xs
xsm
sm
md
lg

อ่านสังคมไทยจากการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
 
คอลัมน์  :  คนคาบสมุทรมลายู
โดย... / จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
----------------------------------------------------------------------------------------
 
 
รากเหง้าพื้นฐานของสังคมไทยพัฒนามาจากสังคมอำนาจนิยม มีระบบอุปถัมภ์ และระบบอาวุโสเป็นเครื่องกำกับสังคมมายาวนาน ผ่านกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม หรือการเมือง โดยสถาบันหลักทางสังคมคือ สถาบันครอบครัว สถาบันศาสนา สถาบันการศึกษา สถาบันการเมืองการปกครอง สถาบันนันทนาการ สถาบันเศรษฐกิจและอาชีพ กลุ่มเพื่อนทางสังคม สมาคม ชมรม พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ ฯลฯ
 
ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 สังคมไทยอยู่ภายใต้การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ระบบเจ้าขุนมูลนาย มีเจ้าเมืองปกครองไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ประชาชนมีฐานะเป็นข้าพระคนทาน เป็นไพร่ เป็นสมบัติของเจ้านาย
 
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ภายใต้รัฐธรรมนูญ กฎหมายสูงสุดของประเทศ ประชาชนมีฐานะเป็นราษฎร มีหน้าที่สำคัญคือ รับใช้ชาติ เสียภาษี ปกป้องชาติบ้านเมือง และไปทำหน้าที่เลือกตั้งผู้แทนราษฎรในการเมืองแบบตัวแทน
 
ก่อนการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พี่น้องประชาชนของเราอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของสองขั้วอำนาจ แบ่งสี แยกภาค และจ้องห้ำหั่นกันภายใต้การนำของพรรคการเมืองขนาดใหญ่ของชาติ 2 พรรค จนนำไปสู่การก่อเกิดของ “มวลมหาประชาชน” ภายใต้การนำของ “ลุงกำนัน” และเครือข่าย
 
โดยเฉพาะภาคใต้ก่อนการเข้ามาของ “คสช.” พี่น้องประชาชนฝ่ายขับไล่รัฐบาลทรราชที่มาจากการเลือกตั้ง (แต่ทุจริตคอร์รัปชัน และล้มล้างกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เข้าข้างตนเอง ทำการฉ้อฉลแม้แต่กฎหมายระบิลเมือง แทรกแซงสถาบันศาล สภานิติบัญญัติ และองค์กรอิสระ) ถูกปราบปรามอย่างโหดร้ายทารุณ โดยเสนาบดีถ่อยสถุลออกมาประกาศตัวเป็นปรปักษ์กับประชาชนของตนเอง มีการลอบฆ่าพี่น้องประชาชนที่มาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลที่ขาดความชอบธรรมลาออกไป
 
หลังการเข้ายึดอำนาจของ คสช. พี่น้องประชาชนผู้เหนื่อยหน่าย และต้องสูญเสียจากการปราบปรามของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ต่างคาดหวังถึงสังคมใหม่ การเมืองใหม่ ชีวิตใหม่ และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะให้กำเนิดนักการเมืองที่ไม่ทุจริตคอร์รัปชัน รัฐบาลที่เป็นมิตรกับประชาชนทุกกลุ่ม ไม่ใช่เฉพาะฐานคะแนนเสียงของตนเอง
 
การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกภายใต้บรรยากาศรัฐบาล คสช. โดยมีอาจารย์บวรศักดิ์  อุวรรณโณ เป็นประธานยกร่าง ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนระดับหนึ่ง ทั้งรูปแบบ และเนื้อหาพอรับได้ แต่กลับไม่ผ่านความเห็นชอบของสภาปฏิรูป
 
จึงต้องให้คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ภายใต้การนำของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ มือร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 18 อรหันต์ทองคำ ปี 2535” อันนำมาซึ่งความขัดแย้งในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
 
กระบวนการยกร่างรัฐธรรมฉบับใหม่ ไม่มีการมีส่วนร่วมของประชาชน ใช้คนในภาคส่วนที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.เป็นผู้กลั่นกรอง เพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ โดยประชาชนไม่มีส่วนร่วม ไม่เหมือนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ตั้งแต่ฉบับ 2540 / 2550 / และฉบับก่อนหน้านี้ที่ตกไป
 
ก่อนวันลงประชามติ บรรยากาศทางการเมืองอยู่ในภาวะเคร่งเครียด มีการจับกมคุมขังคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล คสช. ครั้งแล้วครั้งเล่า มีพระราชบัญญัติประชามติที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นออกมากำกับให้คนในสังคมอยู่ในความสงบ โดยอ้างถึงการนำพาประเทศชาติไปสู่ความสงบเรียบร้อย ภายใต้โรดแมปที่รัฐบาลวางไว้แล้วทุกขั้นตอน
 
ผลการลงประชามติเป็นไปตามความคาดหวังของใครหลายคน โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนในภาคใต้ ที่ถูกผลักให้อยู่ฝ่ายเดียวกับเผด็จการทหาโดยไม่เต็มใจนัก พี่น้องภาคกลางบางส่วนและ กทม. ส่วนพี่น้องภาคเหนือ และอีสาน ผลที่ออกมาก็เป็นไปตามคาดคือ หลายจังหวัดไม่รับทั้งร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง
 
แต่ที่น่าแปลกใจคือ ภาคใต้ใน 2 จังหวัดชายแดนภาคใต้กลับสวนกระแสพี่น้องภาคใต้อีก 11 จังหวัด คือ ไม่รับทั้งร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง เช่นเดียวกับจังหวัดทางภาคเหนือ และภาคอีสานหลายจังหวัด
 
ผลจากการลงประชามติครั้งนี้สะท้อนถึงอะไรได้บ้าง?!
 
