คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
--------------------------------------------------------------------------------
สังคมไทยกำลังเผชิญหน้าต่อความคาดหวังจากการร่างกติการ่วมที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญ” ว่าจะได้รับการยอมรับอย่างท่วมท้น หรือสูสี หรือไม่ได้รับการยอมรับ ซึ่งไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ย่อมนำพาสังคมไทย พร้อมด้วยความขัดแย้งแตกแยกไปไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ขึ้นอยู่กับว่าปรากฏการณ์นั้นจะไปเข้าทางใคร หรือใครเป็นคนอธิบายปรากฏการณ์ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ตน และพวกพ้องที่มีจุดยืน และเป้าหมายร่วมกัน
สำหรับผู้เขียนมองปรากฏการณ์นี้ไปที่บริบทอื่นๆ ทางสังคมด้วย และมองว่าทั้งรูปแบบและเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ เป็นเพียงส่วนประกอบย่อยของความอยู่รอดของสังคมไทย ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว เพราะปรากฏการณ์การรัฐประหารสิบกว่าครั้งหลังสงครามเย็นสะท้อนให้เห็นว่า แม้ว่าเส้นทางสู่ความเป็นประชาธิปไตยของนักเลือกตั้งชั้นต่ำจะล้มเหลวไม่เป็นท่า แต่การรัฐประหารก็ไม่ใช่ทางออกที่ดีของปัญหานี้
สังคมทุกสังคมประกอบด้วยคนที่มีความหลากหลาย ทั้งปูมหลัง และจินตนาการ จึงยากที่จะสร้างกติการ่วมที่เป็นที่ยอมรับประทับใจของทุกฝ่ายได้ และรัฐธรรมนูญที่ไม่ตอบสนองความต้องการของกล่มผลประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเลย ย่อมยากที่จะอยู่อย่างยืนยาวในสังคมไทย และสังคมโลกได้
กฎหมายเป็นผลิตผลของคนในสังคม มันถูกเขียนขึ้นโดยคน บังคับใช้โดยคน และบังคับใช้กับคน แน่นอนย่อมเป็นคุณ และเป็นโทษกับแต่ละกลุ่มผลประโยชน์แตกต่างกันไป ธรรมชาติของคนเขียนกฎหมายคือ เขียนเข้าข้างตน และสังคมที่ตนเองคุ้นเคย ผู้บังคับใช้กฎหมายก็เป็นนักตีความ และหาช่องว่างของกฎหมายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของคน เช่นเดียวกับผู้ถูกบังคับใช้กฎหมาย หากเกิดผลดีก็ชื่นชมว่า ยุติธรรม แต่หากเกิดผลร้ายก็หาว่า อยุติธรรม สองมาตรฐาน ก็ว่ากันไป ตราบใดที่สังคมยังมีความเหลื่อมล้ำ และเป็นสังคมอำนาจนิยม-อุปถัมภ์
โจทย์ใหญ่ของสังคมไทย ที่ทั้งใหญ่ และยากที่จะฝ่าข้ามในปัจจุบันคือ “ความเหลื่อมล้ำและความแตกแยก” ที่รัฐธรรมนูญกี่ร้อยพันมาตราก็ไม่อาจจะเยียวยาได้ ถ้าตราบใดที่สังคมไทยไม่เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมทางความคิด ไม่มีพลังทางสังคมที่มากพอ และไม่มีกติกาที่ดีที่ยอมรับกันได้มากที่สุดจากทุกฝ่าย (ประจักษ์ ก้องกีรติ. 2559 : 13)
ประเทศไทยมีประสบการณ์เกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับในสองสามทศวรรษอันใกล้คือ ปี 2540 ภายหลังเกิดเหตุการณ์ รสช. หรือพฤษภาทมิฬ โจทย์ของสังคมไทยตอนนั้นคือ การกระจายอำนาจ หรือการคืนอำนาจ สิทธิเสรีภาพของประชาชน กระบวนการตรวจสอบ กระบวนการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และเที่ยงธรรม ผ่านกระบวนการธรรมาภิบาล เราจึงได้มาซึ่ง “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ที่ยกร่างโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งกันเองของประชาชน และผู้มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับกฎหมายและการเมืองการปกครอง จำนวน 99 คน ผ่านกระบวนการประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวาง แม้จะไม่ทั่วถึงก็ตาม
