xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าจากลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ปูชนียบุคคล (๓) : พระครูกิติวราภรณ์ กิตติยาโณ (ดร.ทวี ฤทธิรัตน์) / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ขอบคุณภาพจาก http://www.phatlungtoday.com/
 
คอลัมน์  : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
พระครูกิตติวราภรณ์  กิตติญาโณ  เดิมชื่อ ทวี  ฤทธิรัตน์  เกิดเมื่อวันที่  ๑๔  กันยายน  พ.ศ.๒๔๘๕  เป็นชาวพัทลุง  สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาศาสนาและปรัชญา จากมหาวิทยาลัยพาราณสี  ประเทศอินเดีย  จบนักธรรมเอก  เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าลิไลยก์  ตำบลลำปำ อำ เภอเมือง จังหวัดพัทลุง เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๒  ตามความประสงค์ของ ท่านปัญญานันทภิกขุ  วัดชลประทานรังสฤษฏ์  ชาวพัทลุงเช่นกัน ให้มาพัฒนาวัดร้างในบ้านเกิดหลังสำเร็จการศึกษาขั้นสูงสุด และธุดงค์ข้ามแดนมาแล้ว
 
“ดร.ทวี” ของชาวบ้านเป็นพระนักพัฒนาที่มีผลงานโดดเด่นทางด้านการนำวัฒนธรรมท้องถิ่น  ความเป็นเครือญาติ  เป็นเพื่อนเกลอ และหลักธรรม “ปรมัตถวิสัยบารมี” มาใช้ในการบริหารจัดการ และการพัฒนาชุมชน  เช่น  การพัฒนาวัดป่าลิไลยก์ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางปัญญา  การสร้างห้องสมุด “ทวีปัญญา” ให้แก่โรงเรียนวัดปากประ  นำพระภิกษุ  สามเณร ประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา  ญาติธรรม  องค์กรภาครัฐ และองค์กรเอกชนร่วมกันจัดสร้าง “ถนนพระ-ประชาทำ” ซึ่งเป็นถนนยกระดับเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ  ระบบนิเวศจากบ้านหัวป่า ตำบลบ้านขาว อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ถึงบ้านไสกลิ้ง  ตำบลพนางตุง  อำเภอควนขนุน  จังหวัดพัทลุง  ยาวกว่า  ๗  กิโลเมตร  ทำให้ย่นระยะทางเกือบ  ๕๐  กิโลเมตร  เป็นการนำความเจริญมาสู่เขตรอยต่อ  ๓  จังหวัดคือ สงขลา-พัทลุง-นครศรีธรรมราช  กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และเป็นถนนสายประวัติศาสตร์ที่สร้างโดยพระ และประชาชน โดยไม่ต้องพึ่งพาบารมีของนักการเมืองในพื้นที่มากนัก  มิหนำซ้ำยังถูกขัดขวางจากนักการเมืองบางคนด้วยซ้ำไป
 
พระครูกิตติวราภรณ์  กิตติญาโณ  เป็นพระเถรานุเถระนักศึกษาทั้งในแง่การศึกษาทางศาสนา และการศึกษาทางโลก  ตั้งใจศึกษาพระพุทธพจน์  แสวงหาความรู้จากพระไตรปิฎก  สามารถใช้ภาษาได้หลายภาษา  ได้ธุดงค์จาริกแสวงบุญเป็นเวลานาน  ๖  ปี  มีความเชี่ยวชาญทางภูมิศาสตร์  สังคม และวัฒนธรรมท้องถิ่น  ถึงพร้อมด้วยวุฒิภาวะ  พุทธิปัญญา  จริยวัตร  มีผลงานเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในระดับชาติ และระดับนานาชาติ
 
พระครูกิตติวราภรณ์  ได้รับอาราธนานิมนต์เป็นพระราชมัคคุเทศก์ใน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้นำเสด็จไปยังประเทศอินเดีย  เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม  เป็นคณะกรรมการอำนวยการสอบธรรมสนามหลวง  เป็นคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานประจำจังหวัดพัทลุง  เป็นพระอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัย ทั้งในประเทศ และต่างประเทศมายาวนานกว่า  ๒๕  ปี  และได้นิพนธ์หนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมหลายเล่ม  เช่น  ชุดธุดงค์ข้ามแดน   เล่ม  ๑-๖  ท่องไปในทานบุญสู่โลกลี้ลับทิเบต  เหนือสิ่งอื่นใดในโลก  ดอกไม้งามเก็บได้จากทุกศาสนา  พบญาติพบธรรม ส.ค.ส.สุขภาพ  เป็นต้น
 
พระครูกิตติวราภรณ์  ได้รับรางวัลกิตติคุณสังข์เงิน  สาขาผู้เผยแผ่ศาสนาดีเด่นในต่างประเทศ  รางวัล “คนดีศรีเมืองลุง” ติดต่อกัน  ๒  วาระ  และมหาวิทยาลัยทักษิณ ได้ถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษา  เมื่อวันที่  ๒๒  พฤศจิกายน  ๒๕๕๑
 
