xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าจากลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา : กึ่งศตวรรษชุมชนตะเครียะ ทะเลเปลี่ยนไป ชุมชนเปลี่ยนแปลง (๒) / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
 
คอลัมน์  :  คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
สภาพการผลิต เกษตรกรมีประสบการณ์ในการปลูกข้าว  แต่เมื่อประมาณ  10  กว่าปีที่ผ่านมา (2546) เกษตรกรหันมาทำกิจกรรมการเกษตรที่หลากหลาย และมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ  ดังนี้  การปลูกข้าว  พื้นที่ทำนาทั้งหมด  16,284  ไร่  คิดเป็นร้อยละ  94.8  ของพื้นที่เกษตรทั้งหมด  ทำนาปีละ  2  ครั้ง  พันธุ์ข้าวที่ปลูกร้อยละ  100  ใช้พันธุ์ชัยนาท 1,  ปทุมธานี 1, สุพรรณบุรี 1  ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตทั้งการใช้สารเคมีป้องกัน และกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยเคมี  แต่ยังปฏิบัติไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ  โดยเฉพาะการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช  เกษตรกรนิยมใช้ทุกครั้งที่มีศัตรูพืชระบาด  โดยไม่มีการสำรวจศัตรูพืชก่อนว่า มีการระบาดถึงระดับแล้วยัง  การใช้ปุ๋ยนิยมใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงการปรับโครงสร้างของดินโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี
 
ลักษณะวิธีการทำนาของเกษตรกรทั้งหมดเป็นการทำนาน้ำตม เพราะพื้นที่ทำนาทั้งหมดอยู่ในเขตชลประทานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาระโนด-กระแสสินธุ์  เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนสิงหาคม-ตุลาคม และเก็บเกี่ยวช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม  ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ  625 กก./ไร่  สาเหตุที่หันมาใช้พันธุ์ข้าวส่งเสริมเพราะมีผลผลิตสูง และรัฐบาลให้การสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ
 
การทำไร่นาสวนผสม  ปรับพื้นที่เป็นร่องสวนเพื่อทำไร่นาสวนผสมจำนวน  89  ราย  พื้นที่  231  ไร่  ได้รับงบประมาณการปรับพื้นที่จากหน่วยงานราชการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2536  คิดเป็นร้อยละ  13  ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งตำบล  แปลงไร่นาสวนผสมส่วนใหญ่ปลูกไม้ผล  ได้แก่  ส้มเขียวหวาน  ฝรั่ง  มะม่วง  กระท้อน  มะพร้าว  ส้มโอ  ในท้องร่องเลี้ยงปลากินพืช  ปลาธรรมชาติ  ผลผลิตบริโภคในครัวเรือนเหลือขายเป็นรายได้เสริม  สาเหตุที่ปรับเป็นไร่นาสวนผสมเพราะ  1) มีงานทำอย่างต่อเนื่องทั้งปี  2) มีรายได้ตลอดปี  3) หน่วยงานราชการให้การสนับสนุนในการขุดร่องสวน และปัจจัยต่างๆ  4) ลดการเสี่ยงผลผลิตล้นตลาด และ  5) ผลตอบแทนสูงกว่าการทำนา
 
ปลูกพืชผัก  ปลูกตามคันร่องแปลงไร่นาสวนผสม  ปลูกพริก  บวบ  กะหล่ำดอก  คะน้า  ผักกวางตุ้ง  มะเขือเปราะ  มะระ  ถั่วฝักยาว และแตงกวา  พื้นที่  55  ไร่  เกษตรกร  52  ราย  มีแนวโน้มจะขยายมากขึ้น เพราะสามารถให้ผลตอบแทนระยะสั้น และเลือกปลูกได้ตามความต้องการของตลาด  จำหน่ายพ่อค้าที่มารับซื้อในแปลง  ราคาบางครั้งก็ตกต่ำ
 
การเลี้ยงปศุสัตว์  เลี้ยงโคพื้นเมือง และโคลูกผสมเฉลี่ยรายละ  3.9  ตัว  เลี้ยงตามธรรมชาติ  กินหญ้าตามท้องไร่ท้องนา  เลี้ยงสัตว์ปีก  ได้แก่  ไก่พื้นเมือง  เป็ดเทศ และเป็ดไข่  เพื่อบริโภคในครัวเรือน  เลี้ยงสุกร
 
การประมง  เลี้ยงในบ่อดิน  ในร่องสวน  ไร่นาสวนผสม  กระชัง และขุดบ่อล่อปลาตามธรรมชาติ  ปลาดุก  ปลานิล  ปลาตะเพียน  ปลายี่สก และปลาหมอไทย  บริโภคในครัวเรือนเหลือขายเป็นรายได้พิเศษ
 
