xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าจากลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา : กึ่งศตวรรษชุมชนตะเครียะ ทะเลเปลี่ยนไป ชุมชนเปลี่ยนแปลง (7) / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ครูชบ ยอดแก้ว และ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์
 
คอลัมน์  :  คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
“อุบล  อยู่หว้า” ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน รู้สึกแปลกใจเมื่อรู้ว่าทีมเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาล คสช.จะเอาเงินลงไปแจกจ่ายในกองทนหมู่บ้านอีกกว่า  5.9  หมื่นล้านบาท  เนื่องจากที่ผ่านมา กองทุนหมู่บ้านส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ผล  มีหมู่บ้านน้อยมากที่เข้มแข็งพอจะใช้เงิน  1  ล้านบาทได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และปัจจุบัน หมู่บ้านที่เข้มแข็งช่วยเหลือตัวเองได้ก็ไม่ต้องการกู้ยืมเงินในลักษณะแบบนี้อีก ส่วนหมู่บ้าน หรือชุมชนที่มีปัญหาส่วนใหญ่เป็นหนี้กองทุนไม่สามารถหาเงินต้นมาใช้คืนได้  ต้องกู้ยืมเงินมาหมุนเวียนเพื่อให้ดูเหมือนว่าบัญชีของกองทุนหมู่บ้านนั้นยังดูดีอยู่
 
“สงสัยอยู่ว่ามีชาวบ้านเยอะแค่ไหนที่ไปเรียกร้องเงินกองทุน  เพราะเวลานี้กลุ่มได้ประโยชน์มี  2  พวก คือ พวกนายทุนเงินกู้ หรือกรรมการหมู่บ้านที่หารายได้จากการปล่อยดอกร้อยละ  3  ต่อเดือนให้ชาวบ้านกู้มาเติมในกองทุน ทำให้ดูเหมือนใช้เงินคืนแล้วกู้ใหม่  แต่จริงๆ เป็นแค่จ่ายดอกเบี้ยเท่านั้น ส่วนอีกพวกหนึ่งคือ พวกบริษัทผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค   เพราะเงินก้อนใหม่หมู่บ้านละ  1  ล้านบาท อาจทำให้ชาวบ้านได้เงินก้อนจริง  แต่แบ่งกันแล้วเหลือไม่กี่หมื่นบาท  ทำได้แค่จับจ่ายซื้อของในห้าง หรือซูเปอร์มาร์เกต  สุดท้ายเงินก้อนนี้กลุ่มได้ประโยชน์เต็มๆ คือพวกบริษัทยักษ์ใหญ่ขายของกินของใช้  เงินไม่ได้ถูกเอาไปทำรวมกลุ่มกิจกรรมทำเกษตรยั่งยืน หรือพัฒนาอาชีพคนในชุมชนตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้”
 
ตัวแทนเกษตรกรข้างต้นเสนอความเห็นว่า  การจ่ายเงินแบบเหมาเข่งให้เท่าๆ กันเป็นการใช้เงินแบบไม่คิดเยอะ  ทั้งที่รัฐบาลควรทำการบ้านสำรวจว่าแต่ละชมชนมีความต้องการใช้เงินแตกต่างกันอย่างไร  มีประสิทธิภาพในการดูแลเงินก้อนใหม่มากน้อยแค่ไหน
 
ดร.นณริฏ  พิศลยบุตร  นักวิชาการด้านนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวม  สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)  แสดงความเห็นถึงการกำหนดไม่ให้นำเงินกองทุนหมู่บ้านก้อนใหม่ไปรีไฟแนนซ์ หรือใช้ชำระหนี้สินเดิมนั้น  เป็นไปได้ยากมาก  เพราะส่วนใหญ่ชาวบ้านยังเป็นหนี้สิน  การหมุนเงินใช้คืนหนี้เก่าเป็นเรื่องจำเป็น  โดยเฉพาะเงินกู้นอกระบบที่ดอกเบี้ยสูง
 
“ที่ผ่านมา ปัญหาสำคัญที่ไม่ค่อยมีการพูดถึงคือ  การทำบัญชีของชาวบ้าน  แม้เป็นเงินกู้จำนวนไม่กี่หมื่นบาท  แต่ถ้าไม่มีการทำงบการเงิน หรือบัญชีครัวเรือนก็เกิดปัญหาการชำระหนี้ไม่ได้อีก  จุดประสงค์ของกองทุนหมู่บ้านที่ผ่านมาคือ การส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอาชีพ  สร้างงานยั่งยืน  เงินก้อนใหม่นี้ควรกำหนดให้ความรู้ควบคู่ไปกับการให้เงิน” (ทีมข่าวรายงานพิเศษ  นสพ.คมชัดลึก.   2558 :  3)
 
