คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
พระเถราจารย์ที่สำคัญของชาวชุมชนตะเครียะ และละแวกใกล้เคียงในช่วงกว่ากึ่งศตวรรษที่ผ่านมา คือ “พระครูพิศิษฐ์ ปุญญสาร” หรือ “หลวงพ่อปลอด ปุญญสโร” อดีตเจ้าอาวาสวัดหัวป่า ตำบลตะเครียะ (ปัจจุบันอยู่ในท้องที่ตำบลบ้านขาว) อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เป็นพระผู้ทรงวิทยาคมเรืองวิทยาเวทย์ บำเพ็ญตนในเพศสมณะที่สมบูรณ์ด้วยศีลจริยวัตรอันงดงาม กอปรด้วยวัตรปฏิบัติอันสมถะสันโดษ ปราศจากมลทินมัวหมองใดๆ จนมรณภาพ พลังจิตแก่กล้าด้วยเมตตาธรรม เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร ครองจิตใจชาวบ้าน และผู้คนทั่วไป พุทธศาสนิกชนต่างซาบซึ้งในเกียรติประวัติของท่าน
พระครูพิศิษฐ์บุญสาร (หลวงพ่อปลอด บุญญสสโร) นามเดิมว่า ปลอด นามสกุล อ่อนแก้ว ถือกำเนิดเมื่อวันศุกร์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 10 ปี จอ ตรงกับวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2441 จ.ศ.1260 ร.ศ.117 ค.ศ.1989 ที่หมู่ 4 ต.ตะเครียะ อ.ระโนด จ.สงขลา เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวนพี่น้อง 6 คน ของนายสุข นางฝ้าย อ่อนแก้ว สำหรับพี่น้อง ได้แก่ นายดำ อ่อนแก้ว นางกิมเนี่ยว อ่ำปลอด พระครูพิศิษฐ์บุญสาร นายเถื่อน อ่อนแก้ว นายถั้น อ่อนแก้ว และนางซุ่นเนี่ยว อ่อนแก้ว
เด็กชายปลอด อ่อนแก้ว เป็นผู้ที่มีความประพฤติเรียบร้อย เป็นบุตรที่อยู่ในโอวาทของบิดามารดา เป็นผู้ที่เปี่ยมไปด้วยเมตตาโอบอ้อมอารี เป็นที่รักของญาติพี่น้อง ครั้นพออายุควรแก่การศึกษา บิดาจึงได้นำไปฝากพระอธิการคง ฆงคสสโร เจ้าอาวาสวัดหัวป่า ในสมัยนั้น เพื่อศึกษาภาษาไทย อักษรขอม และอักษรสมัยใหม่ต่างๆ ซึ่งพระอธิการคง ได้รับไว้เป็นศิษย์ และสอนให้ด้วยตนเอง จนกระทั่งมีความรู้ความสามารถ อ่านออกเขียนได้
เด็กชายปลอด ได้รับการศึกษาอบรมด้านพระธรรมวินัย ครั้นพออายุได้ 19 ปี เกิดเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงได้ขอบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันพุธ ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 8 ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 12 กรกฎาคม 2459 ณ วัดหัวป่า โดยมีพระอธิการคง ฆงคสสโร เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากบรรพชาแล้ว สามเณรปลอดก็ได้ศึกษาวิชาวิทยาเวทย์ และคาถาอาคมต่างๆ จากหลวงพ่อคง ด้วยความเป็นผู้มีความเพียรสูง จึงได้ศึกษาวิชาต่างๆ จากหลวงพ่อคง อย่างรวดเร็ว
พออายุครบอุปสมบท สามเณรปลอด ก็ได้อุปสมบท เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 13 กรกฎาคม 2460 ตรงกับ ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 8 ปีมะเส็ง ณ วัดหัวป่า โดยพระอธิการคง ฆงคสสโร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระสุก ธมมสโร และพระชู ติสโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ปุญญสสโร”
