xs
xsm
sm
md
lg

สาระสำคัญของการทำประชามติรัฐธรรมนูญ / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
 
คอลัมน์  :  คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
--------------------------------------------------------------------------------
 
สถานการณ์บ้านเมืองไทยในขณะนี้เข้าทำนองสำนวนไทยที่ว่า “ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก” โดยเฉพาะสถานการณ์ทางการเมืองที่เกี่ยวข้องต่อการทำประชามติว่า จะรับ หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ที่เป็นเช่นนี้เพราะประเทศไทยมีความจริงที่ไม่อาจจะปฏิเสธได้อยู่หลายประการ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของอุปสรรคขวากหนามของการพัฒนาประเทศไปสู่ความเป็นอารยะ
 
ปัจจัยแรก คือ สถานภาพของประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศด้อยพัฒนา เช่นเดียวกับประเทศส่วนใหญ่ในทวีปแอฟริกา หรือทวีปดำ ละตินอเมริกา หรืออเมริกากลาง และอเมริกาใต้ และเอเชียทั้งหลาย ไม่ใช่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างอเมริกาเหนือ หรือยุโรปส่วนใหญ่ที่เป็นเจ้าของอารยธรรมประชาธิปไตย อันเป็นผู้ให้กำเนิดระบอบประชาธิปไตย และการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนแบบทำประชามติ หรือขอประชามติจากประชาชน ในกรณีที่เกี่ยวข้องต่อการจัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องสำคัญๆ เช่น การรับ หรือไม่รับรัฐธรรมนูญ
 
ลักษณะประจำชาติของประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลายในโลก คือ คุณภาพของประชากรที่อ่อนด้อย เพราะความเหลื่อมล้ำนานาประการ คุณภาพของอำนาจรัฐที่มักเป็นเผด็จการอำนาจนิยม มากกว่าเป็นประชาธิปไตย และที่สำคัญคือ ความเป็นอิสระจากการถูกครอบงำทั้งหลาย ไม่ว่าโดยประเพณีนิยม ค่านิยมที่ล้าหลัง วัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้า-คับแคบ
 
ประการที่สอง ประเทศไทยไม่เคยมีวัฒนธรรมประชาธิปไตยมาก่อน เกือบหนึ่งศตวรรษที่เรามีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เราเปลี่ยนแต่เพียงรูปแบบการปกครองตามหลักการของชาติตะวันตก แต่ในส่วนเนื้อหา และวัฒนธรรมในวิถีของสังคม เรายังคงเป็นสังคมอำนาจนิยม สังคมอุปถัมภ์ วัฒนธรรมแบบเจ้าขุนมูลนาย ศักดินาสวามิภักดิ์ มีความเหลื่อมล้ำ ไม่มีความเสมอภาค ภราดรภาพ ไม่มีสิทธิเสรีภาพตามหลักการพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยในทุกวงการ ไม่เว้นแม้แต่ในสถาบันอุดมศึกษาที่ได้ชื่อว่าเป็นสังคมของปัญญาชน ชนชั้นกลางระดับสูงของประเทศก็ยังมีความเหลื่อมล้ำ ยังไม่มีสิทธิเสรีภาพ
 
โดยเฉาะเสรีภาพด้านความคิด และการแสดงออก ที่เป็นปัจจัยพื้นฐานของวัฒนธรรมประชาธิปไตย ดังคำกล่าวที่ว่า “ข้าพเจ้าจะต่อสู้ทุกวิถีทางเพื่อให้ท่านได้พูดในสิ่งที่ท่านอยากจะพูด แม้ว่าข้าพเจ้าจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ท่านจะพูดก็ตาม” แต่ในสังคมไทยกลับกลายเป็นการกลับหัวกลับหางว่า “ข้าพเจ้าจะพยายามทุกวิถีทาง เพื่อไม่ให้ท่านได้พูดในสิ่งที่ท่านต้อการจะพูด แม้ว่าข้าพเจ้าจะเห็นด้วยกับสิ่งที่ท่านจะพูดก็ตาม”
 
ประการที่สาม สังคมไทยเป็นสังคมที่ใช้ความรู้สึกในการตัดสินปัญหา มากกว่าการใช้ความรู้ หรือข้อมูล สังคมไทยไม่ใช่สังคมแห่งการเรียนรู้ หรือสังคมของผู้รู้ แต่เป็นสังคมของคนที่ใช้ความรู้สึก ความเชื่อ ความคิดเห็นส่วนตัว ประสบการณ์ส่วนตัวประเภท “สาว่า” “เสียงว่า” “น่าว่า” “คาดว่า” “เขาว่า” “กูว่าแล้ว” ฯลฯ ในการตัดสินใจเชื่อทำ หรือเอาไม่เอา เราจึงมีประเพณีที่เรียกว่า “เผยแพร่ประชาธิปไตย” มี “สี่ทหารเสือ” มี “ครู ก ครู ข ครู ค” ในการให้ความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย หรือการทำประชามติ
 
ด้วยความเชื่อว่า ประชาชนคือผู้ไม่รู้ ประชาชนอยู่กับความว่างเปล่า ไม่มีความคิด ความรู้ ความเชื่อ ประสบการณ์ และองค์ความรู้อะไรเลย ถ้าภาครัฐหรือภาคเอกชนไม่ไปเผยแพร่ความรู้ใหม่ๆ ตามที่พวกตนเข้าใจ ประชาชนก็จำอะไรไม่เป็น กาไม่ถูก ตัดสินใจไม่ได้ว่าอะไรดีหรือไม่ดี
 
