xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าจากคาบสมุทรมลายู : มองพฤติกรรม “ผู้ว่าฯ สงขลา” ผ่านคตินิยมดั้งเดิมของคนใต้ / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
 
คอลัมน์  :  คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
ข้าพเจ้ามีโอกาสรู้จักผู้ว่าฯ ที่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของคนใต้มาสองสามคน ที่มีบุคลิกนิสัยใจคอแตกต่างกันไป แต่ก็เป็นที่เล่าขานของคนในสังคม ทั้งสรรเสริญ และนินทาสาปแช่ง
 
บางคนก็เป็นนักปราบปรามโจรผู้ร้าย โดยเฉพาะโจรผู้ร้ายในลุ่มทะเลสาบสงขลา ตั้งแต่สมัยขุนโจรเกาะนางคำอย่าง เสือเหลาะ เสือทอก  เสือฮ่วนคลองรี หรือฮ่วน มะกาว (มาเก๊า) บางคนได้ชื่อว่าเป็นมือปราบอำมหิตยุคคอมมิวนิสต์แผ่ขยายลงมาในพื้นที่อำเภอฉวาง พิปูน นครศรีธรรมราช ถึงขนาดขุดหลุมข้างที่ว่าการอำเภอเอาสังกะสีปิดขังผู้ต้องหาคอมมิวนิสต์ไว้กลางแดดเดือนเมษายน
 
ผู้ว่าฯ บางคนก็เป็นสุภาพบุรุษคู่บารมีป๋าเปรม  เป็นลูกป๋าที่เป็นที่รักของคนสงขลาจนปัจจุบัน  ผู้ว่าฯ บางคนถึงลูกถึงคนตั้งแต่สมัยเป็นนายอำเภอ  เมื่อได้เป็นผู้ว่าฯ ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ก็ยังทำตัวเสมอต้นเสมอปลาย เป็นที่รักใครของประชาชน  แม้จะรู้ว่าระบบราชการไทย  “นายมักจะรักคนที่ชาวบ้านเกลียด และเกลียดคนที่ชาวบ้านรัก”  แต่ผู้ว่าฯ เหล่านี้ก็ยังทำตัวให้เป็นที่รักของชาวบ้าน และเป็นที่ไว้วางใจของนายมาโดยตลอด
 
ยกเว้นผู้ว่าฯ 2 คน คือ  อดีตผู้ว่าฯ นครศรีธรรมราชนักปราบคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นคนสงขลา (ทราบว่าบ้านเกิดอยู่แถวท่าหิน  อำเภอสทิงพระ) แต่ไปเกษียณราชการที่จังหวัดสุพรรณบุรี  กับผู้ว่าฯ สงขลาคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นคนสงขลาเช่นเดียวกัน
 
ถ้าดูจากบุคลิกภายนอกแบบผิวเผิน  ผู้ว่าฯ สงขลาคนปัจจุบันก็เป็นคนพูดจาโผงผาง  ถึงลูกถึงคน  เสียงดังฟังชัด  ไม่กลัวนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งครองใจคนปักษ์ใต้มาหลายสมัย  โดยเฉพาะแกนนำคนสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ในจังหวัดสงขลา  อุปนิสัยใจคอเป็นแบบฉบับนักเลงปักษ์ใต้เต็มรูปแบบ คือ สนิทสนมกับใครก็ด่าพ่อล่อแม่เป็นว่าเล่น  มีความกล้าหาญในหลายเรื่องที่ผู้ว่าฯ คนอื่นไม่กล้า
 
แต่ในขณะเดียวกัน  ผู้ว่าฯ คนนี้ก็กลายเป้าโจมตีของคนที่มีความคิดความเห็นแบบสมัยใหม่  โดยเฉพาะกระบวนการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาในประเด็นสาธารณะต่างๆ  เนื่องจากผู้ว่าฯ ไม่ค่อยรับฟังความคิดเห็นของประชาชน  มิหนำซ้ำยังออกมาท้าทาย  สวนกระแสต่อความต้องการของประชาชน  ชอบพูดแดกดัน ประชดประชัน
 
อันเป็นบุคลิกที่หลายฝ่ายมองว่า “หลงยุค” หรือ “ผิดกาลเทศะ”  ขาดวุฒิภาวะในการเป็นนักปกครองร่วมสมัย
 
ยิ่งใกล้วันเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้  ผู้ว่าฯ ยิ่งสร้างความบาดหมางให้เกิดขึ้นแก่พี่น้องประชาชนชาวจังหวัดสงขลา จน  ถึงขั้นฟ้องร้องศาลปกครองให้เข้ามาระงับยับยั้งการดำเนินการแก้ปัญหาการกัดเซาะชาดหาดสมิหลาอย่างผิดหลักวิชาการ โดยไม่ฟังเสียงทัดทานของประชาชน  แทนที่ผู้ว่าฯ จะอ่อนข้อให้แก่ชาวบ้าน  กลับท้าทายต่างๆ นานา
 