พระครูกิตติวราภรณ์  มรณภาพด้วยโรคมะเร็งผิวหนังที่เกิดจากการตรากตรำทำงาน  ตากแดดตากฝน แช่น้ำเพื่อควบคุมการสร้างถนนพระ-ประชาทำ เมื่อวันที่  ๔  มีนาคม  ๒๕๕๗  ณ  โรงพยาบาลจังหวัดพัทลุง
 
ชาวท่าออก หรือชาวระโนด  โดยเฉพาะชาวทุ่งตะเครียะ  มีความสัมพันธ์เป็นเครือญาติ และเกลอดองกับชาวท่าตก หรือชาวควนขนุน  ทะเลน้อย  พนางตุง  แต่เส้นทางติดต่อระหว่างสองฝั่งต้องผ่านพรุนางเรียม และทะเลน้อยโดยทางเรือเพียงทางเดียว  นอกจากต้องฝ่าคลื่นฝืนลมในหน้ามรสุมแล้วยัง ต้องเผชิญต่อสัตว์ร้าย  เช่น  จระเข้  งูเห่า  และช้างแกลบ หรือช้างค่อม  ชาวบ้านละแวกนี้จึงมีความฝันมานานว่าจะให้มีเส้นทางติดต่อที่มีความสะดวกสบายเหมือนท้องถิ่นอื่นๆ ในละแวกใกล้เคียง
 
ความใฝ่ฝันเริ่มเป็นจริง เมื่อ นายสุรใจ  ศิรินุพงศ์  ส.ส.สงขลา เลือดเนื้อเชื้อไขของผู้ใหญ่บ้านจวน  ศิรินุพงศ์  คนทุ่งตะเครียะโดยกำเนิด  ร่วมกับ ส.ส.พัทลุงอีก  ๓  คน คือ นายวีระ  มุสิกพงศ์ (นายวีระกานท์)  นายโอภาส  รองเงิน  และ  นายพร้อม  บุญฤทธิ์  ลงนามในหนังสือเสนอ รมต.กระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมาธิการพิจารณางบประมาณรายข่ายประจำปี  ๒๕๓๑  ของบประมาณก่อสร้างถนนเชื่อม จ.พัทลุง กับ จ.สงขลา ด้วยเหตุผลว่า
 
๑) เป็นการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว
๒) เป็นการพัฒนาอาชีพการประมงน้ำจืด
๓) เป็นเส้นทางลำเลียงวัสดุก่อสร้างที่จำเป็น
๔) เป็นเส้นทางที่ประชาชน จ.สงขลา พัทลุง ตรัง นครศรีธรรมราช สตูล มีโอกาสนำผลผลิตทางการเกษตรไปจำหน่ายได้สะดวก
๕) เป็นเส้นทางที่จะอำนวยความสะดวกในการพัฒนาทะเลสาบสงขลาให้บรรลุเป้าหมาย
 
 
ในที่สุดก็ได้รับงบประมาณ  ๑๓๕  ล้านบาท ในการก่อสร้างถนนดังกล่าวเชื่อมระหว่างบ้านหัว
ป่า  ตำบลบ้านขาว  อำเภอระโนด  จังหวัดสงขลา กับบ้านปากประเหนือ  ตำบลพนางตุง  อำเภอควนขนุน  จังหวัดพัทลุง  ชาวบ้านพากันดีใจว่าจะมีถนนใช้ไม่เกินปี  ๒๕๓๒  แต่ปรากฏว่า ลงมือสร้างจากบ้านปากประเหนือ มาได้ประมาณ  ๖  กิโลเมตร ก็มีการคัดค้านจากนักการเมืองอีกฝ่ายที่คุมสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) ในสมัยนั้นว่า  ให้มีการทบทวนความเหมาะสม  โดยให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  หาดใหญ่ ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม  การดำเนินการจึงชะงักลงประมาณ  ๒-๓  ปี  งบประมาณดังกล่าวถูกคืนคลังไปในที่สุด  แต่การเรียกร้องให้มีถนนดังกล่าวก็ยังคงมีอยู่  แต่นักการเมืองทั้ง  ๔  ท่านหลุดจากตำแหน่งไป  เพราะไม่ได้สังกัดยอดนิยมของคนใต้  ในสมัยต่อมา ที่เปลี่ยนหัวหน้าพรรคเป็นคนใต้ และชูประเด็น “สนับสนุนคนใต้เป็นนายกรัฐมนตรี” แบบภาคนิยม และมาประสบผลสำเร็จในการเลือกตั้งสมัยที่  ๒  ของปี ๒๕๓๕
 
