xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าจากลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา (๖) : “พัทลุงดอน นครท่า ตรังนา สงขลาบ่อ” / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
 
คอลัมน์  :  คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
ชื่อบ้านนามเมืองที่บ่งบอกถึงสภาพภูมิประเทศ และกิจกรรมของผู้คนที่อยู่อาศัยในพื้นที่นั้นๆ  ในสมัยก่อนในแถบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และบริเวณใกล้เคียงมีโดยสรุปว่า
 
“พัทลุงดอน  นครท่า  ตรังนา  สงขลาบ่อ”
 
“พัทลุงดอน”  หมายถึง  ชื่อบ้านนามเมืองในเขตจังหวัดพัทลุง มักจะมีคำว่า “ดอน” หรือ “ควน” หรือ “โคก” ซึ่งแสดงถึงภูมิประเทศที่เป็นที่สูง  ได้แก่  ดอนประดู่  อำเภอปากพะยูน  ดอนทราย อำเภอควนขนุน  ควนมะพร้าว  อำเภอเมือง  ควนถบ  ควนเพ็ง  โคกทราย  โคกสูง  เป็นต้น
               
“นครท่า”  หมายถึง  ชื่อบ้านนามเมืองในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช มักจะมีคำว่า “ท่า” นำหน้า อันหมายถึงเป็นท่าเรือ หรือท่าน้ำ  เป็นเมืองชายทะเล หรือท่าน้ำ  ได้แก่  ท่าม้า  ท่าช้าง  ท่าวัง  ท่าชี  ท่าซัก  ท่าศาลา  ท่าแพ  เป็นต้น
 
“ตรังนา”  หมายถึง  ชื่อบ้านนามเมืองในเขตพื้นที่จังหวัดตรัง มักจะมีคำว่า “นา” นำหน้า  แสดงให้เห็นว่า จังหวัดตรังใช้พื้นที่ส่วนใหญ่ไปกับการทำนา  ได้แก่  นาโยง  นาโต๊ะหมิง  นานอน  นาบินหลา  นาข้าวเสีย  นาชุมเห็ด  เป็นต้น
 
“สงขลาบ่อ”  หมายถึง  ชื่อบ้านนามเมืองในเขตพื้นที่จังหวัดสงขลา มักจะมีคำว่า “บ่อ” นำหน้า หรือตามหลัง  แสดงให้เห็นว่าสภาพพื้นที่ในจังหวัดสงขลาส่วนใหญ่มีสภาพเป็นที่ลุ่ม และมีบ่อน้ำ หรือสระที่ชาวบ้านใช้เป็นแหล่งน้ำบริโภคอุปโภค  ได้แก่  บ่อยาง  บ่อแดง  บ่อประดู่  บ่อดาน  บ่อเพลง  บ่อโพธิ์  สามบ่อ  เป็นต้น
 
จากสภาพภูมิเทศ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจดังกล่าวข้างต้น  จึงมีคำกล่าวถึงจังหวัดนครศรีธรรมราช  สงขลา และพัทลุงในอีกชุดหนึ่งว่า...
 
“นครพุงปลา  สงขลาผักบุ้ง  พัทลุงลอกอ”
 
“นครพุงปลา”  มีความหมายว่า  อาหาร หรือวัตถุดิบที่สำคัญในการทำกินของชาวนครศรีธรรมราช คือ “พุงปลา” หรือ “ไตปลา” ของคนกรุงเทพฯ  เนื่องจากนครศรีธรรมราช เป็นเมืองชายทะเล  มีท่าเรือประมงที่สำคัญคือ  ทาศาลา  สิชล  ท่าแพ  หัวไทร  วิธีถนอมอาหารอย่างหนึ่งของชาวนครศรีธรรมราช คือ การหมักพุงปลาไว้สำหรับปรุงอาหารได้อย่างหลากหลาย  เป็นสินค้าสำคัญทั้งปลีก และส่ง ทั้งภายใน และต่างจังหวัดที่ไม่ติดทะเล
 
“สงขลาผักบุ้ง”  หมายถึง  ผักในท้องถิ่นที่มีมาก และนิยมเอามาทำอาหารได้สารพัดเมนู  ไม่ว่าจะเป็นผักสด  ผักลวกจิ้มน้ำพริก  ปรุงกับก๋วยเตี๋ยว  เต้าคั่ว  แกงส้ม  แกงกะทิ  แกงเทโพ  ฯลฯ  คือ ผักบุ้ง  ประกอบกับสงขลามีสภาพแหล่งน้ำที่เป็นบ่อ หรือสระ หรือตะพัง  ชาวบ้านจึงนิยมปลูกผักบุ้งไว้ในแหล่งน้ำที่สร้างขึ้นนี้
 
“พัทลุงลอกอ”  หมายความว่า  พัทลุงมีผักพื้นบ้านสำคัญคือ มะละกอ ที่เป็นทั้งผลไม้ และพืชผัก  เนื่องจากพัทลุงมีสภาพภูมิประเทศเป็นที่สูงคือ มีดอน หรือโคก หรือควนมาก และมะละกอเป็นพืชที่ไม่ขอบน้ำขัง จึงปลูกได้ดีในพื้นที่จังหวัดพัทลุง  ในความสัมพันธ์แบบ “เกลอเขาเกลอเล” ระหว่างพัทลุง กับสงขลา และนครศรีธรรมราช ที่อยู่ชายเล  จึงนิยมแลกเปลี่ยนข้าว และปลาจากสงขลา และนครศรีธรรมราช  แลกพืชผักจากพัทลุง  โดยเฉพาะมะพร้าว กับมะละกอ
 
ปัจจุบันด้วยเหตุผลทางการผลิตแบบเชิงเดี่ยวตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  และการใช้ที่ดินตามแนวลัทธิบริโภคนิยม  ทำให้สภาพอันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดต่างๆ ในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และบริเวณใกล้เคียงมีสภาพไม่แตกต่างกัน
 
กล่าวคือ มีกฎหมายผังเมือง  แต่ผู้รับผิดชอบ หรือมีส่วนเกี่ยวข้องไม่กำกับควบคุมให้เป็นไปตามกฎหมาย  โดยเฉพาะการถมที่เพื่อสร้างหมู่บ้านจัดสรร  อันกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงสัณฐานของโลก  คือ การขุดภูเขาเป็นลูกๆ มาถมที่ลุ่มต่ำในเขตเมืองและชานเมือง  สร้างสิ่งปลูกสร้างขัดขวางเส้นทางระบายน้ำทำให้เกิดอุทกภัยที่รุนแรงในหน้าน้ำ  สร้างความวิบัติแก่ชุมชนชนบท และชุมชนเมืองในทุกจังหวัดที่เคยอยู่ร่วมกับธรรมชาติตามฤดูกาลอย่างลงตัวมาหลายชั่วอายุคน
 
เป็นที่สังเกตว่า ปัจจุบันชื่อบ้านนามเมืองที่บ่งบอกถึงความเป็นที่สูงคือ มีคำว่า ควน โคก หรือดอนนำหน้า ส่วนใหญ่จะถูกน้ำท่วมหนักกว่าชุมชน หรือชื่อบ้านนามเมืองที่นำหน้าด้วยคำว่า คลอง ท่า หรือบ่อ แสดงให้เห็นว่า คนรุ่นหลังได้เปลี่ยนแปลงสัณฐานของโลก และสภาพธรรมชาติของชุมชนที่บรรพบุรุษเคยนิยามเอาไว้อย่างทั่วถึงแล้วจริงๆ
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น