อายุ 35 ปี พรรษาที่ 14 สอบได้นักธรรมตรี นวกภูมิ ณ สำนักเรียนวัดหัวป่า เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2475 อายุ 38 ปี พรรษาที่ 17 สอบได้นักธรรมโท มัชฌิมภูมิ ณ สำนักเรียนวัดหัวป่า เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ.2478 และวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2517 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น “พระครูพิศิษฐ์บุญสาร”
นอกจากความรู้ทางธรรมแล้ว ท่านยังได้ศึกษาเกี่ยวกับวิทยาเวทย์จากอาจารย์ที่มีความรู้เรื่องไสยเวทย์ ศึกษาภาษาขอมจากอาจารย์ไข่ ศึกษาวิธีทำตะกรุดพิศมร จากอาจารย์ทวดทองขาว ซึ่งเป็นฆราวาส และผู้เรืองวิทยาเวทย์แก่กล้าด้านคงกระพันชาตรีหนังเหนียว
นอกจากนั้น ได้ศึกษาเพิ่มเติมจากอาจารย์เพิ่ม ซึ่งเป็นฆราวาสอยู่ที่อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง และอาจารย์ผู้เรืองเวทย์อีกมากมาย จนมีความรู้แตกฉานทางวิทยาคมในแขนงต่างๆ ในที่สุดได้เป็นอาจารย์ผู้มีชื่อเสียง และเข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษกในโอกาสต่างๆ นับครั้งไม่ถ้วน
หลวงพ่อปลอด เป็นพระอริยสงฆ์ที่เปี่ยมด้วยคุณธรรม และเมตตาธรรม เป็นพระเถราจารย์ที่สำคัญรูปหนึ่งของภาคใต้ ที่ช่วยขจัดปัดเป่าความทุกข์ยากเดือดร้อนของชาวบ้าน เป็นศูนย์กลางแห่งความสามัคคี ระงับความขัดแย้งของชุมชน เป็นหมอยาผู้ชำนาญการรักษาผู้ถูกงูพิษกัดด้วยสมุนไพรพื้นบ้าน และพระผงว่าน เป็นหมอยารักษาโรควิกลจริต และโรคอื่นๆ
ในทางแพทย์แผนไทย หลวงพ่อปลอด เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในการบำบัดรักษาโรคนานาชนิด เช่น ผู้วิกลจริต หรือเสียสติวิปริตจิตฟั่นเฟือน โรคพิษสุนัขบ้า ผู้ติดยาเสพติด ผู้ถูกสัตว์มีพิษกัดต่อย โดยเฉพาะวิชาสยบแมงป่อง วิชาผสานพลังจิตเป็นที่เลื่องชื่อยิ่งนัก
ท่านจึงเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของผู้ทุกข์ยากเดือดร้อน เป็นผู้สร้างคุณประโยชน์แก่สังคม ช่วยเหลือทางราชการในการรักษาพยาบาล เนื่องจากในสมัยนั้นการบริการในด้านการรักษาพยาบาลสาธารณสุขยังไม่เพียงพอ และไม่ทั่วถึง ตลอดจนการคมนาคมก็ไม่สะดวก
นอกจากนั้น ท่านยังมีพลังจิตมีพลานุภาพในการทำน้ำพระพุทธมนต์ เพื่อขจัดปัดเป่าผู้ที่ถูกคุณไสย หรือผีเข้าล้างสิ่งอัปมงคลจัญไร และอีกส่วนที่สำคัญ และเชื่อกันในหมู่ศิษยานุศิษย์ว่า ท่านมี “วาจาสิทธิ์” พูดอะไรจะเป็นไปตามคำพูดเสมอ
ในแต่ละปีจะมีพิธีรดน้ำดำหัว หรือพิธีสรงน้ำหลวงพ่อปลอด คู่กับ ครูผัด จันทน์เสนะ ครูใหญ่โรงเรียนวัดหัวป่า ในเดือนเมษายน หรือเดือน 5 โดยผู้ชายจะนอนหมอบลงกับพื้นตั้งแต่บริเวณประตูนอกชานระเบียงกุฏิ จนถึงสถานที่ที่จัดไว้สำหรับสรงน้ำ เพื่อความเป็นสิริมงคล พร้อมกล่าวคำอธิษฐานตามความปรารถนา
