คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
ในทำเนียบกำนันตำบลตะเครียะ จากข้อเขียนของเชือน ศิวิโรจน์ (2548 : 113) ระบุว่า ตำบลตะเครียะมีคนที่เป็นกำนันสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ดังนี้ 1) ตาหมื่นสัก แก้วเหมือน 2) ตาหมื่นแกล้วสงคราม (ทองสุข) แกล้วทนงค์ 3) ตากำนันจู่ไล่ นิตย์โชติ 4) ท่านขุนตระการ ตะเครียะเขต 5) กำนันฉุ้น แกล้วทนงค์ 6) กำนันเลื่อน แกล้วทนงค์ 7) กำนันใจ แกล้วทนงค์ 8) กำนันสุชล แกล้วทนงค์ 9) กำนันเปรียบ ช่วยแท่น และ 10) กำนันรุ่งโรจน์ สุระวิโรจน์
เมื่อกำนันจู่ ไล่พ่อเฒ่า (ตา) ของนายบัญญัติ จันทน์เสนะ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย อดีตอธิบดีกรมที่ดิน อดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช ทางการจึงแต่งตั้งนายนุ่ม แกล้วทนงค์ เป็นกำนันคนต่อมา และได้เป็น “ขุนตระการตะเครียะเขต” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ท่านขุนตะเครียะ” หรือ “ท่านขุนฯ” จนติดปาก
ท่านขุนฯ มีตำนานเล่าขานถึงความยิ่งใหญ่เกรียงไกรจากปากคำของคนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลามากมายหลายสถานะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเจ้าชู้ มีภรรยามากกว่าใครในลุ่มน้ำนี้ ความเป็นผู้มีที่ดินทำกินมากมายนับพันไร่ แบ่งปันให้ลูกเมีย และขายให้แก่ญาติพี่น้องทั่วทั้งตำบลตะเครียะ เป็นผู้มากบารมี ทรงอิทธิพล ไม่เกรงกลัวใคร จนเป็นที่รู้จักเกรงขามไปทั่ว แม้แต่พระเพชรคีรี เจ้าเมืองสงขลาก็เคยไปมาหาสู่กับท่านขุนฯ กำนันเลื่อง ศรประสิทธิ์ ผู้กว้างขวางแห่งตำบลพะตง หรือทุ่งลุง อำเภอหาดใหญ่ ก็คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี แม้แต่ตอนเกษียณอายุจากการเป็นกำนันแล้ว ยังเคยชกหน้านายอำเภอระโนดจนตกจากเรือมาแล้ว เพราะท่านขุนฯ โกรธที่นายอำเภอคนนี้นำตำรวจมาจับการพนัน และริบเอาเนื้อวัวในงานที่ลูกชายคือ กำนันฉุ้น แกล้วทนงค์ จัดขึ้นที่บ้านตะเครียะ
ท่านขุนฯ ได้จับจองที่ดินไว้ให้ลูกเมียไม่ต่ำกว่า 3,000 ไร่ ที่ดินที่บ้านมาบกำ จำนวน 200 ไร่ มอบให้ภรรยาคนที่สองที่ไม่มีลูก ที่นาฝั่งคลองมาบกำทางทิศเหนือ มอบให้ภรรยาคนที่สาม ที่นาทุ่งหนองเป็ด จำนวน 400 ไร่ มอบให้ภรรยาคนที่สี่ ที่นาพรุหัวทัง 100 ไร่ มอบให้ภรรยาคนที่ห้า ที่นาฝั่งคลองตะเครียะทางทิศตะวันออก ตั้งแต่วัดหนองถ้วย ขึ้นไปทางทิศเหนือ แบ่งให้นายเลื่อน แกล้วทนงค์ เหลือไว้ 200 ไร่ ด้านทิศตะวันออกของวัดหนองถ้วยให้ญาติพี่น้องที่ไม่มีที่ทำกินไปจับจอง ที่ดินฝั่งคลองตะเครียะทิศตะวันตกไปจดเขต อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช แบ่งให้นายฉุ้น แกล้วทนงค์ ประมาณ 600 ไร่
ท่านขุนฯ เริ่มชักชวนชาวบ้านพัฒนาคลองโพธิ์ ซึ่งเป็นคลองเล็กๆ รับน้ำที่ไหลจากทุ่งนาทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านตะเครียะ มาลงคลองตะเครียะ ท่านตั้งใจจะขุดคลองให้ถึงพรุคลองกก ทางทิศตะวันตกของบ้านหัวป่า (ปัจจุบันอยู่ในท้องที่ตำบลบ้านขาว) มีความยาวประมาณ 4 กิโลเมตร ขั้นแรกใช้กำลังคนตัดฟันปรือ กก กัลปหะ วัชพืช พอเป็นแนวลงไปหาพรุ แล้วให้ผู้ใหญ่จวน ศิรินุพงศ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 ตำบลตะเครียะในสมัยนั้น ไล่ควายฝูงใหญ่เดินไปเดินมามีคนคอยไล่ต้อนสองข้าง ได้ผลดีมาก ต่อมา ให้เจ้าของที่นาขุดเป็นคันนาทั้งสองข้าง คลองนี้ชาวบ้านได้อาศัยใช้เรือถ่อเรือพายไปตัดไม้หาปลาในหน้าฝน สะดวกสบาย
