คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทองแสงอุทัย
คำคล้องจองดังกล่าวข้างต้นจัดเป็นคำกล่าวขานที่เกี่ยวกับโอทอป หรืออาชีพ และผลิตภัณฑ์สำคัญของชุมชนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ด้านทะเลสาบสงขลาตอนล่างที่โดดเด่น จนกลายเป็นเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ของผู้คน และชุมชนเหล่านี้มายาวนาน และเพิ่งจะลบเลือนไปเมื่อไม่นานมานี้
“ทิ้งทำหม้อ” คือ บ้านทิ้งหม้อ หรือตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร ในปัจจุบัน เคยเป็นชุมชนโบราณในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีร่องรอยความเป็นเมืองท่า และเป็นศูนย์กลางทางการค้าการปกครองสมัยโบราณ มีแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาประเภทเครื่องใช้ในครัวเรือน โดยเฉพาะหม้อข้าวหม้อแกงดินเผา สวด หรือหวดนึ่งข้าวเหนียว เผล้งใส่น้ำ หรือข้าวสาร ปัจจุบันเหลือเพียงเจ้าเดียวคือ บ้านป้าปลื้ม ทำในระบบครัวเรือน และส่วนใหญ่เป็นการสาธิต เป็นแหล่งเรียนรู้ มากกว่าจะผลิตในเชิงพาณิชย์ เนื่องจากปัญหาเรื่องความนิยมเครื่องใช้ประเภทเครื่องปั้นดินเผาที่เปลี่ยนมาเป็นอย่างอื่นที่ทันสมัยกว่า ประกอบกับแหล่งวัตถุดิบคือ ดินเหนียว และฝีมือทางช่างที่ไม่ได้รับการสืบทอดอย่างกว้างขวางจากคนรุ่นหลัง
“เกาะยอทำอ่าง” เกาะยอ ชุมชนที่เพิ่งเปิดตัวเองหลังจากมีสะพานติณสูลานนท์ เชื่อมกับฝั่งเขาเขียว และฝั่งบ่อยาง เมื่อปลายทศวรรษ ๒๕๓๐ ในอดีตเคยมีชื่อเสียงในด้านการผลิตกระเบื้องดินเผา และภาชนะดินเผาอื่นๆ คล้ายสทิงหม้อ รวมทั้งมีผลไม้ท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงคือ ละมุดฝรั่ง หรือสะหวา และจำปาดะขนุน ตลอดจนศิลปหัตถกรรมการทอผ้า ผ้าเกาะยอ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ไม่แพ้ผ้านาหมื่นศรี จ.ตรัง และผ้าพุมเรียง จ.สุราษฎร์ธานี ปัจจุบันผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาของเกาะยอเหลือเพียงตำนาน ส่วนไม้ผลพื้นเมือง และผ้าทอพื้นบ้านก็ยังมีให้ชิม และสัมผัสตามสมควร
“หัวเขาดักโพงพาง” บ้านหัวเขาแดง หรือเขาหัวแดง เป็นชมชนมุสลิมที่อพยพมาจากหมู่เกาะชวาของอินโดนีเซียในสมัยล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก นำอาชีพประมงเข้ามาเผยแพร่ในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ชาวหัวเขามีอาชีพดักโพงพางมาแต่โบราณจนถึงทุกวันนี้ และเครื่องมือประมงชนิดนี้เป็นเหมือนทุกสิ่งทุกอย่างของชาวหัวเขา ที่สำคัญคือ เป็นเครื่องมือต่อรองในทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองมาโดยตลอดจนปัจจุบันนี้ ชาวชุมชนหัวเขานับว่าเป็นชมชนที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว อันเป็นที่คร้ามเกรงของนักปกครองมาทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะการเข้ามาจัดระเบียบเครื่องมือประมงของชาวบ้านหัวเขา และที่นี่เป็นภูมิลำเนาเกิดของผู้นำมุสลิมทั้งระดับสมาชิกวุฒิสภา และจุฬราชมนตรี