งานด้านการปกครอง พ.ศ.2474 เป็นเจ้าอาวาสวัดหัวป่า พ.ศ.2478 เป็นเจ้าสำนักเรียนวัดหัวป่า พ.ศ.2507 เป็นพระอุปัชฌาย์ เป็นผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ยึดมั่นในระเบียบการปกครองวัดตามระเบียบของมหาเถรสมาคม มีการทำอุโบสถ สังฆกรรม สวดปาฏิโมกข์ตลอดปี มีกฎระเบียบของวัดเกี่ยวกับการบวชนาค การเรียนการสอนปริยัติธรรมและการอบรมศิษย์วัด
งานด้านการศึกษา พ.ศ.2475 เป็นครูสอนนักเรียนประชาบาลวัดหัวป่า และจัดสร้างโรงเรียน พ.ศ.2478 เป็นกรรมการศึกษาและผู้อุปการะโรงเรียนวัดหัวป่า พ.ศ.2487 เป็นเจ้าสำนักเรียน และครูสอนปริยัติธรรม พ.ศ.2492 เป็นครูสอนปริยัติธรรม
เป็นผู้มีวิสัยทัศน์ด้านการศึกษา พยายามส่งเสริมศิษย์ให้ได้รับการศึกษา มีการให้รางวัล ให้ทุนแก่ผู้มีความอุตสาหะ ขยันหมั่นเพียร และเรียนดี สนับสนุนพระภิกษุสามเณรที่เห็นว่ามีสติปัญญาควรแก่การส่งเสริมจนจบปริญญาตรี ปริญญาโทและปริญญาเอก
การเผยแพร่พระพุทธศาสนา มีการอบรมศีลธรรมแก่นักเรียน และประชาชนมาตั้งแต่ พ.ศ.2475-2535 และปี พ.ศ.2519 ท่านได้ร่วมมือกับพระธรรมทูตในการเผยแพร่ศีลธรรมให้แก่นักเรียน และชาวบ้านหัวป่า ส่งเสริมให้ประชาชนร่วมทำความดี ทำบุญกุศลและร่วมพิธีในวันสำคัญทางศาสนา เป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชน ในช่วงเข้าพรรษาจะมีผู้เลื่อมใสศรัทธาบวชเรียน และจำพรรษาอยู่วัดหัวป่าเป็นจำนวนมาก จนหมดบุญของท่าน สถานการณ์ต่างๆ ก็เปลี่ยนไป
ด้านการพัฒนาวัด พ.ศ.2483 สร้างอาคารเรียนโรงเรียนวัดหัวป่า ทรงปั้นหยา กว้าง 8 เมตร ยาว 24 เมตร งบประมาณ 2,000 บาท พ.ศ.2492 สร้างอุโบสถถาวรหลังที่ 3 แทนหลังเดิมที่เริ่มชำรุด พ.ศ.2497 สร้างศาลาการเปรียญทรงไทยชั้นเดียว กว้าง 14 เมตร ยาว 16 เมตร ราคา 70,000 บาท พ.ศ.2505 เริ่มดำเนินการสร้างอุโบสถหลังใหม่ เนื่องจากหลังเก่าชำรุด กว้าง 9 เมตร ยาว 16 เมตร พ.ศ.2513 บูรณปฏิสังขรณ์กุฏิทรงไทย 2 ชั้น กว้าง 3 เมตร ยาว 6 เมตร ค่าบูรณะ 20,000 บาท ขุดสระน้ำวัด เพื่อให้มีน้ำใช้ตลอดปี พ.ศ.2515 บูรณะปฏิสังขรณ์กุฏิทรงไทย 2 ชั้น กว้าง 9 เมตร ยาว 9 เมตร ค่าบูรณะ 65,000 บาท ตัดถนนหน้าวัดยาว 2 กิโลเมตร พ.ศ.2523 สร้างศาลาการเปรียญ พ.ศ.2524 สร้างเมรุเผาศพและ พ.ศ.2526-2527 สร้างหอระฆัง สร้างวัตถุมงคลจนได้ชื่อว่าเป็นพระเกจิอาจารย์ที่ทรงวิทยาคมรูปหนึ่งของภาคใต้ และของประเทศไทย มีกิตติคุณในทางอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เป็นที่ร่ำลือไปทั่ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านแคล้วคลาด
หลวงพ่อปลอด มรณภาพเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2537 อายุ 97 ปี พรรษาที่ 76 ปัจจุบัน ศพของท่านบรรจุอยู่ในโลงแก้วบนกุฏิหลังใหม่ในวัดหัวป่า