xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าจากลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา (๒) : ไม้ไผ่ หนึ่งในสาม “สามเกลอหัวแข็งแห่งทุ่งระโนด” / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
 
คอลัมน์  :  คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
ไม้ไผ่  จัดเป็นพืชท้องถิ่นอีกชนิดหนึ่งที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตของชาวทุ่งระโนด และลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาตั้งแต่เกิดจนตาย  ชาวท่งระโนด นิยมปลูกไม้ไผ่เป็นรั้วบ้าน หรือ “สายดม” และพันธุ์ไม้ไผ่ที่นิยมปลูกมากที่สุดคือ ไม้ไผ่สีสุก  มีหนาม  ลำต้นมีเนื้อหนา  ใช้ประโยชน์ได้สารพัด ตั้งแต่ใช้ตัดสายสะดือเด็กทารก เพราะหลังไม้ไผ่บางๆ มีความคมเหมือนมีดโกน  กอไผ่ช่วยกำบังลมจากกลางทุ่ง และลมจากทะเลได้ดี ลำต้นไม้ไผ่ใช้ทำคานหาบ  ที่คีบแผงรูปหนังตะลุง และทำแผงใส่รูปหนังตะลุง  ทำเครื่องจักสานประเภทต่างๆ  เช่น  กระด้ง  เจ้ย  ตะแกรง  ตะข้อง  หรือเครื่องมือจับปลา  เช่น  ไซ  ส้อน  สุ่ม โมระ  เครื่องจับสัตว์  เช่น  คันเบ็ด  คันโพงวิดปลา  คันแร้วดักนก  คันแร้วดักจระเข้ เป็นไม้ถ่อสำหรับการสัญจรทางเรือในยุคนั้น  หน่อไม้ไผ่เป็นอาหารสำคัญของชมชน  โดยเฉพาะเป็นส่วนประกอบสำคัญของแกงสมรม  อาหารคาวที่สำคัญในประเพณีวันสารท และประเพณีชักพระของชาวลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา  ฯลฯ
 
นอกจากนั้น  ไม้ไผ่ยังเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของโรงเรือนที่อยู่อาศัย  ทั้งส่วนหลังคาจาก ฝาบ้าน  พื้นฟาก  และสุดท้ายเมื่อสิ้นชีวิตก็ยังอาศัยไม้ไผ่ทำฟาก ๗ ซี่รองรับร่างผู้ตายในโลงศพ  และใช้ท่อนไม้ไผ่ ๔ ท่อน หามโลงศพไปเผาที่เชิงตะกอน
 
วิถีชีวิตในยุคกึ่งศตวรรษก่อนหน้านี้ จึงได้ชื่อว่าเป็นยุคไม้ไผ่อย่างชัดเจน  ก่อนจะเกิดยุคพลาสติกเข้ามาแทนที่  สร้างมลพิษจากเครื่องใช้ไม้สอยที่ทำด้วยพลาสติก  ซึ่งย่อยสลายยากกว่าไม้ไผ่หลายเท่า  จนปัจจุบัน

และมีสารพิษเจือปนเข้ามาในวัสดุเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยพลาสติก  แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ ปัจจุบันแม้ว่าพลาสติกจะเข้ามาแทนที่ไม้ไผ่ได้ในหลายรูปแบบ  แต่ที่พลาสติกไม่สามารถจะแทนไม้ไผ่ได้ หรือได้ดีไม่เท่าคือ  แผงหนังตะลุงที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก  แต่สามารถเก็บรูปหนังตะลุงได้นับร้อยสองร้อยตัว และไม่ยับเสียหาย  นอกจากนั้น  พวกคานหาบที่ช่วยผ่อนแรงในการหาบของมีน้ำหนักมากๆ อย่างเลียงข้าว  คันโพงวิดปลา  คันเบ็ด  คันแร้วดักสัตว์  กระด้ง ฯลฯ ก็ยังไม่สามารถแทนที่ด้วยพลาสติกได้
 
ศิลปะการใช้ไม้ไผ่ในชีวิตประจำวันเป็นวิถีแห่งอาเซียน  เพราะไม้ไผ่เป็นไม้ประจำถิ่นของเขตร้อนอย่างอาเซียน และเอเชีย  โดยเฉพาะจีน  ผู้มีอิทธิพลทางวัฒนธรรมในคาบสมุทร “อินโดจีน”  ดังนั้น การหายไปของไม้ไผ่ และวัฒนธรรมการใช้ไม้ไผ่ในชีวิตประจำวัน  จึงมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีแห่งอาเซียน และวิถีของชาวลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
 
ปัจจุบัน ไม้ไผ่ในทุ่งระโนด และลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาค่อยๆ ล้มหายตายจากไปพร้อมๆ กับการขยายตัวของเส้นทางคมนาคมที่เปลี่ยนจากลำคลองมาเป็นถนน  การขยายตัวของชุมชน  การสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย และโรงเรือนอื่นๆ ที่เกิดขึ้นตามความต้องการของวิถีแห่งสังคมสมัยใหม่  เช่น  ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล  สถานีอนามัย  โรงรถ  ที่ทำการสหกรณ์การเกษตร  ฯลฯ
 