ปี 2550 การยกร่างรัฐธรรมนูญหลังเหตุการณ์รัฐประหารเดือนกันยายน 2549 กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใกล้เคียงกับรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ที่สำคัญคือ มีการลงประชามติจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เนื้อหาส่วนใหญ่ได้มาจากรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นหลัก แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็อายุสั้นกว่ารัฐธรรมนูญ 2540 นิดหน่อย
ปี 2558-2559 มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สองครั้ง ครั้งแรกตกเวทีประวัติศาสตร์ไปโดย สปช.ไม่รับรอง จึงต้องมาถึงวาระของร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังจะลงประชามติในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ โดยโจทย์สำคัญของสังคมไทยในขณะนี้คือ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม การเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชัน ความขัดแย้งแตกแยกทางสังคม การปฏิรูปบ้านเมืองในทุกด้าน การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ และเที่ยงธรรม
โดยภาพรวมในสังคมไทย ผู้เขียนมีความคิด และความเชื่อโดยส่วนตัวว่า ปัญหาใหญ่ไม่ได้อยู่ที่ความไม่สมประกอบของรัฐธรรมนูญเป็นด้านหลัก แต่ปัญหาใหญ่มันอยู่ที่ความไม่สมประกอบของสังคมไทยเป็นสำคัญ สังคมไทยมีลักษณะบางด้านที่เป็นปฏิปักษ์กับระบอบประชาธิปไตย หากไม่ปรับพื้นฐานทางสังคมให้เอื้อต่อวัฒนธรรมประชาธิปไตย ก็ยากที่จะข้ามพ้นอุปสรรคปัญหานี้ไปได้
ประการแรก สังคมไทยเป็นสังคมที่สอนให้เชื่อ และจำ โดยใช้ความรู้สึกของข้อมูล (data) มากกว่าสอนให้คิดพิจารณา แล้วตัดสินใจบนพื้นฐานของความรู้ (Knowledge) ทั้งในระดับสังคมครอบครัว และสังคมโดยทั่วไป
ประการที่สอง สังคมไทยสอนให้เคารพผู้อาวุโส ความเป็นผู้ชาย ผู้มีพระคุณ ฯลฯ ใครไม่ดูแลเอาใจใส่ หรือใช้กติกาส่วนรวมตัดสินคนเหล่านี้ ผู้นั้นได้ชื่อว่าเป็นคนเนรคุณ ไม่รู้คุณคน จึงต้องละเมิดกติกาเพื่อแสดงความกตัญญูตามค่านิยมของสังคม ซึ่งขัดต่อหลักการในระบอบประชาธิปไตย
ประการที่สาม คนในสังคมไทยใช้ระบบเส้นสาย เครือญาติ รุ่นพี่รุ่นน้อง หรือระบบอุปถัมภ์ ในการพิจารณาให้การสนับสนุนให้มีความก้าวหน้า ไม่ได้ใช้ระบบคุณธรรม หรือความสามารถในการพิจาณาให้แต่ละคนมีความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงาน ไม่เว้นแม้แต่ในวงการมหาวิทยาลัย และวงการสงฆ์ และประการอื่นๆ อีกมากมายหลายประการ
เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของโจทย์การเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย ที่รัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียวไม่อาจจะตอบโจทย์นี้ได้ และหากเป็นอย่างที่ว่า เราก็จะวนเวียนอยู่ในวังวนนี้ตลอดไป เช่นที่ผู้เขียนเห็นปรากฏการณ์ การรัฐประหาร-การร่างรัฐธรรมนูญ-การเลือกตั้ง-ความขัดแย้ง-รัฐประหาร …วนเวียนเป็นเขาวงกตอยู่จนทุกวันนี้