การทำประชามติครั้งนี้ก็เหมือนกันประชาชนจะต้องอาศัยนักศึกษาวิชาทหารที่เป็นลูกหลานของพวกเขา แบมือขอเงินพวกเขาไปเรียนหนังสือ ต้องอาศัยครู ก ครู ข และครู ค ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองกับประชาชนอย่างพวกเขามา ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์เดือนตุลาคม ๒๕๑๖ หรือ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ พฤษภาทมิฬ ๒๕๓๕ หรือแม้แต่มวลมหาประชาชนเรือนล้าน หรือนับล้านในเหตุการณ์ขับไล่รัฐบาลที่ทรยศต่อประชาชนที่ผ่านมา ฯลฯ ประชาชนเหล่านี้ต้องมาเรียนรู้ความเป็นประชาธิปไตย และวิธีทำให้เป็นประชาธิปไตยจากคนเหล่านี้
 
ประการที่สุดท้ายคือ สาระสำคัญของการทำประชามติ คืออะไร คือสาระสำคัญตามกฎหมายประชามติว่า มีกระบวนการขั้นตอนทำอย่างไรที่ไม่ผิดกฎหมาย หรือเจตนารมณ์ของการทำประชามติ หรือเจตนารมณ์ของกฎหมายประชามติ ที่ต้องเน้นให้ความสำคัญต่อสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ และความเที่ยงธรรมของการได้มาซึ่งประชามติ ซึ่งดูเหมือนจะไม่มีใครในส่วนที่เข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากประชาชนผู้ไปทำหน้าที่ลงประชามติที่กำลังเป็นห่วงว่าจะถูกชักจูง โน้มน้าว ปลุกระดม และถูกบิดเบือนข้อมูลเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ฯลฯ ซึ่งประเด็นเหล่านี้คือปัญหาใหญ่ของการแสดงประชามติ เพราะคนที่เป็นผู้ชี้ว่า พฤติกรรมใดเป็นการปลุกระดม หรือข้อเท็จจริงใดเป็นการบิดเบือนคือ ผู้กุมอำนาจรัฐเป็นผู้ชี้ขาด
 
ดังนั้น ฝ่ายที่เห็นไม่ตรงต่อฝ่ายอำนาจรัฐ ไม่ว่าจะในส่วนของรูปแบบการจัดทำประชามติ หรือในส่วนของเนื้อหาของเรื่องที่นำมาขอรับฟังประชามติ ล้วนถูกมองว่าเป็นฝ่ายสร้างความวุ่นวาย และไม่หวังดีต่อชาติบ้านเมือง อันตราย จึงอยู่ที่ว่าการทำประชามติบนพื้นฐานวิธีคิด และรูปแบบ เนื้อหาแบบนี้จะส่งผลอย่างไรทั้งในระยะสั้น และระยะยาวในสังคมไทย นี่คือสิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องตระหนัก
 
สังคมที่จะพัฒนาก้าวย่างไปสู่สังคมที่มีวัฒนธรรมประชาธิปไตย ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพบกับผู้คนที่มีความคิดเห็นแตกต่าง หลากหลาย การทำให้คนมีความเห็นเหมือนกันไปหมดจะมีความหมายอะไรต่อสังคมประชาธิปไตยที่ต้องให้ความสำคัญต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ดังคำกล่าวของใครคนหนึ่งที่ว่า “ถ้าคนทั้งหมดนี่มีความเห็นไม่แตกต่างกันเลย ก็ยิงทิ้งให้หมดเถอะ เหลือไว้สักคนเดียวพอ เพราะนอกจากนี้ ไม่มีประโยชน์อะไรในทางสังคมเลย เพราะมีความเห็นเหมือนกันทั้งหมดอยู่แล้ว”
 
สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความหลากหลาย ทั้งทางชีวภาพ และวัฒนธรรมมาตั้งแต่อดีตแล้ว จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะต้องทำให้สังคมไทยมีหลักคิด หลักความเชื่อเพียงหลักเดียว เราเคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับความล้มเหลวของการสร้างสังคมเผด็จการแบบ “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” หรือ “มาลานำไทย” หรือ “ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” ฯลฯ มามากพอแล้ว เราจึงไม่ควรกลับไปพบบทเรียนความล้มเหลวแบบซ้ำซากอีก
 
สำหรับผู้นำพาชาติบ้านเมืองให้พ้นวิกฤตทั้งในระยะสั้น และระยะยาว เราคงไม่ลืมวีรกรรมของคนเหล่านั้น แต่ไม่ควรเอามาผูกโยงกับอนาคตของชาติบ้านเมืองทั้งหมด เมื่อบ้านเมืองกำลังจะเข้าสู่สภาวะปกติ เราจึงควรหันมารับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างอย่างมีวิจารณญาณ และตัดสินใจบนพื้นฐานผลประโยชน์ของส่วนรวมอย่างรอบคอบรอบด้าน
 
จะอย่างไรก็แล้วแต่ บ้านเมืองนี้ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่งแต่เพียงคนเดียว หรือกลุ่มเดียว ขอให้สาธุชนได้มีส่วนในการตัดสินใจครั้งสำคัญเกี่ยวกับชะตากรรมของบ้านเมืองด้วยเถิด เพราะเมื่อถึงที่สุดแล้ว คนที่ทนดูความชั่วช้าสามานย์ของผู้มีอำนาจที่ขาดคุณธรรมไม่ได้ และต้องลุกขึ้นมาขับไล่พวกมันจนต้องสูญเสียชีวิต และความสงบสุขส่วนตัวอีกก็คือ ประชาชนที่ไม่ใช่ครู ก ครู ข และครู ค อย่างแน่นอน
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น