ต่อมา พระครูศาสนการโกวิท (ท่านเล็ก) ชาวบ้านขาว  เจ้าอาวาสวัดจาก  เจ้าคณะอำเภอระโนด  มาเป็นผู้นำในการดำเนินการสร้างถนนดังกล่าว  ในฐานะเป็นผู้มีลุกศิษย์ลูกหามากมาย  และเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านทั้งสองอำเภอ คือ  ระโนด และ ควนขนุน  เป็นผู้ประสานงานให้ประชาชนนำเครื่องจักรกล  วัสดุอุปกรณ์  เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ มาพัฒนาถนนสายนี้  ในชั้นต้นได้รับการสนับสนุนจากคนที่มีรถขุด จำนวน  ๓  คน  ๓  คัน เริ่มงานในปี  ๒๕๓๘-๒๕๓๙  คือ  นายชาติชาย (แสน)  จิระโร  นายสำราญ  ปล้องฉิม (ร้านอาหารปลาพูดได้  บ้านใหม่) และนายชม (ไม่ทราบนามสกุล)  ชาวบ้านท่าบอน  ขุดถนนจากสี่แยกบ้านหัวป่าไปจนถึงคลองกก
 
ต่อมา เรื่องทราบถึง พระครูกิตติวราภรณ์ (ดร.ทวี  ฤทธิรัตน์)  เจ้าอาวาสวัดป่าลิไลยก์  ตำบลลำปำ  อำเภอเมือง  จังหวัดพัทลุง  เจ้าคณะตำบลลำปำ  ร่วมเป็นพลังประสานงาน  กำนันอำนวย  หมื่นหนู  นำรถขุด  ๑  คันมาเริ่มขุดทางฝั่งคลองนางเรียมทางทิศใต้  แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะสภาพเป็นโคลนตม ท่านเล็กจึงขอรับการสนับสนุนเครื่องมือจาหน่วยทหาร ช.พัน ๔๙๒  จังหวัดพัทลุง  นำรถขุดมาดำเนินการจนถึงบ้านทะเลน้อย  โดยท่านพระครูทั้งสองรูป  ประชาชนในพื้นที่สนับสนุนค่าน้ำมัน  ค่าเบี้ยเลี้ยงพลขับ และอื่นๆ  รวมทั้งนักการเมืองทั้ง  ๔  ท่าน ก็ให้การสนับสนุนมาโดยตลอด   ต่อมา นายเอกชัย  ศรีวิชัย  นักร้องลูกทุ่งชื่อดังรับแสดงดนตรี  ๓  จุด คือ อ.ระโนด  อ.หัวไทร และ อ.ควนขนุน เพื่อหาทุนสมทบ ได้เงินทั้งสิ้นประมาณ  ๑,๒๐๐,๐๐๐  บาท  สร้างถนนดินลูกรังสำเร็จรถยนต์สามารถใช้สัญจรไปมาได้
 
๓  มิถุนายน  ๒๕๔๔  พระครูทั้งสอง และชาวบ้านร่วมกันจัดงานพิธีเปิดใช้ถนนสายนี้ พร้อมกับการทอดผ้าป่าสามัคคี และตั้งชื่อถนนสายนี้ว่า “ถนนพระ-ประชาทำ” โดยมีพระเป็นประธานในพิธีเปิดทั้งสองฝั่งจังหวัดคือ  ฝั่งจังหวัดพัทลุง มี พระธรรมรัตนาการ  เจ้าคณะภาค  ๑๘  จังหวัดตรัง ตัดริบบิ้น  ฝั่งจังหวัดสงขลา มี พระราชศีลสังวร  เจ้าคณะจังหวัดสงขลา เป็นประธานร่วมพิธี  มีพระคุณเจ้าในภาคใต้จากทุกจังหวัด  พระคุณเจ้าจากกรุงเทพมหานคร  จำนวนประมาณ  ๑,๐๐๐  รูป  ประชาชนประมาณ  ๖๐๐  คนร่วมพิธี
 
ภาพปรากฏจากสื่อมวลชนในพิธีเปิดถนนสายนี้  แตกต่างจากพิธีเปิดทั่วไปตรงที่งานนี้มีพระคุณเจ้ามากกว่าประชาชนทั่วไป  ซึ่งงานอื่นพระคุณเจ้าเป็นเพียงผู้นำประกอบพิธีกรรมเพียงไม่กี่รูปเท่านั้น  เพราะถนนสายนี้มีพระคุณเจ้า  ๒  รูป เป็นผู้นำประชาชนดำเนินการ  จนกระทั่งได้ผลงานระดับหนึ่ง  และมีนักการเมืองกลุ่มที่ริเริ่มให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง  ร่วมด้วยญาติโยม  ประชาชนผู้ศรัทธาในพระคุณเจ้า  และต่อมา สำเร็จเป็นถนนลาดยางยกระดับสูง  ๓  เมตร ถึง  ๕  เมตร  ผิวจราจรกว้าง  ๑๔  เมตร  ระยะทางประมาณ  ๖  กิโลเมตรในสมัยรัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ  ชินวัตร
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น