xs
xsm
sm
md
lg

ตักบาตรพระสงฆ์หมื่นรูป : ทำไมมี “มารผจญ” / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

ตั้งแต่สมัยพุทธกาลเรื่อยมาจนถึงก่อนวันนี้ การตักบาตรทำบุญเป็นอามิสบูชาอย่างหนึ่งของชาวพุทธ และการบิณฑบาตเป็นหนึ่งในนิสัย ๔ หรือหน้าที่ของพระสงฆ์ในการดำเนินชีวิตโดยอาศัยปัจจัย ๔ ได้แก่ ๑.บิณฑบาตเป็นกิจวัตรคือ ไม่ประกอบอาชีพใดๆ นอกจากบิณฑบาต เลี้ยงชีพ ๒.ถือผ้าบังสุกุลเป็นกิจวัตรคือ นำเอาผ้าห่อศพ หรือผ้าที่ทิ้งแล้วเย็บเป็นเครื่องนุ่งห่ม ต่อมาทรงอนุญาตให้รับผ้าที่มีผู้นำมาถวาย ๓.อยู่โคนไม้เป็นกิจวัตรคือ อาศัยอยู่ตามถ้ำ ตามป่า อยู่ประจำเฉพาะฤดูฝน ๓ เดือนเท่านั้น ๔.ฉันยาดองด้วยน้ำคูตร มูตรเน่าคือ ฉันยาสมุนไพรรักษาโรค

คำว่า “บิณฑบาต” หมายถึง อาหารของภิกษุสามเณรซึ่งได้จากการออกเดินโปรดสัตย์ หรือการเดินโปรดสัตว์โดยวิธีรับอาหารจากผู้มีจิตศรัทธา โดยปริยายหมายถึงการขอ เช่น “เรื่องนี้อาตมาขอบิณฑบาต”

ต่อมา เมื่อกาลเวลา และเงื่อนไขทางอัตวิสัย และภาวะวิสัยเปลี่ยนแปลงไป กิจของสงฆ์เกี่ยวกับเรื่องนิสัย ๔ และเรื่องอื่นๆ ก็เปลี่ยนไป เช่น พระสงฆ์บิณฑบาตรับแต่ธนบัตร และปัจจัยอื่นแทนอาหารหวานคาว ไม่ได้บิณฑบาตเพื่อโปรดสัตว์ หรือเจริญรอยตามยุคลบาท หรือให้เห็นทุกข์ในการแสวงหาอาหารของชาวบ้าน ตลอดจนเข้าใจความต้องการของชาวบ้าน และทำตนให้เป็นเนื้อนาบุญยิ่งขึ้น

การนุ่งห่มผ้าบังสุกุลก็เปลี่ยนเป็นจีวรแพรจากต่างประเทศตามฐานานุฐานะลดหลั่นกันไป การอยู่โคนไม้ ตามป่า ตามถ้ำก็เปลี่ยนมาอยู่ตึกห้องนอนติดแอร์ มีเครื่องสุขภัณฑ์เพียบพร้อม รวมทั้งสื่อหนังลามกเพื่อไว้ปลง หรือกำจัดกิเลสตัณหา ราคะ (ตามที่ชอบอ้างเวลาถูกจับได้) และการฉันยาดองน้ำมูตร คูตรเน่าแบบโบราณก็เปลี่ยนมาเป็นเสพกัญชา ยาบ้า และไวอะกร้าแทน

แน่นอน สังคม และวัฒนธรรมย่อมมีการวิวัฒน์ หรือเปลี่ยนแปลงไปตามภาวะวิสัย ไม่มีใครสามารถจะแช่แข็งสังคมให้เหมือนเดิมได้ แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นต้องเป็นไปเพื่อความเจริญงอกงาม เหมาะสมต่อบทบาท และสถานภาพ เป็นการปรับปรนให้สมสมัย และดูดีมีอารยะ

การตักบาตรพระสงฆ์หนึ่งหมื่นรูปเป็นปรากฏการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการสังคมในยุคสังคมบริโภคนิยม พุทธพาณิชย์ หลังจากมีลัทธิธรรมกายเกิดขึ้นในเมืองไทย กิจของสงฆ์ส่วนนี้มันไปไกลเกินกว่าการ “บิณฑบาตเป็นกิจวัตร” ตามพุทธบัญญัติเพื่อโปรดสัตว์ และเป็นเนื้อนาบุญ เพราะมันผิดเพี้ยนไปจากเดิมจนเกือบจะสิ้นเชิงไม่ว่าจะเป็นวิธีการและเป้าหมาย

