xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าจากลุ่มทะเลสาบสงขลา : กึ่งศตวรรษชมชนตะเครียะ ทะเลเปลี่ยนไป ชุมชนเปลี่ยนแปลง (๔) / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ขอบคุณภาพจากอินเทอร์เน็ต
 
คอลัมน์  :  คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
2.การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งแห่งที่และโครงสร้างความรู้สึกของคนในชุมชนตะเครียะ            
 
นิธิ  เอียวศรีวงศ์ (2555 : 17-23)  กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงตำแหน่งแห่งที่ของคนในชนบทไว้ว่า  ความเปลี่ยนแปลงของชนบทไทยทั่วไปคือ ความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และสภาพแวดล้อมทางสังคมวัฒนธรรม เพราะรัฐบาลและทุนทำลาย  คนชนบทเริ่มอพยพเข้าเมืองเพื่อหางานทำ  หาที่เรียนให้ลูกหลาน  คนในเมืองส่วนใหญ่ในปัจจุบันคือ คนที่มาจากชนบท  แต่ยังมีญาติสนิทมิตรสหายอยู่ในชนบท จึงต้องไปมาหาสู่ในยามปกติ และตรุษสารท  สงกรานต์  มีงานประเพณี  งานบุญ หรืองานศพ  รายได้ส่วนหนึ่งของคนชนบทไม่ได้มาจากการเกษตรอย่างแต่ก่อน  แม้ว่าในภาคเกษตรกรรมก็ต้องพึ่งพาทุน  เทคโนโลยีจากในเมือง  สมาชิกในเกือบทุกครัวเรือนต้องไปหางานทำในเมือง  ส่งรายได้กลับบ้าน  แม้พื้นที่ส่วนใหญ่ถูกใช้ไปเพื่อการเกษตรกรรม  แต่ประชากรส่วนใหญ่ในชนบทไม่ได้อยู่ในภาคเกษตรกรรมอีกแล้ว  โดยเฉพาะร่นลูกรุ่นหลานที่ได้รับการศึกษาสูงกว่าภาคบังคับ
 
ชนบทกลายเป็นเมืองขนาดเล็กที่เชื่อมต่อกับเมืองขนาดใหญ่ ด้วยเส้นทางการคมนาคมที่สะดวกสบาย  การสื่อสารที่ทันสมัยเชื่อมชนบทเข้ากับเมือง และโลกภายนอกอย่างทั่วถึง  ชนบทอย่างตะเครียะดินแดนไกลปืนเที่ยงในอดีต  วันนี้จึงไม่ใช่ดินแดนสงบสุข  ผู้คนหน้าตาซื่อๆ  จริงใจ  มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  มีน้ำใจซึ่งกันและกัน  หรือมีความเป็นคนนักเลง  มือใหญ่ใจกว้าง  ฯลฯ  อย่างแต่ก่อนอีกแล้ว  แต่ตรงกันข้าม ชุมชนตะเครียะเต็มไปด้วยความวุ่นวาย  ปั่นป่วน  การย้ายถิ่น และย้ายสถานะ  ความคลอนแคลนของระเบียบแบบแผนทางสังคม  การดิ้นรนเอาตัวรอดถึงขั้นห้ำหั่น  ฟาดฟันกัน
 
ข้อมูลจากการสำรวจสภาวะเศรษฐกิจสังคมของครัวเรือนไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมา ชี้ว่า  ความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบทนั้นลดลงมาก  หากนิยามชนชั้นกลางว่าคือคนที่มีรายได้ระหว่าง  69-346  บาท/วัน หรือคนที่มีรายได้เหนือเส้นความยากจนถึง  346  บาท พบว่า ประเทศไทยมีชนชั้นกลางอยู่ประมาณ  12-15  ล้านครอบครัว หรือคิดเป็นร้อยละ  44.5-49.6  ล้านคนในปี พ.ศ. 2550  สัดส่วนกระจายตัวอยู่ในภาคกลาง และภาคอีสานมากกว่ากรุงเทพฯ ขณะที่ภาคเหนือ และภาคใต้สัดส่วนไม่เพิ่มมากกว่าปี พ.ศ.2529  เท่าไร  และชนชั้นกลางเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่นอกเขตเทศบาล หรือในชนบทมากกว่าในเมืองแล้ว (อภิชาต  สถิตนิรามัย.  2558 : 74-75)
 
จากรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนของชาวตะเครียะทั้งตำบล  ครัวเรือนละ  62,135  บาท/ปี  ครัวเรือนมีสมาชิกเฉลี่ยครัวเรือนละ  4.7  คน  ดังนั้น ชาวตะเครียะมีรายได้โดยเฉลี่ยต่อคนต่อเดือนประมาณ  1,101.68  บาท ซึ่งสูงกว่าเส้นความยากจน  ชาวตะเครียะจึงมีตำแหน่งแห่งที่อยู่ในกลุ่มชนชั้นกลาง หรือไม่ใช่คนยากจน
 
