xs
xsm
sm
md
lg

ตามหานายหนัง-นักเล่านิทานในยามวิกาล (๔) : กรายสองหิ้ง / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์  :  คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
 
“กรายพัฒนจันทร์  นั้นหมาย  หนังกรายเฒ่า
คนโห่ฉาว  ออกไอ้แก้ว  แล้วขำขัน
เล่นโนรา  เล่นหนัง  ยังสำคัญ
ให้กรายนั้น  สองหิ้ง  ยิ่งยินยล
เป็นนักเลง  เพลงกลอน  สอนศิษย์สวย
นามโนรา  ฉลวย  ประดิษฐ์ศิลป์
แต่งหนังสือ  ไว้หลายหลาก  ฝากแผ่นดิน
หนังท้องถิ่น  เชิดชู  เรียกครูกราย”
(กลิ่น  คงเหมือนเพชร)
 
กราย  พัฒนจันทร์ หรือ กรายสองหิ้ง สามารถแสดงได้ทั้งหนัง  โนรา และเพลงบอก  ทำขวัญนาค  กล่าวกลอนในงานศพทั้งคืน  ชื่อจริงว่า  กราย  พัฒนจันทร์  ต่อมาภายหลังได้สมญานามว่า “กรายเฒ่า” เพราะมีนายหนังตะลุงชื่อหนังกรายหลายคน  เช่น  หนังกราย  ชายแดน
 
เกิดเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๔๗  ถึงแก่กรรมประมาณ พ.ศ.๒๕๑๙  รวมอายุประมาณ  ๗๒  ปี  เป็นบุตรนายหนู  นางเย็น  พัฒนจันทร์  บ้านทับไคร  ตำบลปกาไสย  อำเภอเมือง  จังหวัดกระบี่  มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด  ๓  คน  กรายเป็นบุตรคนโตของครอบครัว
 
กราย  ไม่ได้เรียนหนังสือในระบบโรงเรียน  แต่เรียนหนังสือวัด หรือนอโมกอขอจากบิดาที่บ้าน และจากวัดตอนบวชเรียน  อาศัยว่าเป็นคนชอบอ่านชอบเขียน ค้นคว้าทั้งทางโลก และทางธรรม  จึงมีความรู้แตกฉานในเรื่องหนังสือมากคนหนึ่ง
 
หนังกราย ชอบอ่านยศกิติ และพระอภัยมณีมาก  โดยเฉพาะยศกิติ หนังกรายได้นำมาเป็นแบบฉบับของการเขียนกลอนในแนวกลบท และแนวการสัมผัสในตามแบบสุนทรภู่ในหนังสือพระอภัยมณี
 
หนังกราย เริ่มออกโรงรำโนราก่อน  แต่ไม่ประสบความสำเร็จ  จึงหันมาหัดแสดงหนังตะลุงกับนายหนังมีชื่อเสียงหลายคน  เช่น  หนังขัน  ปกาไสย หรือ ขัน  เฉิดโฉม  หรือ “ขันแก้ว”  หนังเย็น  โคกยาง
 
จุดเด่นของหนังกราย อยู่ที่บทกลอนประเภทกลอนผูก  หรือกลอนที่แต่งไว้ล่วงหน้า  บทเจรจาที่เป็นบทกลอนโต้ตอบกัน  บทตลกสีแก้วที่มีบุคลิกรูปร่างโดยเฉพาะ  ไม่เหมือนไอ้สีแก้วของคณะอื่นๆ
 
ว่ากันว่า ไอ้แก้วหนังกรายวาดขึ้นจากรอยน้ำที่หกลงบนกระดานเป็นรูปร่างคล้ายตัวตลกหนังตะลุง คือ ไอ้แก้ว  เมื่อจำลองรูปออกมาจึงผิดเพี้ยนไปจากไอ้แก้วหนังคณะอื่นๆ  ประกอบกับหนังควายที่เอามาวาดมีจำนวนจำกัด  รูปที่วาดออกมาจึงไม่ค่อยได้สัดส่วน  ภายหลังหนังกราย ใช้หนังเท้าของบิดาปะติดเข้าที่ส่วนปากของรูป  เป็นหนังเท้าที่กระเด็นออกมาจากเชิงตะกอนวันเผาศพบิดา
 
