xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าจากคาบสมุทรมลายู : “ปากของคนโง่ย่อมสร้างไม้เรียวเฆี่ยนหลังตนเองเสมอ” / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
 
คอลัมน์  :  คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
ในสถานการณ์ความขัดแย้งเรื่องการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ให้เป็น “ศูนย์กลางพลังงานโลก” และรองรับอุตสาหกรรมหลากหลายรูปแบบเหมือนเป็น “มาบตาพุด ๒” เราจะได้ยินคำพูดของผู้นำหลายคนทั้งในระดับท้องถิ่น และส่วนกลาง ทั้งนักปกครอง นักวิชาการ และนักฉวยโอกาสที่มีลักษณะ “สามหาว” และบ้าอำนาจ
 
จนทำให้นึกถึงสุภาษิตโบราณที่ว่า “ปากของคนโง่ย่อมสร้างไม้เรียวเฆี่ยนหลังตัวเองเสมอ” หรือที่นักเลงภาคใต้เคยกล่าวว่า “ปากฆ่าคอ ดอฆ่าเจ้า(ของ)”
 
ไม่ว่าจะเป็นคำพูดของหัวหน้าพรรคการเมืองที่ทรงอิทธิพลต่อชาวใต้ประเภทว่า เป็นพรรคการเมืองยอดนิยมมาตั้งแต่วันที่นายหัวคนใต้ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค และชูนโยบาย “สนับสนุนคนใต้เป็นนายกรัฐมนตรี” จนสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีสองสมัย และสร้างกระแสภาคนิยมจนค้างฟ้าจนถึงวันนี้ ขนาดกล่าวกันว่า “ส่งเสาไฟฟ้า หรือหลักกิโลลงสมัครก็ยังได้รับการเลือกตั้ง” ที่ว่า ทำไมไม่ช่วยคนใต้คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน และท่าเรือ
 
ท่านตอบอย่างหน้าตาเฉยว่า “เราไม่ใช่เอ็นจีโอ”
 
ทำให้คนใต้สงสัยว่า แล้วหน้าที่หลักของนักการเมือง และพรรคการเมืองอย่างพวกท่านทำอะไร ถ้าดูตามพฤตินัย หน้าที่หลักของพวกท่านคือ โชว์ตัวในงานทอดกฐิน  ถ่ายรูปกับแม่ยก  พ่อยกลงเฟซ  ยิ้มหวาน  จีบปากจีบคอพูดเท่ๆ ไปวันๆ โดยไม่มีประโยชน์อะไรต่อการแก้ปัญหาบ้านเมือง หรือการปฏิรูปประเทศใช่ไหม
 
พี่น้องประชาชนกำลังขับเคี่ยวกับนายทุนถ่านหินในคราบของรัฐบาล  ขับไล่นักการเมืองที่โกงชาติโกงแผ่นดิน  ร่วมกันต่อสู้เรียกร้องเพื่อสร้างระบบราชการ  ระบบการเมือง  ระบบเศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรมที่ดีงาม  แล้วท่านทำอะไร  นอกจากออกมากระแหนะกระแหนนักพัฒนาองค์กรเอกชนที่ทำหน้าที่มากกว่าพวกท่านหลาย ทั้งๆ ที่เขาไม่เคยเอ่ยอ้างว่า จะอาสาเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้แทนของพี่น้องประชาชน
 
ว่ากันว่า มีผู้ว่าราชการจังหวัดบางคนประกาศต่อสาธารณชนผ่านสื่อมวลชนว่า จะตัดไฟพวกที่ค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน  และหลังๆ มาถึงกับประกาศจะฆ่าให้ตายให้หมด  ถ้าเป็นความจริงตามที่ว่ากัน ก็น่าเป็นห่วงชื่อเสียง และอนาคตของท่านจะต้องมามัวหมอง เพราะคำพูดที่ไม่เป็นมงคลต่อใคร  โดยเฉพาะตัวท่านเอง  ทั้งๆ ที่หลายเรื่องท่านก็ทำให้หลายคนประทับใจ และเอาใจช่วย แต่หลายเรื่องท่านก็สร้างศัตรูโดยไม่จำเป็น
 