คนรวย หรือผู้มีอันจะกินในทัศนคติของคนตะเครียะในสมัยก่อนคือ คนที่มีที่นามาก  มีแรงงานในครัวเรือนทั้งแรงงานคน และแรงงานสัตว์มากพอไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น  แต่ปัจจุบันคนรวยคือคนที่มีเงิน  มีอาชีพเกี่ยวกับการรับเหมาก่อสร้าง  เป็นเจ้าของกิจการ หรือผู้ประกอบการทางธุรกิจ  เป็นเจ้าของเทคโนโลยีทางการเกษตร
 
“เมื่อก่อนชาวนาตะเครียะบางคนเรือนหลังคามุงจาก  เสาเรือนไม้หมาก  ฟากเรือนไม้ไผ่  หัวไดไม้พาด  เดี๋ยวนี้หาดูไม่ได้แล้ว  กลายเป็นเสาคอนกรีต  ฝาดับอิฐ  พื้นปูกระเบื้อง  หลังคาขาวโพลนไปทั่วทุกหัวระแหงก็เพราะได้ทำนา  2  ครั้งนั่นเอง” (เชือน  ศิวิโรจน์.2557)
 
การผลิตและความสัมพันธ์ทางการผลิตภายใต้กลไกตลาด ย่อมกล่อมเกลาให้ผู้คนมีวิธีคิดแบบคำนวณผลได้-ผลเสียในทางเศรษฐกิจ และชาวบ้านใช้วิธีคิดเช่นนี้กับปริมณฑลทางการเมืองเช่นกัน  นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งแห่งที่ของชาวชุมชนตะเครียะ จากลูกบ้านที่ต้องคอยทำตามผู้นำตามธรรมชาติ  เช่น  เจ้าอาวาส  ครูใหญ่  ผู้อาวุโส  กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน และข้าราชการอื่นๆ มาเป็นพลเมืองที่มีความคิด  ความเห็นเป็นตัวของตัวเอง  เป็นปัจเจกมากขึ้นกว่าแต่ก่อน
 
สถานภาพทางสังคมของชาวชุมชนตะเครียะ เมื่อลูกหลานที่ได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น และมีงานทำ มีหน้ามีตาในสังคม ก็ทำให้ครอบครัวเหล่านั้นมีสถานภาพทางสังคมเป็นที่เชื่อถือนับหน้าถือตาของสังคม  เช่น  ครอบครัวจันทน์เสนะ  มีนายบัญญัติ  จันทน์เสนะ  อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย  อธิบดีกรมที่ดิน  นายวินัย  จันทน์เสนะ  อดีตที่ดินจังหวัด  พ.ต.ท.เริงชัย  จันทน์เสนะ  นายประเดิมชัย  จันทน์เสนะ  รองผู้จัดการธนาคารเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  ครอบครัวศิรินุพงศ์  เช่น  นายสุรใจ  ศิรินุพงศ์  อดีตรองอธิบดีกรมสรรพากร  อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  และอดีตสมาชิกวุฒิสภา  จ.สงขลา  พล.ต.พีรยุทธ  ศิรินุพงศ์  ครอบครัวพงศ์ไพบูลย์  ของ ศ.สุธิวงศ์  พงศ์ไพบูลย์  ครอบครัวสุขะนันท์  ของ พล.ต.ต.พยูน  สุขะนันท์  เป็นต้น
 
การเปลี่ยนแปลงในการจัดตั้งทางสังคม  การเมืองเชิงสถาบัน และการเมืองนอกสถาบันของชุมชนตะเครียะ
 
การเปลี่ยนแปลงการจัดตั้งในระบบการเมืองเชิงสถาบันของชุมชนตะเครียะ
 
ยุคแรกๆ ของการเมืองเชิงสถาบันในชุมชนตะเครียะ  บทบาทในทางการเมืองการปกครองตกอยู่ในการควบคุมดูแลของการปกครองส่วนภูมิภาค  ผ่านกำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นเครื่องมือของนายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัด  ทำหน้าที่ในส่วนปกครองท้องที่และประสานงานกับอำเภอ และจังหวัด  กลุ่มคนที่มีบทบาทในสถานภาพนี้คือ  ทายาทของตระกูลผู้จับจอง และครอบครองที่ดินรายใหญ่ของชุมชน  เช่น  ตระกูลศิรินุพงศ์  มีผู้ใหญ่บ้านจวน  ศิรินุพงศ์  บิดาของนายสุรใจ  ศิรินุงพงศ์  อดีต ส.ส.และ ส.ว.สงขลา  ตระกูลแกล้วทนงค์  เช่น  กำนันนุ่ม  แกล้วทนงค์ (ขุนตระการตะเครียะเขต) ผู้พ่อ และลูกๆ  ได้แก่  กำนันฉุ้น  แกล้วทนงค์  กำนันเลื่อน  แกล้วทนงค์  กำนันใจ  แกล้วทนงค์ และกำนันสุชล  แกล้วทนงค์  ต่อมา ก็มีตระกูลช่วยแท่น ซึ่งเป็นตระกูลใหญ่ที่สุด และมีบทบาทในการเมืองท้องถิ่นของชุมชนตะเครียะมากที่สุดในปัจจุบันคือ  กำนันเปรียบ  ช่วยแท่น  และปัจจุบันคือ นายวิโรจน์  สุรวิโรจน์  ทายาทของอดีตครูประชาบาล
 
(อ่านต่อฉบับหน้า)
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น