ขณะที่หน่วยงานทางราชการที่เกี่ยวข้องต่อการพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อมต่างเห็นดีเห็นงามไปตามผู้ว่าฯ  ตามธรรมเนียมวัฒนธรรมข้าราชการไทย  ประเภทที่เรียกกันว่า “ดีครับนาย  ได้ครับผม  เหมาะสมครับท่าน”
 
หลายคนเสียดายที่ผู้ว่าฯ คนสงขลา น่าจะทิ้งทวนชีวิตราชการ  โดยการสร้างวีรกรรมให้เกิดความประทับใจในการแก้ปัญหาบางเรื่องของคนสงขลาที่ไม่เคยมีผู้ว่าฯ คนไหนทำได้  เช่น  การพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา  การยกเลิกการต่ออายุสัมปทานเขาคูหา  อำเภอรัตภูมิ  การพัฒนาสงขลาเป็นมาบตาพุดแหล่งที่ 2 โดยมีโครงการชุดต่างๆ มาลงในพื้นที่อันเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหาร และการท่องเที่ยวของภาคใต้  เป็นต้น
 
แต่ผู้ว่าฯ สงขลา กลับตัดสินใจทำในทางตรงกันข้าม  จนสร้างความเคียดแค้นชิงชังให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนไปโดยไม่จำเป็น
 
ท่าทีที่ผู้ว่าฯ ใช้ในการเผชิญหน้าต่อความขัดแย้งทางความคิดที่เห็นต่างกันในการพัฒนาจังหวัดสงขลา และการแก้ปัญหาทรัพยากรหาดทราย อันเป็นทรัพยากรคู่บ้านคู่เมืองสงขลา  เป็นท่าทีที่ขาดวุฒิภาวะอย่างยิ่ง
 
โดยเฉพาะเมื่อต้องมาเผชิญหน้าต่อเยาวชน ยิ่งสำแดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างนักปกครองในระบบอำนาจนิยม  สังคมอุปถัมภ์ที่ใกล้เกษียณอายุราชการ  กับเยาวชนที่มีพื้นฐานมาจากสังคมแห่งการเรียนรู้ และถูกปลูกฝังมาให้มีจิตสำนึกสาธารณะ โดยไม่เคยผ่านการทำหน้าที่รักษากฎหมาย และรับผิดชอบความเป็นอยู่ของประชาชนในสังคมโดยตรง  แต่กลับมีวิสัยทัศน์ที่น่าศรัทธาเชื่อถือกว่านักปกครองอาวุโสหลายเท่า
 
นี่น่าจะเป็นภาพฟ้องถึงความล้มเหลวของระบบราชการไทย โดยเฉพาะราชการส่วนภูมิภาคอีกภาพหนึ่งอย่างปฏิเสธได้ยาก
 
ในความเป็นจริง  คนสงขลา เป็นคนสุภาพเรียบร้อย  มีเหตุผล  ไม่ดื้อรั้นก้าวร้าว  โดยเฉพาะกับผู้หลักผู้ใหญ่ที่วางตัวได้อย่างเหมาะสม  แม้ในสมัยก่อนจะมีนักปกครองเป็นคนต่างด้าวท้าวต่างแดน  เช่น  เจ้าเมืองที่เป็นมุสลิมนับถือศาสนาอิสลาม  สมัยตั้งเมืองที่สงขลาเมืองเก่าหัวเขาแดง  หรือสมัยเจ้าเมืองเป็นจีนเมื่อย้ายเมืองมายังสงขลาฝั่งบ่อยาง
 
แต่หากเจ้าเมือง หรือผู้มีอำนาจขาดความเป็นธรรม และไม่มีวุฒิภาวะในการนำ  ชาวสงขลาก็พร้อมที่จะสั่งสอน หรือให้บทเรียนแก่นักปกครองเหล่านี้ในรูปแบบต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นการใช้วัฒนธรรมคนนักเลง หรือวัฒนธรรมโจร  ดังที่เคยเกิดขึ้นในชุมชนต่างๆ ในลุ่มทะเลสาบสงขลา  หรือชุมชนหัวเขาแดง  ที่มักจะใช้วิธีดื้อแพ่งต่ออำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรม  ดังที่นักปกครองทุกคน โดยเฉพาะระดับผู้ว่าฯ ที่มาดูแลจังหวัดสงขลาต่างก็ทราบดีอยู่แล้ว
 
ทราบมาว่า ชีวิตหลังเกษียณราชการของผู้ว่าฯ ท่านนี้คือ สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.สรรหา ซึ่งไม่จำเป็นต้องพึ่งความเชื่อถือศรัทธาของประชาชน แต่อาศัยความเห็นชอบของกรรมการสรรหาเป็นสำคัญ ดังนั้น ถ้าเรื่องนี้เป็นความจริง และเป็นไปได้ สิ่งที่น่าวิตกกว่าความขัดแย้งในวันนี้คือ ความยึดโยงระหว่างนักการเมืองกับประชาชนของเขาภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ของคนสงขลาน่าจะมีปัญหาตั้งแต่เริ่มต้นเสียแล้ว
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น