xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าจากลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา (๗) : “คุ้นกับหญิง วิ่งฉัดตร้อ ฉ้อคนโม่ โห่ช้างหระ เขเรือไฟ ไปกับพระ” / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ช้างแกลบ หรือ ช้างหระ (ขอบคุณภาพจาก http://board.postjung.com/688492.html)
 
คอลัมน์  :  คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
ทุ่งระโนด มีอาณาเขตทางตอนเหนือของทะเลสาบสงขลาตอนบน ท้องที่ อ.ระโนด จ.สงขลา ต่อเนื่องไปถึง ลุ่มน้ำปากพนัง คือ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช เป็นเขตปลูกข้าวที่สำคัญของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และของภาคใต้ ถือว่าเป็นอู่ข้าว อู่น้ำ และอู่น้ำตาลโตนดของภาคใต้มานาน
 
บริเวณรอยต่อของทุ่งระโนดกับ อ.ควนขนุน  จ.พัทลุง และ อ.หัวไทร  จ.นครศรีธรรมราช  เมื่อประมาณกว่ากึ่งศตวรรษที่ผ่านมา  เคยมีฝูงช้างป่าที่มีชื่อเรียกหลายชื่อ  เช่น  ช้างนกยางขี่  ช้างหัวแดง  ช้างแคระ  ช้างแกลบ และช้างหระ  เป็นต้น
 
ว่ากันว่า  ช้างดังกล่าวมีอยู่ด้วยกัน  ๒  ฝูง  ฝูงหนึ่งๆ มีสมาชิกประมาณ  ๓๐-๔๐  เชือก  อาศัยอยู่แถวพรุปากคลองนางเรียม ซึ่งเป็นคลองที่เชื่อมต่อระหว่างทะเลน้อย กับทะเลสาบตอนบนฝูงหนึ่ง  อีกฝูงหนึ่งหากินอยู่แถวควนทะเลโมง  อ.ชะอวด  จ.นครศรีธรรมราช และทุ่งตะเครียะ  อ.ระโนด  จ.สงขลา
 
ชาว อ.หัวไทร  จ.นครศรีธรรมราช เรียกช้างเหล่านี้ว่า ช้างหระ  แต่คนทั่วไปเรียกว่า ช้างแคระ หรือช้างแกลบ  เพราะมันมีขนาดเล็กกว่าช้างป่าทั่วไป  เนื่องจากเป็นช้างพรุ กินแต่หญ้าในพรุ  มีขนาดเท่าควายถึกเท่านั้น  แต่บางคนก็บอกว่า ช้างเหล่านี้มีขนาดเท่ากับช้างป่าทั่วไป  บางคนบอกว่ามีนิสัยดุร้าย  บางคนบอกว่ามีนิสัยกลัวคน  เลี้ยงไม่เชื่อง
 
สมัยนั้น  การคมนาคมสัญจรติดต่อกันระหว่างชาวบ้านในชุมชนในละแวกนี้อาศัยการเดินเท้า และการเดินทางทางเรือ หรือทางน้ำ  โดยอาศัยลำคลองสายสำคัญๆ  ได้แก่  คลองระโนด  คลองแดน  และคลองหัวไทร  เป็นต้น
 
เรือที่ใช้ในการโดยสารติดต่อคมนาคมส่วนใหญ่เป็นเรือถ่อ  เรือพาย และเรือแจว  ต่อมา มี  เรือกลไฟ  คือ เรือที่มีเครื่องยนต์วิ่งรับคนโดยสารอยู่ในคลองหัวไทร  แต่มีเพียงลำเดียว และวิ่งวันละเที่ยวเดียวเท่านั้น
 
กีฬาพื้นบ้านที่ชาวทุ่งระโนด และลุ่มน้ำปากพนังนิยมเล่นในสมัยนั้นคือ การเตะตะกร้อวง ซึ่งอาศัยทักษะการเล่นเตะตะกร้อด้วยช้างเท้าบ้าง  หัวบ้าง  เข่าบ้าง  ศอกบ้าง หรือส้นเท้าบ้าง  ผลัดกันเตะส่งไปรอบวง โดยไม่ให้ตะกร้อตกพื้น  ส่วนคนที่ยังไม่มีทักษะในการเตะตะกร้อมักไม่ได้รับเชิญให้ร่วมวง จึงต้องคอยอยู่นอกวงรอเวลาลูกตะกร้อหลุดออกจากวง  ซึ่งนานๆ ครั้งจะได้เตะ
 