ประการแรก ความขัดแย้งระหว่างสี ระหว่างภาคระหว่างกลุ่มยังคงอยู่ แม้ว่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น แต่คงยังถูกอ้างจากฝ่ายที่รับ และไม่รับในการลงประชามติ ทั้งในส่วนของบรรยากาศ ที่มาของร่างรัฐธรรมนูญ จำนวนผู้ไปใช้สิทธิ หรือทำหน้าที่ลงประชามติ ฯลฯ ปัจจัยแห่งความขัดแย้งยังไม่ไปไหน
 
ประการที่สอง การตัดสินใจรับหรือไม่รับในครั้งนี้ ส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนหลักการเหตุผลว่า รับเพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าไปได้ ไม่ให้การยึดอำนาจของ คสช.เสียของ แม้ว่าเนื้อหาของรัฐธรรมนูญบางมาตราอาจจะยังไม่เป็นที่พอใจ แต่มีหลายมาตราที่ได้ดังใจ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการปราบคนโกง คนทุจริตไม่ให้เติบโต หรือเข้ามามีอำนาจทางการเมือง
 
ในขณะที่ฝ่ายไม่รับ เพราะรังเกียจชาติกำเนิดว่า มาจากเผด็จการ มีเนื้อหาไม่เป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะคำถามพ่วงที่เป็นการสืบทอดอำนาจ และที่สำคัญสิ่งที่จะได้ตามมาหลังการรับทั้ง 2 ประเด็นก็คือ นายกรัฐมนตรีคนนอก อำนาจของ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. 250 คน ฯลฯ
 
ประการที่สาม ความแตกแยกที่เพิ่มจากเดิมของ “มิตรร่วมรบ” ในสถานการณ์ “มวลมหาประชาชน” ระหว่างฝ่ายที่รับกับไม่รับร่างและคำถามพ่วง ฝ่ายที่ไม่รับก็ถูกผลักให้ไปอยู่กับอีกฝ่ายที่เคยขัดแย้งกันก่อนหน้านี้ และครั้งนี้มาตัดสินใจไม่รับเหมือนกัน ทั้งๆ ที่เหตุผลที่ใช้ในการตัดสินใจอาจจะคนละบริบทกันก็ตาม
 
ประการที่สี่ เราได้เห็นวุฒิภาวะทางสังคม และวัฒนธรรมทางความคิดที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาไปสู่สังคมประชาธิปไตยของคนไทยว่า เรามองคนที่เห็นต่างเป็นศัตรูง่ายๆ เราใช้อารมณ์ ความรู้สึก และปรากฏการณ์เพียงฉาบฉวยในการตัดสินคน เรามีลัทธิเชื่อผู้นำ เชื่อถือปัจเจกบุคคล มากกว่าระบบ และกฎกติกา ฯลฯ
 
ประการที่ห้า ก่อนการลงประชามติไม่นาน แกนนำพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคที่ทรงอิทธิพลต่อคนภาคเหนือ อีสาน และใต้ ต่างออกมาแสดงจุดยืนว่า ไม่รับร่างและคำถามพ่วง แต่ผลการลงประชามติในพื้นที่เขตอิทธิพลของทั้ง 2 พรรค
 
โดยเฉพาะพรรค ปชป. ปรากฏว่า สวนกระแสของแกนนำพรรคการเมือง แสดงให้เห็นว่า “มนต์ดำ” ที่เคยสะกดพี่น้องประชาชนได้คลี่คลายไปบ้างแล้ว แต่อันนี้ยังสรุปร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ จนกว่าจะถึง “เทศกาลร่ายมนต์ดำ ในสนามเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง
 
ทำอย่างไรให้เราข้ามพ้นข้อจำกัดเหล่านี้ไปให้ได้ ไม่มีทางลัดอื่น นอกจากประชาชนคนไทยต้องเรียนรู้วิถีประชาธิปไตยด้วยการปฏิบัติจริง เริ่มต้นจากการทนรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างได้ ลดอคติทั้งสี่ที่เรามีต่อกัน “รู้จักหวันทันโลก” ตามที่คนโบราณในท้องถิ่นภาคใต้ “รู้อะไรไม่เท่า รู้จักหวัน” ปู่ย่าตายายของเราเคยสอนไว้อย่างนี้ครับพี่น้อง เป็นอะไรก็ไม่มีความหมายหาก “ไม่รู้จักหวัน” ครับ
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น