ปัญหาใหญ่ของชุมชน  ประกอบด้วย  1) ปัญหาการมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพร้อยละ  87.88  ของครัวเรือนเกษตรกรทั้งหมด  ครัวเรือนเกษตรกรเป็นหนี้สินเฉลี่ยสูงถึง  50,000  บาท/ครัวเรือน  2) ปัญหาขาดแหล่งพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ในชุมชน  ต้องหาซื้อจากต่างถิ่นมีต้นทุนสูงและไม่เพียงพอต่อความต้องการ  3) ปัญหาขาดแหล่งน้ำเพื่อการผลิตไม่สามารถพัฒนาอาชีพของตนเองอย่างยั่งยืนได้
 
การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของชุมชนตะเครียะ
 
วิถีการผลิตของชุมชนตะเครียะ ก่อนมีชลประทาน หรือโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาระโนด-กระแสสินธุ์ ที่เปิดดำเนินการสูบน้ำเมื่อ พ.ศ.2522  เกี่ยวข้องสัมพันธ์ต่อการทำนาน้ำฟ้า หรือทำนาตามธรรมชาติของฤดูกาล  กระบวนการผลิตเริ่มจากการไถด้วยแรงงานคน และสัตว์ในครอบครัว  ทำนาหว่าน และนาดำ  ใช้พันธุ์ข้าวพื้นเมือง  ได้แก่  นางฝ้าย  บัวซ้อน  นางขาว  ฯลฯ  ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี  ใช้มายาหรือปุ๋ยคอก และขี้ค้างคาว  ไม่มีค่าใช้จ่าย  ศัตรูพืชคือ หนู  นกกระจาบ  ใช้วิธีกำจัดแบบธรรมชาติ หรือภูมิปัญญาชาวบ้าน  วัตถุประสงค์ของการปลูกข้าวคือ ไว้กินในครัวเรือน  ขายเท่าที่จำเป็น  พ่อค้าแม่ค้าที่ซื้อข้าวคือ ครอบครัวคนจีน  เจ้าของโรงสีในชุมชน  บรรทุกเรือชักลากไปขายที่ระโนด และสงขลา (เนื่อม สังข์สวรรณ.2557)
 
การทำนาในยุคก่อนมีต้นทุนในการผลิตต่ำ เพราะอาศัยแรงงานในครัวเรือนคือ แรงงานคน และแรงงานสัตว์คือ วัว  ควาย  ไม่มีค่าจ้างแรงงานทั้งทุกขั้นตอน  ไม่มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าปุ๋ย  ค่ายา  สารเคมี  ค่าขนส่งและค่าพันธุ์ข้าว และเป็นการผลิตเพื่อการบริโภคในครัวเรือน ไม่ใช่ผลิตเพื่อการขาย  จึงไม่ต้องพึ่งพาสถาบันการเงิน  เช่น  ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  สหกรณ์การเกษตรอย่างเช่นปัจจุบัน จึงไม่มีปัญหาหนี้สินจากการทำนา
 
ต่อมา ประมาณทศวรรษ  2510  กระบวนการผลิตเริ่มเปลี่ยนแปลง โดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่คือ เครื่องจักรกลทางการเกษตร  เช่น  รถไถเดินตาม  รถแทรกเตอร์ไถนา  รถเกี่ยวข้าว  ฯลฯ  มาใช้แทนแรงงานคน และสัตว์  รถไถนาคันแรกคือ รถของผู้ใหญ่บ้านจวน  ศิรินุพงศ์  บิดาของนายสุรใจ  ศิรินุพงศ์  อดีต ส.ส.และ ส.ว.จังหวัดสงขลา  ต่อมามีรถแทรกเตอร์ของนายเทพ บ้านโคกท่อม  รถของชาวบ้านนาจักร   ตำบลแดนสงวน  รถของกำนันใจ  แกล้วทนงค์  นายประเสริฐ  แกล้วทนงค์  กำนันสุชล  แกล้วทนงค์  ฯลฯ  ปัจจุบันชุมชนตะเครียะมีปัจจัยการผลิตเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการเกษตร  ดังนี้  รถเก็บเกี่ยว  20  คัน  รถไถเดินตาม  865  คัน  เครื่องสูบน้ำ  110  เครื่อง  เครื่องนวดข้าว  96  เครื่อง  รถแทรกเตอร์  9  คัน  เครื่องพ่นสารเคมี  169  เครื่อง  โรงสี  14  โรง (สำนักงานเกษตรอำเภอระโนด.  2554 : 18)
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น