xs
xsm
sm
md
lg

ฝนตกขี้หมูไหล หรือคนไทยถูกลงทัณฑ์ / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ท.จวน วรรณรัตน์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 (ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต)
 
คอลัมน์  :  คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
--------------------------------------------------------------------------------
 
 
วิธีคิดของคนบางกลุ่มที่ว่า “จะเอานักเรียนนักเลงไปเป็นทหารเกณฑ์ แล้วส่งไปดูแลพี่น้องประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้” หรือ “การย้ายข้าราชการที่ถูกลงโทษไปปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้” ฯลฯ มันเป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นวิธีคิดที่ไร้สติปัญญาโดยสิ้นเชิง และไม่น่าจะเกิดจากมันสมองของคนที่มีตำแหน่งแห่งที่ที่สำคัญในสังคม มันเหมาะที่จะมาจากสมองของพวกไร้ความรับผิดชอบชั่วดีเท่านั้น
 
ย้อนหลังไปเมื่อประมาณสองสามทศวรรษที่ผ่านมา สมัยที่มีการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เคลื่อนไหวทางความคิด และจัดตั้งกองกำลังกองทัพปลดแอกประชาชน (ทปท.) ในภาคใต้ กองทัพไทยสมัยนั้นเคยมีวิธีคิดที่เอาคนประเภทนี้มาติดอาวุธสงคราม แล้วออกปฏิบัติการในพื้นที่ที่มีความเคลื่อนไหวของ พคท.ในภาคใต้ โดยเฉพาะพื้นที่แถบเทือกเขาบรรทัด หรือเขาพับผ้า เขตรอยต่อจังหวัดพัทลุง-สงขลา-สตูล-นครศรีธรรมราช-สุราษฎร์ธานี จนเกิดโศกนาฏกรรมมาแล้ว ดังกรณีโต้ตอบของผู้ร่วมเหตุการณ์ต่อไปนี้
 
สมัย พล.ท.จวน วรรณรัตน์ เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 ได้จัดตั้งกองกำลังอาสาสมัครทหารพราน หรือเสือพรานขึ้นมา เพื่อต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยรับสมัครชายฉกรรจ์ที่ก้าวร้าว เกเร เป็นนักเลงหัวไม้ในหมู่บ้านนำมาติดอาวุธสงคราม และฝึกการรบเสริมเขี้ยวเล็บให้ ในที่สุดกองกำลังติดอาวุธร้ายแรงประเภทนี้ก็สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนโดยทั่วหน้ากัน
 
“ที่สุราษฎร์ธานี ชาวบ้านมีความเดือดร้อนเรื่องเสือพรานรังแกอย่างมาก จนกระทั่งเขามีหนังสือร้องทุกข์มาให้ผม ผมอยากจะถามท่านแม่ทัพ (จวน) ว่า มีการควบคุมดูแลความประพฤติของเสือพรานหรือเปล่า การคัดเลือกเสือพรานกระทำกันอย่างไร ส่วนมากที่เห็นก็เป็นผู้ร้ายมีคดีติดตัวมาสมัครเป็นเสือพรานได้ แม้กระทั่งในคุกยังมีเสือพราน การปฏิบัติตัวก็เหลวไหล ขออย่าให้เข้าข้างลูกน้องนะครับ ต้องลงโทษ...” (ปริญญา ช่วยปลอด ส.ส.สุราษฎร์ธานี. 2523.)
 
“ข้อร้องเรียนเรื่องเสือพราน ผมยืนยันว่าเป็นแผนของคนไม่ดี ผมขอเรียกมันว่า จหร. แปลว่า โจรห้าร้อย พวกเหล่านี้มีหน่วยทำว่าเสือพรานออกทำความเสื่อมเสียให้ ส่วนเรื่องการคัดเลือกเสือพรานผมคิดว่าได้ทำดีแล้ว แต่ขอยอมรับว่าในรุ่นแรก เพราะความเร่งรัดทำให้เราทำผิดพลาดไป...” (พล.ท.จวน วรรณรัตน์. แม่ทัพภาคที่ 4.)
 
“การที่แม่ทัพกล่าวว่า กรณีเสือพรานสังหาร 8 ศพที่พัทลุง เป็นเรื่องส่วนตัว ก็อยากจะถามว่าอาวุธที่ใช้ในการฆ่าฟันส่วนตัวนั้นได้มาจากไหน มาจากใคร มาจากภาษีของราษฎรที่ให้แก่กองทัพใช่หรือไม่” (สุพัตรา มาศดิตถ์. ส.ส.นครศรีธรรมราช. 2523.)
 
“เดี๋ยวนี้ชาวพัทลุงเขาไม่เรียกหน่วยนี้ว่า เสือพราน แต่เรียกว่า เสือพาล... นิสัยของเสือพรานทุกคนต้องยิงปืนขึ้นฟ้า 7-8 นัดทุกครั้งไป บางทีก็นุ่งผ้าขาวม้าสะพาย เอ็ม.16 อยู่ในตลาด ชาวพัทลุงรู้ดีว่าพวกนี้เป็นคนเกเรที่ไม่มีใครเขาเอาแล้ว นี่เป็นตัวอย่างของเสือพรานที่เรารู้จัก” (ธีรศักดิ์ อัครบวร. ส.ส.พัทลุง. 2523.)
 
“มันเป็นเพราะความฉุกละหุกในครั้งแรกๆ มากกว่า ผมไม่ให้เกิดขึ้นเป็นครั้งที่สอง...” (แม่ทัพจวน วรรณรัตน์. 2523.)
 