ไอ้แก้ว  จึงเป็นรูปที่มีวิญญาณสิงสถิต  คนดูหนังกรายจิตใจจะจดจ่ออยู่ที่ไอ้แก้วที่จะออกมาหน้าจอ  เล่ากันว่าเพียงเห็นเงาแวบๆ คนดูก็ฮาแล้ว  คนดูเชื่อว่า ไอ้แก้วหนังกรายขยิบตาได้  กลายเป็นรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำตัวหนังกรายเก็บไว้บนหิ้งบูชาเป็นรูปครู
 
จากการที่  กราย  พัฒนจันทร์  เป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอนนี่เอง  จึงเป็นเสน่ห์ และมนต์ขลังให้เดินไปบนเส้นทางของนักแสดงพื้นบ้าน  กรายได้แสดงมโนราห์ร่วมกับน้องชาย คือ  นายคล้าย  หรือ  มโนราห์คล้าย  การแสดงของสองพี่น้องคู่นี้เป็นที่ชื่นชอบของชาวบ้านมาก
 
“สมัยยังเป็นหนุ่มเคยดูโนรากราย  ยังจำพวงเปลือกหอยโข่งที่กรายเอามาคล้องคอออกมาว่ากลอนตลก  ตรึงชาวบ้านให้เฮฮาอยู่ได้เป็นชั่วโมง” (นายนิยม  หาญชนะ  อดีตกำนันตำบลกระบี่น้อย)
 
กราย หัดโนราครั้งแรกกับโนราฤกษ์  ซึ่งเป็นโนราที่มีชื่อเสียงคณะหนึ่ง  นอกจากนายคล้าย น้องชายแล้ว ยังมีเพื่อนร่วมโรงที่สำคัญหลายคน  เช่น  นายแปลก  นายอ่อน  นายแดงเปลือย  ครูฉ่ำ  เป็นต้น  กรายออกโรงรำอยู่หลายปี  ลูกศิษย์คนสำคัญที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาการทางโนราต่อมาคือ  โนราฉลวย  ประดิษฐ์ศิลป์  หรือ  ฉลวย  โรจนเมธากุล  บ้านคลองเสียด  อำเภอเหนือคลอง  จังหวัดกระบี่  กราย แต่งบทกลอนให้ฉลวยไว้เป็นจำนวนมาก  พร้อมทั้งฝึกหัดให้รำ และว่ากลอนสดจนชำนาญ (นายสว่าง  บุตรแผ้ว และลิเกขำ  แก้วแย้ม)
 
ตอนนั้นฉลวย ยังเป็นเด็กอยู่  กรายจึงแต่งกลอนว่า “ถ้าจะแลให้สวยต่อหลวยสาว”  หมายถึงให้คนดูรอให้โนราฉลวยเป็นสาวก่อน  แล้วจะเห็นท่ารำอันสวยสดงดงามของเธอ  ซึ่งต่อมาก็เป็นความจริง  เมื่อฉลวย เป็นสาวก็แยกคณะออกมามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วทั้ง  ๑๔  จังหวัดภาคใต้ และประเทศมาเลเซียบางส่วน
 
กราย แสดงโนราอยู่หลายปี  แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร  จึงหันมาเล่นหนังตะลุง  อาศัยว่าเป็นคนเก่งเรื่องกลอนอยู่แล้ว  เพราะเป็นโนรามาก่อน  จึงไม่ลำบากในการขับกลอนหนังตะลุง
 
นางฟอง ลูกสาวของหนังกราย บอกว่า  ไม่เห็นพ่อหัดหนังตะลุงกับใครแบบจริงจัง  แต่เห็นพ่อเก็บใบส้านมาเชิดแทนรูปหนัง  เข้าใจว่าพ่อคงจะหัดหนังด้วยตัวเอง หรือหัดเอาเอง
 
อดีตลูกคู่หนังกราย (รับ  ประคีตวาทิน) เล่าว่า  หนังกรายเริ่มฝึกหัดเล่นหนังภายหลังจากได้รับคำแนะนำจากท่านผู้ใหญ่ในเมืองกระบี่คือ  ขุนนรภาณพินิจ  ซึ่งเคยพูดกับหนังกราย สมัยยังเล่นหนังคน หรือหนังตะลุงที่ใช้ตัวแสดงเป็นคนจริงว่า “รูปของหนังกรายกินได้ทุกตัว  เจ้าภาพรับไม่ไหว  อย่าเล่นเลยหนังคน  เล่นหนังควายดีกว่า”
 
(ต่อตอน ๕)
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น