สมัยนั้น  ความสัมพันธ์ระหว่างหนุ่มสาวจะมีจารีตที่เคร่งครัด  ไม่เปิดโอกาสให้หญิงสาวกับชายหนุ่มที่ไม่ใช่ญาติพี่น้องอยู่ใกล้ชิดสนิทกันสองต่อสอง  โอกาสที่ชายหนุ่มหญิงสาวในหมู่บ้านจะใกล้ชิดกันมีไม่มาก  เช่น  มีงานบวช  งานแต่งงาน  งานศพ  งานวัด  หรืองานประเพณีต่างๆ เท่านั้น
 
ความเลื่อมใสศรัทธาในศาสนาพุทธของชาวลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาในสมัยนั้น แสดงออกโดยการเอาใจใส่ดูแลพระภิกษุเป็นอย่างดี ทั้งที่หลับนอน  อาหารหวานคาว  ตามรับตามส่ง  ดังนั้น  เวลาพระเดินทางไปไหน และต้องมีผู้ติดตาม  จึงพลอยได้รับการดูแลเอาใจใส่แบบว่า “มากับพระ”
 
ว่ากันว่า “ของหรอย” ของคนหัวไทร  นครศรีธรรมราช  และคนระโนด  สงขลา ในสมัยนั้นคือ  “คุ้นกับหญิง  วิ่งฉัดตร้อ  ฉ้อคนโม่  โห่ช้างหระ  เขเรือไฟ  ไปกับพระ”
 
“คุ้นกับหญิง”  หมายความว่า  มีความสนิทสนมกับหญิงสาวที่ตนเองสนใจใคร่จีบมาเป็นคู่ครองในอนาคต ซึ่งสมัยก่อนกว่าจะได้ใกล้ชิดสนิทชิดเชื้อก็ต้องใช้ความพยายามหาโอกาสเพราะจารีตทางสังคมเกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างระหว่างชายกับหญิงที่ไม่ใช่ญาติในสมัยก่อนมีความเคร่งครัดมาก  ดังนั้น  ชายใดได้ใกล้ชิดกับหญิงสาว หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “คุ้น” ก็จะมีความสุขมาก
 
“วิ่งฉัดตร้อ”  หมายความว่า  ผู้ใดที่ยังเตะตะกร้อวงไม่เก่ง  และเพื่อนไม่ชวนให้เข้าร่วมวงด้วย  เพราะกลัวทำให้ลูกตะกร้อที่เตะส่งกันในวงตก  ทำให้เสียบรรยากาศของการเล่นตะกร้อวง  เลยต้องไปยืนรออยู่นอกวงรอลูกตะกร้อหลุดออกจากวง  แล้วฉวยโอกาสวิ่งไล่เตะ  แม้ว่านานๆ ครั้งจะมีโอกาสได้เตะ  แต่ก็ถือว่ามีความสุขที่สุดด้วยความชอบแต่ขาดโอกาสได้ร่วมวง
 
“ฉ้อคนโม่”  หมายความว่า  ได้กลั่นแกล้ง หรือเอาเปรียบคนที่ไม่ค่อยฉลาด  หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “พายเซ่อ” ไม่ค่อยรู้เท่าทันคนอื่นแบบหยอกกันเล่น  ถือว่าเป็นความสุขอย่างหนึ่งของคนแถวนี้ หรือคนใต้ทั่วไป
 
“โห่ช้างหระ”  หมายความว่า  การได้โห่ไล่ช้างหระ หรือช้างแกลบ หรือช้างแคระ ที่มากินข้าวเปลือกของชาวบ้านให้วิ่งหนีออกจากนาข้าวไปยังพรุทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน  ถือว่าเป็นความสุขสนุกสนานอีกประการหนึ่งของชาวบ้านที่นี่
 
“เขเรือไฟ”  หมายความว่า  การได้มีโอกาสโดยสารเรือกลไฟ ซึ่งมีอยู่เพียงลำเดียว และวิ่งวันละเที่ยวเดียว  อีกทั้งรับคนโดยสารได้จำกัดเพียงไม่กี่คน  ดังนั้น  ใครได้ขี่หรือ “เข” เรือไฟจึงถือได้ว่าเป็นความสุขสุดยอดของคนที่นี่เช่นกัน
 
“ไปกับพระ”  หมายความว่า  การเดินทางไปไหนติดตามพระหรือ “มากับพระ” ย่อมได้รับการต้อนรับอย่างดีจากชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธา  ทั้งยานพาหนะที่สะดวกสบาย  ที่หลับที่นอน  อาหารการกินที่อุดมสมบูรณ์ และเพียบพร้อม
 
ปัจจุบัน ความสุขแบบนี้คงหาได้ยากแล้ว เพราะความเปลี่ยนแปลงทั้งทางกายภาพและสังคมวัฒนธรรม และที่สำคัญที่สุดคือ วิถีชีวิต และวิถีคิดของคนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วโดยสิ้นเชิง.
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น