คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
ท่ามกลางกระแสความขัดแย้งทางความคิดเรื่องการพัฒนาภาคใต้ ระหว่างประชาชนคนใต้เจ้าของประเทศที่แท้จริง กับผู้นำประเทศ และนักเศรษฐศาสตร์ และนักบริหารจัดการเกรดซีที่ใกล้ชิดผู้มีอำนาจ ทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับชาติ มีเรื่อง “ตลกร้าย” ให้รับรู้รับฟังมากมาย ไม่ว่าจะเป็นนิทานโกหกเรื่อง “ถ่านหินสะอาด” ทั้งๆ ที่นักวิชาการ ผู้รู้เกี่ยวกับเรื่องถ่านหิน และพลังงานยืนยันว่า “ถ่านหินสะอาดไม่มีในโลก” เรื่องเกรดของถ่านหินไม่ได้เป็นตัวชี้วัดความสะอาด แต่เป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพในการให้พลังงานความร้อน หรือความสามารถในการเผาไหม้มากกว่า
นอกจากนั้น ยังมีนิทานโกหกเกี่ยวเรื่องความต้องการกระแสไฟฟ้าของภาคใต้ พลังงานหมุนเวียนที่จะเอามาทดแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีต้นทุน และความเสี่ยงน้อยกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นสิบๆ เท่า แต่กลับถูกรัฐบาล หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปฏิเสธโดยสิ้นเชิง
ที่น่าอับอายขายหน้าชาวโลกมากที่สุดคือ กระบวนการฉ้อฉลในการรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนเกี่ยวกับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ที่มีกระบวนการจัดการที่น่าอับอาย และไร้เกียรติ ขาดความน่าเชื่อถือโดยสิ้นเชิง ทั้งโดยลับ และเปิดเผย
การใช้วิธีการแจกของเพื่อล่อใจให้แก่คนที่ (ต้อง) เห็นด้วยต่อการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยมีข้าวสาร และเงิน หรือผลประโยชน์อื่นๆ เป็นเครื่องล่อใจ ในขณะที่คนที่คัดค้านนอกจากจะไม่ได้รับของแจก และเงินแล้ว ก็ยังไม่ได้รับเกียรติให้เข้าร่วมรับฟัง และแสดงความคิดเห็นในเวทีดังกล่าว โดยมีคำสั่งทั้งเปิดเผย และลับข่มขู่ต่างๆ นานา โดยอ้างความมั่นคง และความสงบเรียบร้อยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อการดูแลความสงบเรียบร้อย และสาธารณภัย
ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยต่อการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อำเภอเทพา ได้พยายามแสดงหลักการเหตุผล และข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์ และเสนอทางออกในการแก้ปัญหานี้ที่ดี และโดยสงบ สันติ แต่กลับได้รับการปฏิเสธความปรารถนาดี มิหนำซ้ำยังมีการกระทำที่เป็นการประกาศให้รู้ว่า “ไม่ไว้วางใจ” และ “ไม่เป็นมิตร” ต่อประชาชน หรือชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยต่อโครงการนี้
จากการกระทำทั้งหมดที่ยกตัวอย่าง และไม่ได้ยกตัวอย่าง แต่มีอยู่จริงในพื้นที่ภาคใต้ในขณะนี้ ทั้งฝั่งอันดามัน และฝั่งอ่าวไทย เป็นการประกาศ “สงครามประชาชน” ครั้งใหม่หลังจากการต่อสู้เคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.) สิ้นสุดยุติลงเมื่อประมาณสองทศวรรษที่แล้ว เป็นสงครามแย่งชิงทรัพยากรหน้าบ้าน เป็นสงครามแห่งศักดิ์ศรีระหว่างพี่น้องประชาชนที่ออกมาปกป้องพื้นที่ทำมาหากิน ปกป้องที่ฝังรกฝังราก และฝังศพของบรรพชน ที่มั่นสุดท้ายของตนและลูกหลานกับกลุ่มทุน และผู้กุมอำนาจรัฐที่กำลังใช้อำนาจไปเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรม โดยมีกฎหมาย และอำนาจจากนอกระบบการเมืองเป็นเครื่องมือแทนการยอมรับของพี่น้องประชาชน
เดิมพันในการต่อสู้ครั้งนี้คือ “ความสงบสุข” และ “ความอบอุ่นอาทร” ที่พี่น้องภาคใต้เคยมีมาหลายชั่วอายุคน แม้ว่าเศรษฐกิจจะไม่ดี และไม่มีใครรับผิดชอบดูแลปัญหาราคาพืชผลเศรษฐกิจสำคัญของท้องถิ่น ขอเพียงไม่เติมเชื้อไฟแห่งความขัดแย้งแตกแยกของพี่น้องในชุมชนให้มากไปกว่าที่เคยมีมา และมีอยู่แล้วจากการเลือกตั้งนานาชนิด และความรุนแรงในเหตุการณ์สามสี่จังหวัดภาคใต้ ก็เท่ากับ “คืนความสุข” ให้แก่พี่น้องประชาชนภาคใต้ โดยเฉพาะประชาชนพี่น้องในพื้นที่เป้าหมายของโครงการที่มีนักปกครอง และนักบริหารจัดการต่อนักเศรษฐศาสตร์เกรดซี ผู้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอำนาจรัฐ ต้องการแสวงหากำไรและผลประโยชน์บนซากชีวิต และคราบน้ำตาของพี่น้องประชาชน โดยไม่ให้เกียรติไม่สนใจไยดี ไม่รู้สึกรู้สาต่อชะตากรรม และความวิตกกังวลของเจ้าของบ้านเกิดเมืองนอน