เมื่อท่านขุนฯ เกษียณอายุประมาณ พ.ศ.2475 ก็ส่งลูกชายคือ นายฉุ้น แกล้วทนงค์ ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นกำนันตำบลตะเครียะสืบอำนาจบารมีต่อมา
นายฉุ้น แกล้วทนงค์ ลูกชายคนที่ 3 ของท่านขุนตระการตะเครียะเขต (นุ่ม แกล้วทนงค์) กับภรรยาคนแรก เมื่อจบการศึกษาจากในเมืองสงขลา โดยไปอาศัยอยู่กับพระเพชรคีรี กลับมาอยู่บ้านมีภรรยาแล้วก็ออกไปตั้งบ้านเรือนอยู่ในหมู่ที่ 3 สมัยนั้นทุ่งหนองถ้วยยังเป็นที่รกร้างว่างเปล่า ไม่มีคนอยู่อาศัย ก็ออกไปจับจองที่รกร้างฝั่งตะวันตกตั้งแต่บริเวณที่ตั้งโรงเรียนวัดหนองถ้วยในปัจจุบัน ไปทางทิศเหนือ ถึงเขตบ้านหนองนุ้ย เขต อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช จำนวนพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1,000 ไร่
นายฉุ้น แกล้วทนงค์ ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นกำนันแทนท่านขุนฯ ที่เกษียณอายุในปี พ.ศ.2475 ขณะเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 ตำบลตะเครียะอยู่ในขณะนั้น ผู้ใหญ่บ้านคนอื่นๆ ทั้ง 8 หมู่บ้านไม่มีใครกล้าลงสมัครแข่งขันกับผู้ใหญ่ฉุ้น แกล้วทนงค์ เพราะเกรงบารมีท่านขุนฯ แต่ชาวบ้านเสาธงเห็นว่า ผู้ใหญ่จวน ศิรินุพงศ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 8 บ้านเสาธงเป็นคนดี มีคุณธรรมในการปกครองลูกบ้านได้ดีมาก จึงชวนกันสนับสนุนขอร้องให้ลงสมัครกำนันแข่งกับผู้ใหญ่ฉุ้น แต่ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า ผู้ใหญ่จวน สู้บารมีท่านขุนฯ ไม่ได้ แต่ก็เป็นผู้ใหญ่บ้านจนเกษียณอายุ
กำนันฉุ้น แกล้วทนงค์ ผู้ชนะการเลือกตั้งจากผู้ใหญ่จวน รับเอาแนวทางในการปกครองดูแลลูกบ้านของผู้ใหญ่จวนมาใช้ โดยสั่งให้ผู้ใหญ่บ้านทุกคนไม่ให้มีใครคบโจรหรือคนชั่วนำเข้ามาในหมู่บ้าน ไม่เพียงแต่สั่งผู้ใหญ่บ้านอย่างเดียว กลางค่ำกลางคืนกำนันฉุ้น ขี่ม้าออกลาดตระเวนไปถึงบ้านขาว หัวป่า คูวา หนองถ้วย กำชับให้ผู้ใหญ่บ้านเข้มงวดเรื่องโจรลักวัว ควาย ชาวบ้านนอนตาหลับไม่ต้องหวาดผวากับโจรมาลักวัว ลักควาย อันเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำมาหากินคือ การทำนา เพราะต้องใช้แรงงานวัวควายเป็นหลักในทุกขั้นตอน ทั้งไถ ทำเทือก บรรทุก และปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของครัวเรือน
มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นในหมู่บ้านไหน ใครมาบอกกำนันจะรีบขี่ม้าไปดูแลช่วยเหลือทันที นอกจากนั้นกำนันฉุ้น ยังพัฒนาชุมชนตะเครียะ โดยการสร้างตลาดนัดในหมู่บ้านใหญ่โต มีพ่อค้าแม่ขายทางเรือจากระโนด และละแวกใกล้เคียงมาค้าขายนับร้อยราย โดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้าซื้อขายข้าวเปลือก อันเป็นผลผลิตหลักของทุ่งระโนด และตะเครียะตลอดมา วันหนึ่งๆ โดยเฉพาะวันนัดซื้อขายกันเป็นสิบๆ เกวียน กำนันฉุ้น ให้ภรรยาของท่านรับซื้อข้าวเปลือกไปขายโรงสีที่เมืองบ่อยาง สงขลา โดยมีเรือใบ 2 ลำ ออกลำเข้าลำประจำ จนมีฐานะ สร้างบ้านเรือนหลังใหญ่โต มีคนใช้ทั้งผู้หญิง และผู้ชายหลายคน
กำนันฉุ้น แกล้วทนงค์ ได้เกณฑ์แรงงานคนขุดคลองโพธิ์ คนละกว้าง 2 วา ยาว 4 วา ลึก 1 เมตร ตลอดลงไปถึงพรุคลองกก