xs
xsm
sm
md
lg

ความเหมือนในความต่างระหว่าง “เสือ” กับ “หมา” / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์  :  คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
--------------------------------------------------------------------------------
 
 
ตรรกะที่หลายคนมักสรุปว่า ปรากฏการณ์ทักษิณกับ ปรากฏการณ์สนธิ เป็นปรากฏการณ์ทุนนิยมลวงโลกไม่ต่างกัน ดูเหมือนเป็นตรรกะที่สรุปว่า หมามีสี่เท้า เสือมีสี่เท้า เสือคือหมาหรือ เสือและหมามีสี่ขา โต๊ะก็มีสี่ขา ดังนั้น เสือและหมาคือ โต๊ะ หรือโต๊ะคือ เสือและหมา
 
เมื่อผมเขียนบทความ ปรากฏการณ์กับธาตุแท้ ก็มีคนย้อนแย้งเสียดเย้ยว่า ทำไมคนที่สมาทานหลักการมองโลกมองสังคมอย่างผม กลับกระโจนเข้าร่วมทั้ง ปรากฏการณ์สนธิ และ ปรากฏการณ์ กปปส.
 
เหล่านี้คือ สภาพเป็นจริงของวิธีคิดของเพื่อนร่วมชาติของผม ในสังคมที่กำลังเคลื่อนเปลี่ยนจากสังคมแห่งความรู้สึก สู่สังคมแห่งการเรียนรู้ จากสังคมอำนาจนิยม ไปสู่สังคมเหตุผลนิยม จากสังคมที่ใช้นิติศาสตร์ในการพิพากษา ไปสูสังคมที่ใช้นิติธรรมในการตัดสินคน
 
กรณีความเหมือนและความต่างระหว่าง สนธิ กับ ทักษิณ คู่กัดคู่ขัดแย้งที่ดึงเอาคนทั้งสังคมเข้ามาเป็นคู่ขัดแย้ง ผมมองเห็นความแตกต่างบางประการดังนี้
 
ประการแรก คุณสนธิมีความกล้าหาญทางจริยธรรมมากกว่าคุณทักษิณ และใครอีกหลายคนในประเทศนี้ ในขณะนั้นที่ออกมาประกาศตัวเป็นปฏิปักษ์กับทักษิณผู้กุมอำนาจบ้านเมือง เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ขณะที่คนเก่ง คนดี ที่ออกมาประณามสนธิในวันนี้ ผมไม่เห็นใครกล้า แม้แต่จะกระแอมเบาๆ ให้ทักษิณได้ยินว่า ไม่เอาด้วยกับทักษิณ
 
และแน่นอนสนธิกระทำสิ่งนี้ในเป้าหมายหนึ่ง คือ การเปิดโปงคนชั่วตามหลักการของสื่อมวลชนที่ดี และภารกิจของนักคิดนักเขียนตามอุดมการณ์ของจิตร ภูมิศักดิ์ (ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน) ขณะที่ทักษิณ กระทำตัวตรงข้ามกับสนธิในเรื่องของส่วนรวม ส่วนใหญ่เขาเพื่อกิจการ วงศ์ตระกูล พรรคการเมืองของเขาเป็นหลัก
 
ประการที่สอง เมื่อถูกกล่าวหาว่ากระทำทุจริตผิดกฎหมาย สนธิประกาศชัดเจนว่า จะไปศาลเพื่อรับฟังคำพิพากษา ตั้งแต่ศาลชั้นต้นถึงศาลฎีกา ทั้งๆ ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำคุกมาแต่ต้น เพื่อยืนยันว่าตนเองเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม แต่คุณสมบัติข้อนี้ไม่มีในความเป็นทักษิณ เมื่อเขาถูกพิพากษาให้จำคุกแค่ ๒ ปี เขาก็หนีคดีหัวซุกหัวซุนจนถึงวันนี้ และปฏิเสธความชอบธรรมของกระบวนการยุติธรรมไทยมาโดยตลอด
 
“ผมไม่เคยมีความคิดที่จะไม่ไปฟังคำพิพากษาของศาลฎีกา ทั้งๆ ที่ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกทั้ง ๒ ศาล ผมทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะผมมีศักดิ์ศรี มีครอบครัว มีลูกน้อง และมีพี่น้องพันธมิตร ที่จะได้เชิดหน้าไม่อายใคร สำคัญที่สุดคือ ผมเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม” (สนธิ ลิ้มทองกุล)
 