ปัญหาด้านองค์กร คือ  เกษตรกรยังไม่เห็นความสำคัญในการรวมกลุ่ม  และกลุ่มองค์กรยังขาดความรู้ในการบริหารจัดการ  เนื่องจากชาวบ้านขาดประสบการณ์ในการทำงานเป็นกลุ่ม  การมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ  การแสดงความคิดเห็น  หรือระดมความคิดเห็นในที่ประชุม  และการทำงานเป็นทีม  ภาระในการบริหารจัดการจึงตกอยู่ที่ประธาน  รองประธาน  และเลขานุการของกลุ่ม
 
กลุ่มที่มีบทบาท และเป็นจริงมากที่สุดมีไม่กี่กลุ่ม   เช่น  กลุ่มกองทุนสวัสดิการชุมชน  หรือกลุ่มสัจจะวันละบาท  ซึ่งเน้นสร้างวินัยในการออมและการจัดสวัสดิการ  เกิด  แก่  เจ็บ  ตาย  ตั้งอยู่บนหลักการพึ่งตนเองของคนในชุมชน  เนื่องจากชาวบ้านเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดที่เข้าไม่ถึงระบบสวัสดิการของรัฐ  จึงมีแนวคิดที่จะช่วยเหลือกันตั้งแต่เกิดจนตาย  ด้วยการสมทบเงินวันละบาทหรือปีละ  365  บาท  จัดตั้งเป็นกองทุนสวัสดิการชุมชนระดับตำบล  จนเป็นนโยบายรัฐบาลในปี 2553  โดยรัฐบาลร่วมสมทบทุนจำนวน  365  บาท/คน/ปีด้วย 
 
กองทนสวัสดิการชมชนเป็นกองทนของชาวบ้าน  ชาวบ้านเป็นผู้คิด  ผู้บริหารจัดการสมทบ และรับประโยชน์  เป็นทั้งผู้ให้ที่มีคุณค่า และเป็นผู้รับที่มีศักดิ์ศรี  เพราะเป็นเงินที่ตัวเองร่วมสมทบด้วย  นอกจากจะจัดสวัสดิการสมาชิกแล้ว  ยังจัดสรรเงินส่วนหนึ่งเพื่อช่วยเหลือสังคมในยามยาก  เช่น  ภัยพิบัติ  ผู้ด้อยโอกาส  คนพิการ  ให้เข้าถึงสวัสดิการชุมชนเหมือนคนอื่นๆ  เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างชุมชนเข้มแข็ง  สร้างสังคมคุณธรรมอย่างเป็นรูปธรรม  เพราะชาวบ้านเป็นผู้คิด  ผู้กำหนดระเบียบ  โดยสร้างระบบบริหารเองทั้งหมด  เป็นแนวคิดของ  ดร.ป๋วย  อึ๊งภากรณ์  และเสริมต่อด้วย  ครูชบ  ยอดแก้ว
 
กลุ่มกองทุนหมู่บ้านเน้นเรื่องเงินทุนหมุนเวียน  หมู่บ้านที่มีกิจกรรมการรวมกลุ่มที่โดดเด่นที่สุด คือ  หมู่ที่  2  บ้านหนองถ้วย  หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง  ภายใต้การบริหารจัดการของ  ผู้ใหญ่บ้านไพฑูรย์  หนูจีน  และสมาชิก อบต.สายใจ  จีนพานิชย์  และทีมงาน  ส่วนใหญ่จะมีเครือข่ายภายนอกชมชนที่กว้างขวางสามารถจะดึงงบประมาณเข้าสู่หมู่บ้าน  ล่าสุด กำลังดำเนินการจัดทำโครงการโรงสีชุมชน  โครงการเสียงตามสาย และโครงการทำเหมืองฝายในวงเงินไม่เกิน  1,000,000  ล้านบาท  นอกจากนั้น ยังมีโครงการปลูกข้าวอินทรีย์เพื่อบริโภคเองในชุมชน  เป็นต้น
 
กลุ่มที่มีบทบาททางการเมืองส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเครือญาติ  ทั้งเครือญาติเกลอ  ดอง  และเครือญาติที่สืบสายโลหิต  และกลุ่มพรรคพวกเพื่อนฝูง  ส่วนกลุ่มอาชีพจะไม่ค่อยมีผลทางการเมืองอย่างเป็นรูปธรรม  แต่อาจจะมีผลบ้างในบางหมู่บ้านกับผู้นำบางคน  เช่น  กรณีบ้านหนองถ้วย ที่ทั้งผู้ใหญ่บ้าน และ ส.อบต.มีบทบาทโดดเด่นในการบริหารจัดการกลุ่มในชุมชน  แต่โดยทั่วไปกลุ่มเครือญาติ และพรรคพวกจะหนักแน่น และชัดเจนกว่า
 
“กลุ่มเครือญาติที่เข้มแข็งที่สุดของตะเครียะคือ  ตระกูลช่วยแท่น และตระกูลแกล้วทนงค์” (สุจิตต์  คงชู)
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น