ทหารพราน 10 กองร้อย ปืน 800 กระบอก ได้แก่ 1.กองร้อย 401 อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี 2.กองร้อย 402 กิ่ง อ.ศรีบรรพต จ.พัทลุง  3.กองร้อย 403 อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี  4.กองร้อย 404 กิ่ง อ.กงหรา จ.พัทลุง 5.กองร้อย 405 กิ่ง อ.ควนกาหลง จ.สตูล 6.กองร้อย 406 ต.สามตำบล อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช 7.กองร้อย 407 อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง 8.กองร้อย 408 อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา 9.กองร้อย 409 วัดถ้ำพรรณรา อ.ฉลาง จ.นครศรีธรรมราช 10.กองร้อย 501 ต.บ้านส้อง อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี ใช้งบประมาณปีละ 50 ล้านบาท
 
ทหารพรานเหล่านี้มีพฤติกรรมปล้น ฆ่า ข่มขืน รังแกประชาชนต่างๆ นานา ตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2523 เสือพรานประสบ หรือฉอ สุขแทน กองร้อย 402 สำนักปราง กิ่ง อ.ศรีบรรพต จ.พัทลุง โดยการนำของหัวหน้า โพธิ์ ชุมแพ หรือจ่าสิบเอกวีระพันธ์ โพธิ์เตี้ย ใช้อาวุธปืนเอ็ม.16 กราดยิงใส่ชาวบ้านทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ตายคาที่ 8 ศพ บาดเจ็บสาหัส 12 คน แม้กระทั่งในงานศพของ 8 ชีวิต ครูคนหนึ่งเขียนโปสเตอร์ติดไว้ว่า

“มนุษยธรรมอยู่ที่ไหน” “ชีวิตผู้บริสุทธิ์ 8 ศพ ใครเป็นคนรับผิดชอบ ใครเป็นผู้หยิบอาวุธให้โจร” ปรากฏว่า หัวหน้าโพธิ์ผู้ควบคุมเสือพรานในเขตนั้น เป็นผู้เข้ามาฉีกโปสเตอร์ แย่งกล้องถ่ายรูปของคนในงานอย่างอุกอาจ
 
“พวก ผกค.พยายามใส่ร้ายพวกผม จ้างผู้ชายมาข่มขืนผู้หญิง จ้างคนมาปล้นสะดมชาวบ้าน แล้วใส่ร้ายว่าเป็นพวกผม แล้วก็ส่งข่าวแจ้งหนังสือพิมพ์ลงข่าว อย่างสยามนิกร ตะวันแดง ทำพวกผมเสียหมด มันเป็นแผนของฝ่ายมัน คิดดูซิว่ามันระบุวัน เดือน ปีถูกหมดเลย” (หัวหน้าโพธิ์ ชุมแพ. 2523.)
 
ข้าพเจ้าในนามปากกา ’รูญ ระโนด เคยเขียนบทกวีสมัยยังเป็นนิสิตในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) สงขลา สะท้อนภาพปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในบางพื้นที่ของจังหวัดพัทลุง เป็นบทกวี ชื่อ “โจรจัดตั้ง” ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารองค์กรวรรณกรรมที่มี สำราญ รอดเพชร เป็นบรรณาธิการว่า
 
“ระดมพลอันธพาลจากบ้านป่า
ฝึกการฆ่าติดอาวุธรีบรุดส่ง
ออกปราบปรามมวลประชาในป่าดง
ทั้งคดโกงฉุดคร่าอนาจาร
ศพที่เกลื่อนเถื่อนทุ่งคลุ้งคาวเลือด
หูถูกเชือดและเงินตราค่าสังหาร
เป็นรางวัลแก่ผู้ล่านามหมาพราน
ที่อาจหาญเข่นฆ่าประชาชน
ศรีบรรพต, ป่าพะยอมถูกล้อมกรอบ
ทมิฬครอบทารุณโหดความโฉดฉล
คนดีดีถูกล้างผลาญจากพาลชน
ผู้รอดจนจึงทิ้งเหย้าขึ้นเขาไป
เมื่อโจรป่ามีอาวุธเพื่อฉุดคร่า
ขู่ข่มเหงชาวนาผู้หมองไหม้
โดยเถื่อนถ่อยคำสั่งทุกครั้งไป
พวกจัญไรจึงหาญกล้าล้อมฆ่าคน
หยุดเสียทีแผนทดลองที่นองเลือด
แผนฆ่าเชือดแล้วทิ้งขว้างข้างถนน
ล้วนผลักดันมวลมหาประชาชน
จากตำบลออกสู่ป่าหาแนวทาง
ใครจะจับโจรป่ามาลงโทษ
ใครจะโปรดแก้ปัญหาช่วยสะสาง
ใครจะซับเลือดเปื้อนตามเถื่อนทาง
ใครจะล้างหนี้เลือดเนื้อพวกเสือพราน”
 
บทกวีชิ้นนี้กลุ่มรามทักษิณได้นำไปดัดแปลงเป็นเพลงรับน้องรามทักษิณ และใช้ขับขานในค่ายอาสาพัฒนาชนบทของชาวรามทักษิณหลายรุ่น ล่าสุด สุวิทย์ ทองหอม มาถามหาต้นฉบับ เพื่อนำไปรำลึกเหตุการณ์ร่วมสมัยของชาวรามทักษิณรุ่นนั้น
 
ไม่น่าเชื่อว่าวันนี้ วิธีคิดแบบนี้จะยังคงอยู่ในแวดวงสังคมประเทศนี้ คำกล่าวที่ว่า “โลกเปลี่ยนไปมากแล้ว แต่วัฒนธรรมอำนาจในสังคมราชการไทยไม่เคยเปลี่ยน” ยังคงเป็นสัจธรรมชั่วนิรันดร
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น