สายดม หรือรั้วบ้านแบบธรรมชาติที่อาศัยกอไม้ไผ่  และ “ราพา” หรือส่วนประกอบของต้นไม้ไผ่ที่ถูกตัดโค่นลงมาเพื่อแสดงแนวเขตบ้าน และห้ามบุกรุกในยามวิกาล  ป้องกันทั้งชีวิต และทรัพย์สิน  โดยเฉพาะวัวควายปัจจัยสำคัญในการทำมาหากิน  เปลี่ยนมาเป็นรั้วลวดหนามบ้าง  กำแพงอิฐฉาบปูนเหมือนเรือนจำ  หรือเขตทหาร (ประชาชนห้ามเข้า)  ปิดกั้นป้องกันการบุกรุก และตัดขาดความสัมพันธ์กับบุคคลภายนอกครอบครัว  ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ทุกบ้านสามารถจะก้าวข้ามสายดมไปมาหาสู่  ยื่นข้าวยื่นแกงและสารพัดสิ่งของเครื่องใช้กันได้เกือบยี่สิบสี่ชั่วโมง
 
การล้มลงของสามเกลอหัวแข็งแห่งทุ่งระโนด  ไม่ว่าจะเป็นข้าว  ซึ่งเป็นอาหารหลัก  และการทำนาที่เป็นอาชีพหลัก  จากการทำมาหากินมาเป็นการทำมาหาขาย  ไม่กินข้าวที่ตัวเองปลูก  ปลูกข้าวที่ตัวเองไม่กิน  การล้มลงของตาลโตนด  ทั้งโดยการขยายตัวของนากุ้ง หรือเหตุอื่นๆ และการล้มลงของไม้ไผ่พืชท้องถิ่นสารพัดประโยชน์ของชาวทุ่งระโนด และลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา  ได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของชาวทุ่งระโนด
 
รูปธรรมที่ชัดเจนกรณีการทำนาคือ  คติความเชื่อที่เกี่ยวกับข้าว  และการทำนาหายไปจนเกือบจะสิ้นเชิง  ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อเกี่ยวกับแม่โพสพ  เทพธิดาประจำต้นข้าว  การแรกไถนา  แรกเก็บเกี่ยว  การทำขวัญข้าว  ความเชื่อเกี่ยวเรื่อง “ขวัญข้าวเท่าหัวเรือ  ขวัญเกลือเท่าหัวช้าง”  องค์ความรู้ และภูมิปัญญาเกี่ยวกับการทำนาต่างๆ ตั้งแต่แรกไถนาจนถึงการเก็บเกี่ยวข้าวขึ้นสู่ยุ้งฉาง หรือเรินข้าวที่ชาวทุ่งระโนดให้ความสำคัญเท่า หรือมากกว่าบ้านอยู่อาศัยด้วยซ้ำไป
 
ล้มหายตายจากของตาลโตนด  ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวทุ่งระโนดในหลายอย่างหลายกรณี  เช่น  อาหารการกินที่มีน้ำตาลโตนด  และการแปรรูปน้ำตาลโตนดเป็นส่วนประกอบสำคัญ  ทั้งอาหารหวาน  อาหารคาว  และภูมิปัญญาในการถนอมอาหาร  เช่น  ยำหัวโหนด  แกงกะทิหัวโหนด  ต้มน้ำส้มโหนด  แกงส้ม  หนางวัว  หนางหมู  หนางปลา  หนางตะพาบน้ำ  ขนมกวน  ขนมนึ่ง  ขนมลูกตาล  ขนมโค  ขนมเดือนสิบ  ฯลฯ  นอกจากนั้น บรรดาเครื่องเรือน  ทั้งเครื่องบน และตง  รอด  เชือก ชุดดักปลา คอกวัว  รั้วบ้าน  ฯลฯ ก็เปลี่ยนแปลงไป
 
แน่นอน  สรรพสิ่งย่อมมีการเปลี่ยนแปลงเป็นสัจธรรม  ตามหลักแห่งไตรลักษณ์คือ “อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา” ไม่มีใครจะยับยั้งการเปลี่ยนแปลงได้  แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นต้องพยายามประคับประคองให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น  และตามความจำเป็นอย่างมีสติปัญญาใคร่ครวญพิจารณา  ไม่ใช่เป็นไปแบบทำลายธรรมชาติ  แล้วสร้างสิ่งเทียมธรรมชาติขึ้นมาทดแทน  ทั้งๆ ที่มนุษย์ยังมีศักยภาพ และความสามารถที่จะรักษาธรรมชาติเหล่านั้นเอาไว้ได้  แต่ไม่ยอม  ทำเพียงเพราะต้องการตอบสนองความสะดวกสบายชั่วครู่ชั่วยาม  แต่สร้างปัญหาระยะยาวถึงลูกหลานหลายชั่วอายุคน
 
สำคัญที่สุดคือ การเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตวัฒนธรรม  และความผูกพันทางสังคมของคน  อย่างวัฒนธรรมชาวนาที่เต็มไปด้วยวิถีแห่งคุณธรรม  วัฒนธรรม ไม้ไผ่ที่สุนทรีย์ และปลอดภัยตามธรรมชาติ  และวัฒนธรรมตาลโหนด ที่อยู่คู่สังคมทุ่งระโนดมายาวนานจนกล่าวขานกันว่า
 
“บ้านฉานไหม้ไหร  มีแต่ไผ่กับโหนด  อำเภอระโนด  จังหวัดสงขลา…”
 
มาบัดนี้แค่ไม่ถึงชั่วอายุคน  ลูกหลานชาวระโนดในปัจจุบันกลับมีกลอนโนรา  หรือเพลงบอกบทใหม่ขับขานว่า
 
“บ้านฉานไม่เหลือไหร  แหม็ดทั้งไผ  ทั้งโหนด”
 
คนอื่นจะคิดอย่างไร  แต่ผมคิดว่านี่คือ  จุดปะทะสำคัญของการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งแห่งที่ และวิถีชีวิตของคนทุ่งระโนดปัจจุบันอย่างแน่นอน
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น