xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าจากข้างทำเนียบ : เราไม่เคยมีรัฐบาลประชาธิปไตย มีแต่รัฐบาลเผด็จการทหารและเผด็จการพลเรือน / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์  :  คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย

การที่ผม และเพื่อนนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยทักษิณ  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ถูกนายทหารในหน่วยราชการทหารของจังหวัดเชียงใหม่ ในนาม คสช.แจ้งความว่า กระทำการขัดคำสั่ง คสช.ที่ ๓/๒๕๕๘ ในครั้งนี้บางคนเปรียบเปรยกับผมว่า เหมือนนิทานเรื่อง “ชาวนากับงูเห่า” เพราะบางคนมองว่าผมเป็นประชาชนคนหนึ่งที่ร่วมขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง (รัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์) และกวักมือเรียกทหารให้เข้ายึดอำนาจเมื่อเดือนพฤษภาคม  ๒๕๕๗
 
ซึ่งเรื่องนี้เรายังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนกันอยู่ในหลายประการ

ประการแรก ผมร่วมขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะพวกเขาประกาศตัวเป็นศัตรูกับพี่น้องประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมอย่างไม่ชอบธรรม และปล่อยให้พี่น้องประชาชนที่แสดงออกทางการเมืองโดยสันติและปราศจากความรุนแรงถูกลอบฆ่าไม่เว้นแต่ละวัน อีกทั้งยังปล่อยให้รัฐมนตรีที่ไร้วุฒิภาวะออกมาท้ายทาย เหยียบย่ำน้ำใจประชาชนครั้งแล้วครั้งเล่า

ประการที่สอง นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี รวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองพรรคใหญ่ขาดคุณธรรม  จริยธรรม วุฒิภาวะ และสปิริต ได้ร่วมกันก่อกรรมทำเข็ญ สร้างความแตกแยก สร้างความเสียหายให้แก่ชาติบ้านเมืองวันแล้ววันเล่า เรื่องแล้วเรื่องเล่า โดยไม่สำนึกถึงผิดชอบชั่วดี

ประการที่สาม แม้ว่าพวกเขาจะมาจากการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้ใช้โอกาสและอำนาจที่มีอยู่ในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ชาติบ้านเมือง แต่ใช้อำนาจเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ตนเอง และพรรคพวก  โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี ไม่มีคุณสมบัติ หรือเกียรติภูมิพอจะเป็นผู้นำระดับสูงสุดของประเทศ คุณสมบัติอย่างเดียวที่หล่อนมี และส่งผลให้ได้เป็นนายกรัฐมนตรี คือ การที่เกิดมาเป็นน้องสาวของอดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคการเมืองที่หล่อนสังกัด

ประการที่สี่ ผมมีความเชื่อโดยสนิทใจว่า การต่อสู้ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนั้น และต่อมาจนถึงขณะนี้ ไม่ได้เป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายเผด็จการ เพราะประเทศนี้ไม่เคยมีรัฐบาลประชาธิปไตย มีแต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ไม่มีคุณสมบัติของความเป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะการใช้อำนาจรัฐ กระบวนการตรวจสอบของรัฐสภา

ประการที่ห้า การที่ผมไม่เอาด้วยกับรัฐบาลที่ขาดความชอบธรรม ไม่ได้หมายความว่า ผมจะยินดีปรีดากับรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจโดยทหาร ความพอใจเพียงประการเดียวถ้าจะมีก็คือ ความสะใจต่อรัฐบาลพลเรือนที่บ้าอำนาจ และขาดมโนธรรม และการเข้ามาของทหารทำให้มวลมหาประชาชนผู้บริสุทธิ์ไม่ต้องล้มตายเหมือนผักปลาอีกต่อไป แต่ส่วนบ้านเมืองจะไปต่ออย่างไร มันเป็นหน้าที่ของคนไทยที่จะต้องช่วยกัน