แต่จะอย่างไรก็ตาม ภาวนาว่าขอให้ข่าวลือที่ได้ยินมาไม่เป็นความจริงเถอะนะครับ เพื่อให้ความขัดแย้งทางความคิดความเห็นเกี่ยวชาติบ้านเมืองมันมีโอกาสยุติลงด้วยดี
 
ปัญหาความขัดแย้งที่ส่อเค้าว่า จะนำไปสู่ความรนแรงทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับชาติน่าจะมาจากหลายเหตุหลายปัจจัย  แต่ปัจจัยหลักน่าจะมาสังคมไทยขาดวัฒนธรรมและวิธีการประชาธิปไตยในการจัดการต่อความขัดแย้ง เพราะสังคมไทยเป็นสังคมอำนาจนิยม  ใช้แนวทางเผด็จการ โดยผู้มีอำนาจในการตัดสินปัญหาในลักษณะ “กูคือความถูกต้อง” ใครไม่เห็นด้วยกับกูคือ ศัตรู ที่จะต้องทำลายล้างอย่างแนวคิดของท่านผู้ว่าฯ นั่นแหละ
 
วัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยคือ การมีจิตใจแบบประชาธิปไตย  โดยมีทัศนคติ  ความเชื่อที่มีเหตุผล  มีการวิจารณ์  วิเคราะห์ และมองโลกในแง่ดี  เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการเมืองแบบมีส่วนร่วม ที่มีแบบแผนเป็นลักษณะเฉพาะตน โดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน  ประกอบด้วย
 
๑.การมีทัศนคติที่ดีต่อเพื่อนมนุษย์  ทั้งผู้ที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย  ทั้งที่รู้จักและไม่รู้จัก  ทั้งที่ให้อามิสสินจ้างและไม่ให้
 
๒.การมีทัศนคติว่า รัฐบาลเป็นเครื่องมือทางสังคม ที่สามารถตอบสนองความต้องการของแต่ละกลุ่มคนได้ ไม่ใช่เจ้านายของประชาชน  ไม่ใช่เครื่องมือของนายทุน  ไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของผู้ว่าฯ และนายทุน
 
๓.การมีความเชื่อว่า สิทธิและเสรีภาพเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ติดตัวมาพร้อมความเป็นมนุษย์  ไม่ใช่แล้วแต่ผู้ว่าฯ จะพอใจ หรือตำรวจจะอนุญาตให้มีได้ตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจจะให้มีได้
 
๔.การมีทัศนคติว่า ประชาชนสามารถล้มล้างรัฐบาลได้ ถ้าไม่ทำตามความประสงค์ของมวลมหาประชาชน  แต่ไปทำตามความต้องการของนายทุน  พ่อค้าถ่านหิน  หรือผู้ว่าฯ ที่ลุแก่อำนาจ ฯลฯ
 
ลักษณะบุคลิกภาพที่เป็นประชาธิปไตยคือ  ๑) มีความคิดเห็นเป็นของตนเอง  ๒) สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ๆ ได้  ๓) มีความรับผิดชอบในสิ่งที่ตนทำ  ๔) ไม่มีอคติต่อผู้มีความคิดเห็นแตกต่าง  ๕) ไม่กล่าวหาผู้อื่นโดยไม่มีเหตุผล  ๖) มองโลกในแง่ดี  ศรัทธา และมีความหวังต่อชีวิต และ ๗) ไม่ยอมก้มหัวให้แก่อำนาจบาตรใหญ่
 
เครื่องชี้วัดความเป็นประชาธิปไตย  ประกอบด้วย  ๑) คนมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม  ๒) คนมีจิตสำนึกประชาธิปไตย  ๓) คนมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรง  ๔) คนมีการตื่นตัวทางการเมือง เพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และ  ๕) คนมีวัฒนธรรมการต่อสู้เพื่อความชอบธรรม และโดยชอบธรรม
 
“เข้าใจยัง จำไว้นะ ทีหลังอย่าพูดอย่างนี้อีก”
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น