“บ่อยางทำเคย” บ่อยาง คือ ชุมชนอันเป็นตัวเมืองสงขลา หรือเขตเทศบาลนครสงขลาในปัจจุบัน ในอดีตมีฐานะเป็นเมืองท่าค้าขาย และท่าเรือประมง เป็นแหล่งผลิตกะปิ หรือที่ชาวบ้านภาคใต้เรียกว่า “เคย” เนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์จากพวก “เยื่อเคย” คือ ลูกกุ้งฝอยที่นิยมนำมาทำกะปิ ต่อมา เมื่อบ้านเมืองเจริญก้าวหน้าขึ้น ชุมชนบ่อยางที่ยังคงทำอาชีพนี้คงเหลือเฉพาะชุมชนเก้าเส้ง ชุมชนมุสลิมที่อพยพมาจากใกล้วัดแหลมทราย มาอยู่ทางตอนใต้ของหาดสมิหลาจนปัจจุบัน
“แม่เตยสานสาด” แม่เตยเป็นชุมชนอยู่ระหว่างนครสงขลา กับนครหาดใหญ่ สมัยก่อนคงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยเตย หรือปาหนัน ที่ชาวบ้านนิยมเอาใบมาสานเสื่อ หรือสาดสำหรับปูนั่ง หรือปูนอน เพราะมีความเหนียว ทนทานและนิ่มนวลดีเวลาสัมผัส ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง หรือสงครามญี่ปุ่นบุกไทย แม่เตย ก็นับเป็นแนวสมรภูมิที่สำคัญของกองทัพไทยจากค่ายเสนาณรงค์ที่ไปต้านการรุกรานของกองทัพลูกพระอาทิตย์
ปัจจุบัน ชุมชนเหล่านี้สูญเสียอัตลักษณ์ และบทบาทสำคัญในทางเศรษฐกิจไปเกือบสิ้นเชิง มีเพียงชุมชนหัวเขา และชุมชนเกาะยอ ที่ยังพอมีผลิตผลจากท้องถิ่นเช่นในอดีตอยู่บ้าง แต่ก็เริ่มประสบปับปัญหาต่างๆ ที่ซับซ้อนมากมาย โดยเฉพาะปัญหาจากสภาพแวดล้อม หรือมลพิษอันเกิดจากชุมชนเมือง ชุมชนอุตสาหกรรม และความหนาแน่นของประชากรที่เป็นปฏิภาคผกผันกับปริมาณ และคุณภาพของทรัพยากรธรรมชาติ
ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาตอนล่างต้องประสบกับหายนะจากอุทกภัยบ่อยครั้งขึ้น เนื่องจากการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ส่วนใหญ่เพียงจัดการให้น้ำลงทะเลสาบให้เร็วลง โดยไม่คำนึงถึงการระบายออกสู่อ่าวไทย ประกอบกับมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาน้ำท่วมในทะเลสาบสงขลาตอนล่าง แต่ทางราชการเชื่อว่าไม่มีผล
ปัจจุบัน มีโครงการจัดทำแผนแม่ขุดลอกเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาตอนล่างของกรมเจ้าท่า ได้ดำเนินการเสร็จสิ้น แล้ว รอเสนอโครงการขุดลอกต่อไป แต่โครงการนี้มีผลแค่เพียงการลดอุณหภูมิของน้ำทะเลสาบสงขลาตอนล่าง อันจะเป็นประโยชน์ต่อการเพาะเลี้ยงชายฝั่งของชาวบ้าน โดยเฉพาะการเลี้ยงปลาในกระชังของชาวเกาะยอ และการจัดระเบียบเครื่องมือประมงเพื่อการเดินเรือ และการท่องเที่ยวในแนวร่องน้ำทะเลสาบสงขลาตอนล่างเท่านั้น ในขณะที่ประชาชนทั่วไปคาดหวังว่า โครงการนี้จะมีส่วนในการช่วยลดปัญหาอุทกภัยในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาให้มีความรุนแรงน้อยลง หลังจากที่หวาดผวาต่ออุทกภัยที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นทุกช่วงครบรอบ “วาระแห่งชาติของอุทกภัยในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาตอนล่าง”