามีเหตุผลมากกว่าที่ท่านคิด เบื้องลึกเบื้องหลังของการต่อสู้ท่ามกลางความขัดแย้งครั้งนี้ มันมีความสลับซับซ้อนมากกว่าที่ท่านเห็น และได้ยินมาจากพวกเดียวกัน
ย่อหน้าถัดมา ท่านตอกย้ำความคับแคบทางความคิด และมองด้านเดียวด้านที่ท่านอยากจะมองว่า “โดยปราศจากข้อมูลจากงานวิจัยรองรับ เช่นเดียวกับที่ผมเคยเสนอเกี่ยวกับเสื้อแดงมาแล้ว ผมขอเสนอที่มาทางสังคม (Social Original) ของคนเสื้อเหลือง สลิ่ม นกหวีดบ้าง แน่นอนมันจะเป็นเพียงข้อเสนอที่เชิญให้อภิปรายถกเถียง ตลอดจนเก็บข้อมูลในการทำวิจัยกับคนกลุ่มนี้อย่างจริงจัง ประโยชน์ของมันเป็นแค่ “มุมมอง” หนึ่งที่นักวิจัยอาจทิ้งไปไม่นาน เพราะไม่สามารถใช้อธิบายข้อมูลจริงที่ได้จากการสำรวจ หรืออาจเป็นคำถามการวิจัยที่ช่วยให้เข้าใจข้อมูลได้ดีขึ้นก็ได้”
ด้วยย่อหน้าสุดท้ายของอาจารย์ ผมจึงไม่เห็นประโยชน์ที่จะถกเถียงกับอาจารย์ตามคำเชิญ เพราะผมรู้สึกเพียงว่า อาจารย์กำลัง “ผายลม” ทางสมองใส่ฝ่ายที่อาจารย์ไม่ชอบ และไม่ยอมทำความรู้จักเขาจริงๆ ป่วยการที่จะอ่าน และถกเถียงกับอาจารย์อีกต่อไปครับ…ด้วยความเคารพ