xs
xsm
sm
md
lg

๓๐ ปีเอ็นจีโอ (NGO) ใต้ : “เรามีเอ็นจีโอไว้ทำอะไร?” / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
 
คอลัมน์  :  คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
--------------------------------------------------------------------------------
 
 
วันที่ ๒๙-๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา มีการสัมมนาครบรอบ ๓๐ ปีของ “คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคใต้ (กป.อพช.ใต้)” ณ สถาบันทักษิณคดีศึกษา ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา โดยการประสานงานและบริหารจัดการของ “สมบูรณ์ คำแหง” หรือ “บังแกน” เลขาธิการ กป.อพช.ใต้และคณะ มีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย เอ็นจีโอทั่วภาคใต้และเครือข่ายหลายร้อยคน
 
เริ่มลงทะเบียนตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐-๑๒.๐๐ น. มีกิจกรรมปาฐกถาเรื่อง “บทบาท NGO ใต้กับสังคมไทย” โดย “พิภพ ธงไชย” เลขาธิการมูลนิธิเด็ก การเสวนาเรื่อง “ชุมคน ชุมชน คนใต้ : สถานการณ์ปัจจุบันและอนาคตที่ควรจะเป็น” โดย ประสาท มีแต้ม ศรีสมภพ จิตภิรมย์ศรี นพ.สภัทร ฮาสุวรรณกิจ บรรจง นะแส ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.ณฐพงศ์  จิตรนิรัตน์ กลางคืนมีกิจกรรมดนตรีเพื่อชีวิตและการอ่านบทกวี
 
วันที่ ๓๐ มิถุนายน ภาคเช้ามีการนำเสนอประเด็นต่างๆ ที่ขับเคลื่อนในภาคใต้ในช่วง ๓๐ ปีที่ผ่านมา เพื่อเตรียมประเด็นไปนำเสนอผ่านเวทีบันทึกเทปรายการทาง “ไทยทีบีเอส” ของ “ณาตยา แวววีรคุปต์” ละมีการประกาศปฏิญญาดังพาดหัวข่าว “ผู้จัดการออนไลน์” ที่ว่า
 
“กป.อพช.ใต้” ประกาศปฏิญญา 30 ปีอย่างอาจหาญ! เดินหน้าพัฒนาภาคใต้สู่ “ภูมิภาคสีเขียว” จัดการทรัพยากรยั่งยืน และคืนสันติสุขแผ่นดินไฟใต้ ขอเวลา 5 ปีทำโซลาร์เซลล์เต็มพื้นที่ จี้รัฐ และทุนเลิกสร้างมหันตภัยจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน และแลนด์บริดจ์หนุนอุตสาหกรรมหนัก กร้าวหยุดใช้ ม.44 สร้างเงื่อนไข ชี้ รธน.ฉบับประชามติสุดพิกลพิการก้านสิทธิและเสรีภาพ มุ่งเพิ่มอำนาจรัฐ ลดอำนาจประชาชน”
 
เอ็นจีโอภาคใต้ก่อเกิดขึ้นในภาคใต้เมื่อประมาณปี ๒๕๒๙ หลังจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ล่มสลายลงก่อนหน้านั้นไม่นาน เพราะปัจจัยจากความขัดแย้งในสถานการณ์สากล และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่ ๖๖/๒๕๒๓ สมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นำนโยบาย “การเมืองนำการทหาร”มาต่อสู้กับขบวนการพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยและภาคใต้ ทำให้ขบวนการปฏิวัติของประชาชนล่มสลายลง
 
สถานการณ์การต่อสู้ในภาคใต้ก่อนหน้านั้น เป็นการจ่อสู้ด้วยกองกำลังติดอาวุธ ระหว่างกองกำลังของฝ่ายรัฐบาล ทีมีกฎหมายว่าด้วยการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์เป็นเครื่องมือ กับกองกำลังกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ความขัดแย้งหรือเงื่อนไขที่สำคัญคือ
 
“ความไม่เป็นธรรมในสังคม”
 
ในทัศนะของฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล และ “เป็นภัยต่อความมั่นคง”หรือ “ทำลายชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์” ในทัศนะของฝ่ายรัฐบาล ทั้งสองฝ่ายทำสงครามแย่งชิงประชาชน โดยการโฆษณาชาวนเชื่อตามแนวทางของแต่ละฝ่าย โดยการสนับสนุนของประเทศมหาอำนาจคือ สหภาพโซเวียตและจีน สนับสนุนฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล ส่วนสหรัฐอเมริกาสนับสนุนฝ่ายรัฐบาล
 
เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ล่มสลายลง ขบวนการองค์การพัฒนาเอกชนก็เกิดขึ้น เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้จุดความคิดติดอาวุธทางปัญญาให้กับประชาชน ประเด็นการต่อสู้เปลี่ยนจากความไม่เป็นทางสังคม มาเป็นสิทธิ เสรีภาพในทรัพยากรธรรมชาติ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม เศรษฐกิจ การกระจายอำนาจ การมีส่วนร่วม การคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค สิทธิชุมชน ฯลฯ
 
องค์กรพัฒนาเอกชนกลายเป็นกลุ่มคนสำคัญที่ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับพี่น้องประชาชนในทุกกรณีของปัญหาในภาคใต้ เช่น กรณีปลากะตักหรือการปิดท่าเรือน้ำลึกในปี ๒๕๔๒ การคัดค้านโรงงานแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซียปี ๒๕๔๕ จนถึงประเด็นท่าเรือน้ำลึกปากบารา โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา พลังงาน ฯลฯ ในปัจจุบัน
 
บทเรียนในรอบ ๓๐ ปีขององค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ ทำให้ขบวนการต่อสู้ของประชาชน เพื่อปกป้องสิทธิชุมชนท้องถิ่นในภาคใต้ เกิดเครือข่ายและแนวทางในการทำงานที่มีความหลากหลาย ทั้งรูปแบบและเนื้อหา และพบว่าในการสัมมนาครั้งนี้ต่างกับการสัมมนาครบรอบ ๒๐ ปี เนื่องจากในครั้งนั้นผู้มาร่วมสัมมนาส่วนใหญ่คือ นักพัฒนาขององค์กรพัฒนาเอกชน แต่การสัมมนาครั้งนี้มีนักพัฒนาแค่ ๑๐% ส่วนที่เหลือเป็นเครือข่ายของประชาชน ที่นักพัฒนาองค์กรพัฒนาเอกชนไปทำงานร่วมด้วย
 
ข้อสรุปจากวงเสวนาสรุปได้ว่า เอ็นจีโอจะทำงานได้สำเร็จต้องประกอบด้วยปัจจัยอย่างน้อย ๔ อย่างคือ ๑) มีการจัดตั้งอย่างเป็นรูปธรรม ๒) มีข้อมูลที่รอบด้าน ๓) มีประสบการณ์ในการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ  ๔) มีการจัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลและกระบวนการวิเคราะห์ตามหลักการและกระบวนการทางวิชาการ
 
ต่อคำถามแบบทีเล่นทีจริงอย่างที่เขาถามกันว่า “มีทหารไว้ทำอะไร” ในแวดวงองค์กรพัฒนาเอกชนก็มีการถามกันเล่นๆว่า “มีเอ็นจีโอไว้ทำอะไร” ก็สามารถตอบได้อย่างหลากหลาย เช่น
 
บางคนตอบว่า “มีเอ็นจีโอไว้ให้หายใจ เพราะการพัฒนาโดยภาครัฐในปัจจุบัน ทำให้ประชาชนแทบไม่มีที่ได้หายใจ” (แทน จากจะนะ)
 
หรือบางคนบอกว่า “มีเอ็นจีโอไว้ให้ชนเผ่าแบบมอแกนได้ขึ้นสวรรค์ เพราะที่เป็นอยู่ทุกวันนี้มอแกนเหมือนตกนรก เพราะผืนแผ่นดินที่บรรพบุรุษอยู่กินมาหลายชั่วอายุคนกำลังถูกยึดครอง” (ตัวแทนจากชนเผ่าฝั่งอันดามัน)
 
หรือบางคนบอกว่า “มีเอ็นจีโอไว้เพื่อบำบัดรักษาผู้เจ็บป่วยทางจิตสำนึก เพื่อท้องถิ่นและชาติบ้านเมือง” (จรูญ หยูทอง) เป็นต้น
 
ตราบใดบ้านเมืองยังเป็นประเทศด้อยพัฒนา ตราบนั้นยังคงต้องมี “เอ็นจีโอ” ตลอดไป
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น