นักการเมืองทุกระดับของภาคใต้ ทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับชาติ พึงสำเหนียกให้ดีว่า วันนี้พี่น้องชาวใต้กำลังจับตามองว่า ท่ามกลางสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน ท่ามกลางความเป็นความตาย บนเส้นทางการต่อสู้แบบหลังชนฝาของพี่น้องประชาชนในครั้งนี้ พวกท่านกำลังทำอะไรกันอยู่ ท่านยืนอยู่กับฝ่ายไหน ท่านคิดเห็นอย่างไรต่อชะตากรรมของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะสมาชิกพรรคการเมืองยอดนิยมขวัญใจของพี่น้องชาวภาคใต้ ท่านคิด และทำอะไรบ้างในสถานการณ์ความขัดแย้งเพื่อปกป้องมาตุภูมิของพี่น้องประชาชนของพวกท่านในครั้งนี้
ในส่วนของนักวิชาการ สถาบันทางการศึกษาทุกระดับ ทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐาน และอุดมศึกษา หรือมหาวิทยาลัย พวกท่านได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อแผ่นดินเกิดและพี่น้องประชาชนผู้เสียภาษีให้พวกท่านได้มีที่อยู่ที่กิน ที่เรียน และเสพสุขบนความยากลำบาก และทนทุกข์เวทนาของพี่น้องประชาชนเพื่อปกป้องหม้อข้าว สิ่งแวดล้อมที่สวยงาม และสังคมที่สงบสุขให้พวกท่านที่สถาปนาตัวเองว่าเป็น “ปัญญาชน” หรือ “คนชั้นกลางของประเทศ” ในขณะที่คน “ชนชั้นใต้ถุนของสังคม” กำลังขับเคี่ยวกับอำนาจที่ไม่เป็นธรรม และทุนสามานย์ ท่านทั้งหลายกำลังคิด และทำอะไรกันอยู่
สำหรับรัฐบาล และองค์กรสำคัญต่างๆ ที่มาจากการยึดอำนาจของ คสช.หลังวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ทั้งหลาย จงตระหนักว่าท่านมาจากความบาดเจ็บล้มตายของพี่น้องประชาชนที่ลุกขึ้นมาต่อต้านการใช้อำนาจรัฐที่อธรรม ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่กลับมองประชาชนที่ไม่เลือก และไม่ยอมรับการใช้อำนาจที่ขาดความรับผิดชอบเป็นศัตรู ท่านกำลังใช้ท่าที และมุมมองในการจัดการต่อประชาชนที่ไม่เห็นด้วยต่อพวกท่าน ในลักษณะเดียวกันกับรัฐบาลที่ท่านกล่าวหาเขาเพื่อความชอบธรรมในการยึดอำนาจ โดยอ้างว่าเพื่อ “ความสงบเรียบร้อย การขจัดความขัดแย้ง และการปฏิรูปประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์”
บัดนี้ พวกท่านที่มีบทบาทหน้าที่ในเวลาอันจำกัด ด้วยต้นทุนทางสังคมที่สูงมาก เพื่อแก้ปัญหาที่สั่งสมหมักหมมมายาวนานของชาติบ้านเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็น “ผู้ป่วยของอาเซียน” ท่านได้ทำสิ่งใดที่พอจะเรียกได้ว่าเป็นการ “ปฏิรูป” ประเทศไปสู่สิ่งที่ดีงามกว่าเดิม ด้วยวิธีการที่แตกต่างไปจากอำนาจรัฐเก่าแบบที่เคยมีมาตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ บ้าง พวกท่านยังมองประชาชนโง่เง่าเต่าตุ่น และพร้อมจะใส่ร้ายป้ายสี ข่มขู่ คุกคามได้เสมอ หากพวกเขาเหล่านั้นไม่เห็นด้วยต่อการใช้อำนาจอันไม่ชอบธรรมของท่านใช่ไหม
ในนามของพี่น้องประชาชนคนใต้ผู้รัก และหวงแหนแผ่นดินเกิด และไม่ได้มองบ้านเกิดเมืองนอนเป็นแค่พื้นที่สำหรับการลงทุน แต่มองมันในฐานะเป็นมาตุภูมิเป็นแดนเกิดที่อบอุ่น มากมายไปด้วยศิลปวัฒนธรรม และความรักสามัคคี ขอให้ใครก็ตามที่คิดจะเอาประโยชน์จากโครงการต่างๆ ของรัฐแต่ถ่ายเดียว หยุดการกระทำอันเป็นเงื่อนไขให้เกิดความแตกแยกเกลียดชัง ทั้งในส่วนของพี่น้องประชาชนด้วยกัน และพี่น้องประชาชนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐในท้องถิ่น ซึ่งก็คือเพื่อนพ้องน้องพี่ด้วยกันทั้งนั้น
จงใช้กระบวนการขับเคลื่อนในการแก้ปัญหาที่เคารพในเกียรติ ศักดิ์ศรีของกันและกัน โดยยึดมั่นในประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง หลีกเลี่ยงการบิดเบือนข้อมูล ใส่ร้ายป้ายสี และข่มขู่คุกคาม เพื่อสร้างวัฒนธรรมในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางความคิดความเห็นแบบสันติวิธี ขอให้เราอยู่กันในระบบนิเวศแบบ “มนุษยนิเวศ” ไม่ใช่ “เดรัจฉานนิเวศ” อย่างที่กำลังจะเป็น.