xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าจากลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา (๕) : “พัทลุงชังกั้ง สงขลาหมัง ตรังยอน นครรุม” / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
 
คอลัมน์  :  คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
คำกล่าวที่บ่งบอกถึงบุคลิกลักษณะ  นิสัยใจคอของคนในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา  ๔  จังหวัด  ได้แก่  พัทลุง  สงขลา  ตรัง และนครศรีธรรมราช  ซึ่งเป็น “หัวเมืองบังคับยาก” มาแต่โบราณ  มีว่า
 
“พัทลุงชังกั้ง  สงขลาหมัง  ตรังยอน  นครรุม”
 
“พัทลุงชังกั้ง”  คำว่า  “ชังกั้ง”  เป็นภาษาถิ่นใต้แปลว่า มุทะลุดุดัน หรือเกกมะเหรกเกเร  ไม่กลัวคน หรือไม่ลงคน  กล่าวกันว่า ที่พัทลุงมีอนุสาวรีย์นายชังกั้งปรากฏอยู่  แต่ต่อมามีคนทุบทำลายเพื่อไม่ให้ประชาชนเอาเยี่ยงอย่าง  พัทลุงจึงกลายเป็นดินแดนของคนนักเลงมาตั้งแต่สมัยก่อน  ดังตัวอย่างชุมโจรบ้านดอนทรายของ รุ่ง ดอนทราย และดำ หัวแพร  สืบเนื่องมาจนถึงสมัยการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่มีการปราบปรามโดยโหดร้ายของยุทธการ “ถีบลงเขาเผาถังแดง” แถบเทือกเขาบรรทัดที่ชาวพัทลุง  ต้องสังเวยชีวิตนับสามสี่พันศพ  จนมีการสร้างอนุสาวรีย์แห่งการต่อสู่ไว้ที่บ้านคลองหมวย  อำเภอกงหราในปัจจุบัน
 
“สงขลาหมัง”  คำว่า  “หมัง”  เป็นภาษาถิ่นใต้แปลว่า  ละล้าละลัง  ไม่กล้าตัดสินใจ หรือลังเล  ถ้าแปลให้ดูดีหมายถึง มีความสุขมรอบคอบรอบด้าน  คนสงขลาส่วนใหญ่เป็นคนเรียบร้อย  สุภาพชน  เพราะสงขลาเป็นเมืองศูนย์กลางทางการเมืองการปกครอง  ศูนย์กลางการคมนาคม  ศูนย์กลางเศรษฐกิจการค้าขาย  และศูนย์กลางของการศึกษา หรือเมืองมหาวิทยาลัย  คนสงขลายกย่องคนมีความรู้  ความสามารถ  เช่น  พล.อ.เปรม  ติณสูลานนท์  มือปราบโจรอย่าง นายพ่วง  สุวรรณรัตน์  นายเจริญจิต  ณ  สงขลา  เป็นต้น
 
“ตรังยอน”  คำว่า “ยอน”  เป็นภาษาถิ่นใต้  แปลว่า  ยุ  แหย่  มีคำว่า “กินยอน” เป็นสำนวน  หมายถึง  บ้ายอ หรือยุได้ผล  แปลให้เป็นมงคลคือ การให้กำลังใจ  คนตรังจึงเป็นคนที่จะอยู่รอดปลอดภัยที่สุดในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน  เพราะชอบเป็นผู้ให้กำลังใจคนอื่นอยู่ห่างๆ  ไม่มุทะลุดุดันแบบคนพัทลุง  และไม่กลัวๆ กล้าๆ แบบคนสงขลา  จึงไม่แปลกที่วีรบุรุษของคนตรังจะเป็นคนที่ฉลาด  ไม่เสียเปรียบใคร  ไม่เลี้ยงกาแฟใคร  มีคารมคมคายที่เรียกว่า “มีดโกนอาบน้ำผึ้ง”
 
“นครรุม”  คำว่า “รุม”  เป็นภาษาถิ่นใต้หมายถึง  ช่วยกันกระทำโดยคนหลายๆ คน  แต่ต้องเป็นฝ่ายที่มีมากกว่าอีกฝ่าย  แปลให้เป็นมงคลหมายถึง  รักพวกรักพ้อง  แต่ต้องได้เปรียบด้วยจำนวน  หรือโอกาสที่จะชนะ  เช่น  กรณีจลาจลเผาจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช สมัย นายคล้าย  จิตพิทักษ์  คนพัทลุง เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช  ปี  ๒๕๑๘  ปีนั้นเกิดอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่  ชาวนครศรีธรรมราช ประสบความเดือดร้อน  มีคนบริจาคข้าวสารอาหรแห้ง และไข่เป็ดให้มากมาย  แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ดำเนินการแจกของไม่ทันใจผู้เดือดร้อน  เกิดการชุมนุมประท้วงขับไล่ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช  โดยการบุกเผาจวน หรือบ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช  และตั้งฉายาให้ผู้ว่าฯ เป็น  “นายคล้ายไข่เป็ด”  และกรณีการบุกเผาโรงพัก  ตลอดจนกองบัญชาการตำรวจนครศรีธรรมราช  กรณีไม่พอใจที่ถูกตำรวจตั้งด่านจับรถแบบรีดไถประชาชนเมื่อไม่นานมานี้  ล้วนเป็นการกระทำในลักษณะรุมกันกระทำโดยชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชทั้งสิ้น
 
“พัทลุงชังกั้ง  สงขลาหมัง  ตรังยอน  นครรุม”  จึงมีความหมายว่า  คนพัทลุงเป็นคนมีนิสัยมุทะลุดุดัน  ไม่ยอมคน  คนสงขลาเป็นคนมีนิสัยสุขุมรอบคอบ  คนตรังชอบยุยงส่งเสริมคนอื่นมากกว่าจะทำเอง  ส่วนคนนครศรีธรรมราชก็เป็นคนสู้คน  แต่ต้องได้เปรียบ หรือมีพรรคพวกมากกว่า
 
ปัจจุบัน ด้วยอิทธิพลการสื่อสารไร้พรมแดน  และลัทธิบริโภคนิยม  คนทั่วโลกมีอุปนิสัยใจคอไม่ค่อยแตกต่างกันสักเท่าไหร่  นั่นคือ  ต่างคนต่างอยู่  พึ่งพาเทคโนโลยีการสื่อสาร และการคมนาคม  ห่างเหินศิลปวัฒนธรรม  ขนบธรรมเนียมประเพณี  ไม่เคร่งครัดในการปฏิบัติตามศาสนธรรม  ศาสนพิธี  ให้ความสำคัญต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่าคุณค่าทางสังคม  นิยมด้านวัตถุมากกว่าด้านจิตใจ
 
ความมีอัตลักษณ์ประจำถิ่น หรือปะจำชาติของคนในสังคมปัจจุบัน  จึงไม่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์อย่างสมัยก่อน  เพราะมันได้ถูกกลืนกลายด้วยการบ่าไหลของวัฒนธรรมพลัดถิ่นจากแดนไกล  แทรกซึมเข้ามาในวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนในท้องถิ่น  ผสมผสานเป็นวัฒนธรรมพันทาง  แทบไม่หลงเหลือวัฒนธรรมดั้งเดิมของบรรพชน
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น