เนื่องจากการกำหนดจำนวนพระสงฆ์หนึ่งหมื่นรูปในสังคมปัจจุบันที่แต่ละวัดมีพระสงฆ์จำนวนไม่ครบองค์รับกฐิน หรืองานมงคลอวมงคล แสดงให้เห็นถึงเจตนาว่าไม่ได้ทำไปเพื่อกิจวัตรปกติของพระสงฆ์ที่กล่าวกันแบบติดตลกโดยพระคุณเจ้าบางรูปเองว่า “อาตมามีรายได้วันละบาท” แต่ทำไปเพื่อแสดงถึงความยิ่งใหญ่อลังการของกลุ่ม องค์กรที่จัดการ หรือเกี่ยวข้อง
 

 
สิ่งของที่นำมาใส่บาตร หรือตักบาตรก็ไม่ใช่อาหารหวานคาวตามปกติ แต่กลายเป็นอาหารแห้งและของฟุ่มเฟือยอื่นๆ ที่สำคัญวิธีการจัดการโดยการว่าจ้างให้พระสงฆ์ทั้งภาค และต่างภาคมาร่วมสังฆกรรม มันทำให้กิจวัตรของสงฆ์กลายเป็น “กรณียกิจ” โดยปริยาย และเกินหน้าที่ของสงฆ์ จึงทำให้เกิดมีผู้ออกมาคัดค้าน และต้องการล้มกิจกรรมนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า

ความจริงหน้าที่ของพระสงฆ์ที่ขาดหายไปทั้งๆ ที่มีความสำคัญ แต่ไม่มีใครให้ความสำคัญ ได้แก่ ๑.การสมาทานการปฏิบัติในศีลอันยิ่ง ๒.การสมาทานการปฏิบัติใสจิตอันยิ่งและ ๓.การสมาทานการปฏิบัติในปัญญาอันยิ่ง และหน้าที่ที่สำคัญของพระสงฆ์บุตรของพระพุทธเจ้าคือ หน้าที่ในการศึกษาอบรมในด้านต่างๆ ได้แก่

๑.ด้านศีล ต้องควบคุมกาย วาจา ใจ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยจากข้อห้ามที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ศีลของพระสงฆ์ มี ๒ อย่างคือ ศีลในปาติโมกข์ ๒๒๗ ข้อ และศีลนอกปาติโมกข์

๒.ด้านสมาธิ พระสงฆ์ต้องฝึกฝนจิตใจด้วยการฝึกเจริญภาวนาเพื่อทำจิตใจให้สงบ ข่มกิเลสได้ทีละน้อยจนถึงขั้นวิปัสสนา ภาวนาคือ เกิดปัญญารู้แจ้งแล้วละกิเลสได้เด็ดขาด

๓.ด้านปัญญา พระสงฆ์ต้องศึกษาอบรมให้เป็นผู้มีปัญญา ๒ ด้าน คือ ปัญญาสรรพวิทยาการทั้งหลาย และปัญญาในพระธรรม โดยเข้าใจโลกและชีวิต การปล่อยวางความติดยึดตามลำดับแล้วพยายามลด ละ ความโลภ โกรธ หลง

ในการบูชาพระพุทธเจ้าตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์เน้นที่ปฏิบัติบูชามากกว่าอามิสบูชา คือ เน้นให้ปฏิบัติตามคำสอนดังพุทธพจน์ที่ว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา” คือ การเข้าถึงธรรมะของพระพุทธเจ้าด้วยการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบเป็นสำคัญ แต่คนในสังคมปัจจุบันหันมาเน้นอามิสบูชามากกว่าปฏิบัติบูชา โดยเฉพาะการทำบุญเพื่อเอาหน้า สร้างภาพ และตั้งอยู่บนแนวทางที่พอกพูนกิเลส ตัณหาให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จนกลายเป็นประเด็นปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ลักทรัพย์ รับของโจร สะสมรถหรู สร้างอาคารสถานที่ รูปเคารพใหญ่โตอลังการเกินความจำเป็น ไม่เดินตามรอยยุคลบาทของพระพุทธเจ้าที่เดินสวนทางกับสมณะสาวกในปัจจุบัน

พระพุทธเจ้าศาสดาเอกของโลกเดินออกจากปราสาทราชวัง ทรัพย์ศฤงคาร สมบัติพัสถาน และสถานภาพของความเป็นรัชทายาทของกษัตริย์ ไปสู่ความไม่มีอะไรนอกจากแสวงหาสัจธรรม หรือความจริงอันยิ่งใหญ่เพื่อนำสรรพสัตว์ข้ามให้พ้นห้วงทุกข์อันเกิดจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย แต่ทำไมสาวกของพระองค์กลับวิ่งเข้าหา “อสรพิษ” เหล่านี้กันเล่า

หรือเพราะเขาเหล่านี้เป็น “บุตรของพระพุทธเจ้าผู้กลายพันธุ์” ใช้รูปแบบของศาสนาเพื่อทำมาหากินเยี่ยง “เดียรถีร์” ทั้งหลาย
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น