ปะการที่หก แม้พรรคพวกเพื่อนพ้องน้องพี่ของผมหลายคนจะปฏิเสธที่จะร่วมสังฆกรรมกับรัฐบาลเผด็จการทหาร โดยเฉพาะในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับ ๒๕๕๐ และ ๒๕๕๘ ที่เพิ่งไม่ผ่านสภาฯ แต่ผมยินดีเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญฯ จ.สงขลา และอนุกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นฯ จ.สงขลา ด้วยปรารถนาให้พี่น้องประชาชนได้มีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ และบ้านเมืองได้กลับสู่ภาวะปกติในเร็ววัน

ประการที่เจ็ด ผมไม่ใช่ กปปส. ไม่ใช่คนของ ปชป.และฝ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ผมเอาด้วยกับทุกฝ่ายที่คิดดี ทำดีต่อชาติบ้านเมือง ส่วนใครจะคิดว่าเหมาะสม ไม่เหมาะสม ก็เป็นเหตุผล และมุมมองของแต่ละคน แต่สำหรับผมด้วยประสบการณ์ค่อนชีวิตเกือบกึ่งศตวรรษผมไม่เคยทำอะไรโดยไม่คิด แต่ผมก็ไม่เคยคิดมากเสียจนทำอะไรไม่ได้ และไม่ได้ทำอะไรเลย นอกจากออกมาก่นด่าคนอื่นที่ไม่ทนดูดาย คอยเสมอนอกหรือ “สีแก้วพลอยรุ่ง” หรือเป็นพวก “คนเกาะรั้ว” ยืนดูคนอื่นต่อสู้กันแบบบางพวกบางกลุ่ม

ประการสุดท้าย “เราจะรักกันได้อย่างไรในเมื่อเรายังไม่เข้าใจกัน” (คำของ อ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์-ผู้ต้องหาในคดีร่วมกับผม) หรือบางคนอาจจะเข้าใจ แต่ “เข้าใจผิด” ด้วยกันทั้งสองฝ่าย  ทั้งฝ่ายที่กำลังหาที่ยืนในสังคมหลังถูกยึดอำนาจ และอีกฝ่ายที่กำลังหาทางลงที่ไม่บาดเจ็บ และมีที่ยืนในสังคมนี้อย่างมีศักดิ์ศรี และความสงบสุข

สำหรับผมวันนี้  มากมายไปด้วยคนรู้จัก อบอุ่นด้วยมิตรภาพจากกัลยาณมิตร และกังวลใจสำหรับศัตรูทางความคิด คนรู้จักบางคนกลายเป็นเพื่อน เพื่อนบางคนกลายเป็นคนรู้จัก และพัฒนาไปเป็นศัตรู สำหรับศัตรูผมไม่มีเวลาจะทำความเข้าใจ แต่สำหรับเพื่อนผมพร้อมเสมอที่จะรักษามิตรภาพเอาไว้ให้ยั่งยืนที่สุด เพราะวันเวลาเราเหลือน้อย ไม่มากพอให้เราหาเพื่อนใหม่ได้อีกแล้ว

สำหรับชาวมหาวิทยาลัยที่ผมสังกัด และไม่สังกัด ขอบพระคุณทุกท่านที่ให้เกียรติลงนามในหนังสือร่วมกอบกู้เกียรติภูมิ และศักดิ์ศรีของ “คนมหาวิทยาลัย” แม้จะน้อยมากจนน่าใจหายเมื่อเทียบกับจำนวนคนที่มีชีวิตเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะสภาคณาจารย์ และพนักงานทุกมหาวิทยาลัยที่ไม่แสดงจุดยืนว่า ท่านคิดอย่างไรต่อกรณีนี้ เพราะพวกท่านคือตัวแทนอันชอบธรรมของพวกเรา ที่อาสาเข้ามารับใช้ชาวมหาวิทยาลัย ส่วนผู้บริหารระดับสูง และกรรมการสภามหาวิทยาลัย พวกเขามีฐานะที่สูงส่งเกินไป และไม่ยึดโยงกับคนระดับพวกเราอยู่แล้วโดยธรรมชาติ

วันที่มหาวิทยาลัยไม่มีคำตอบ (อีกแล้ว)
๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๘
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น