ประการที่สาม เมื่อถูกพิพากษาโดยศาลฎีกาให้จำคุกถึง ๒๐ ปี สนธิ และพรรคพวกไม่มีใครออกมาโวยวายว่า กระบวนการยติธรรม ๒ มาตรฐาน กลั่นแกล้ง ทั้งๆ ที่พันธมิตร และใครต่อใครที่เชื่อมั่นศรัทธาในตัวสนธิอาจจะทำใจยอมรับได้ยาก
 
แต่สนธิกลับบอกใครต่อใคร โดยเฉพาะลูกชายคนเดียวของเขาว่า “ถ้ามีอะไรเกิดขึ้น ขอให้ดำรงสติ และเข้มแข็ง รักษาปณิธานของท่านที่ต่อสู้เพื่อชาติ ศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ และผลประโยชน์ของประชาชนไว้ ตามกำลัง และความสามารถที่เราพึงกระทำได้ดีที่สุด” และฝากให้ลูกชายบอกภรรยาที่กำลังนอนป่วยด้วยโรคมะเร็งว่า “บอกแม่ว่า ป๋าไม่เป็นอะไร ให้แม่เข้มแข็งเอาชนะโรคร้ายให้ได้ มีชีวิตสู้ให้ถึงวันที่ป๋าจะได้ออกมาเจอแม่นะ”
 
“หมากับเสือมันต่างกันตรงนี้เอง คือ หมามันมักจะร้องโหยหวน และวิ่งหนีเมื่อมันเจ็บปวด แต่เสือมันเงียบสงบ และมีสติ ไม่หลบหนี แต่กล้าเผชิญกับความจริง อย่างมากก็นอนเลียแผลยอมรับในความพ่ายแพ้อย่างมีศักดิ์ศรี”
 
ผมไม่ได้เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยกับสนธิ และทักษิณโดยสิ้นเชิง บางเรื่องผมเห็นด้วย และบางเรื่องผมก็ไม่เห็นด้วย แต่เมื่อประมวลบริบทต่างๆ เข้าด้วยกัน และชั่งน้ำหนักแล้ว ผมให้ค่าในความเป็นคนสาธารณะที่ควรค่าแก่การจดจำรำลึก เป็นแบบอย่างของพลเมือง และพลโลกในศตวรรษที่ ๒๑ กับคนอย่าง “สนธิ” มากกว่าคนอย่าง “ทักษิณ”
 
และนี่ก็เป็นตรรกะส่วนตัวของผม ซึ่งอาจจะเหมือนหรือต่างกับใครต่อใครก็ได้ ผมเคารพในความคิดเห็นของคนอื่น และในขณะเดียวกัน ก็อยากให้คนอื่นเคารพในความคิดเห็นของผมด้วย หากมีความเห็นไม่ตรงกันก็หักล้างกันด้วยเหตุผล ไม่ใช่ใช้วิธีการแบบอนารยะ ก่นด่าประณามหยามเหยียดกัน ซึ่งมันไม่มีประโยชน์
 
แม้ว่าผมจะมาจากบ้านนอก เป็นทายาทชาวนายากจนจากทุ่งระโนด แต่บรรพชนของผมก็ได้รับการอบรมบ่มเพาะให้เป็นคนมีศักดิ์ศรี มีเหตุผล ให้เกียรติคนอื่นเท่าที่จะเป็นได้ แต่ในขณะเดียวกัน บรรพบุรุษของพวกเราก็ไม่เคยสอนให้กลัวใคร นอกจากคนดี
 
ผมจึงกล้ายกย่องคนดี ติคนไม่ดี (ในทัศนะของผม) โดยไม่ต้องถามใคร โดยเฉพาะผู้มีอำนาจว่า เห็นด้วย หรือเอาด้วยกับผมไหม หากเห็นด้วย แต่ไม่เอาด้วยก็ดี หรือเห็นด้วย และเอาด้วยก็ยิ่งดี หรือแม้แต่ไม่เห็นด้วยก็ยิ่งดีใหญ่ เพราะจะได้แลกเปลี่ยนความเห็นที่แตกต่าง เผื่อว่าจะได้มีข้อสรุปที่ดีกว่า
 
ตรงบรรทัดสุดท้ายนี้ ผมจึงอยากสมาทานกับทุกท่านว่า เขาเชื่อกันมานานแล้วว่า “มนุษย์เป็นสัตว์โลกชนิดเดียวที่มีเหตุผล” และผมก็พยายามจะสมาทานความเชื่อนี้สืบไปครับ
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น