มีเรื่องเล่ากันว่า ครั้งที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชดำเนินมาสมโภชช้างเผือก ที่ทาง จ.ยะลา ได้นำทูลเกล้าถวาย หลังจากที่มีชาวบ้านใน ต.กาลอ อ.รามัน จ.ยะลา ได้พบลูกช้างตัวหนึ่งพลัดหลงกับฝูง และดูแล้วเป็นช้างที่มีคชลักษณ์พิเศษ ซึ่งหลังจากนำทูลเกล้าถวายแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 จึงได้เสด็จพระราชดำเนินมาทำพิธีสมโภชช้างดังกล่าว ที่ จ.ยะลา
โดยเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2511 ซึ่งมีภาพถ่ายบันทึกไว้ และภายในภาพดังกล่าวมีเด็กชายอายุประมาณ 10 ขวบคนหนึ่ง ได้เดินตามช้าง และอยู่ต่อหน้าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ด้วย ซึ่งเด็กชายคนดังกล่าว ปัจจุบันก็คือ นายธนิต คุมภะสาโน หัวหน้าแผนกกิจการสังคมและสิ่งแวดล้อม การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขต 3 ยะลา
นายธนิต คุมภะสาโน ได้ชี้ให้ดูรูปปั้นของพระเศวตรสุรคชาธาร ซึ่งตนเองเคยเป็นผู้ดูแลในช่วงแรกๆ ก่อนที่ทางจังหวัดโดย พันตำรวจเอก (พิเศษ) ศิริ คชหิรัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ในขณะนั้นจะนำทูลเกล้าถวาย
นายธนิต คุมภะสาโน เล่าให้ฟังว่า ขณะนั้นตนเองอายุประมาณ 10 ขวบ เกือบ 11 ขวบ เรียนหนังสือที่โรงเรียนรัชตะวิทยา ซึ่งอยู่ใกล้กับบ้าน เพราะบ้านของพ่อนั้นเป็นบ้านพักอยู่ภายในจวนผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา โดยคุณพ่อมีตำแหน่งเป็นคนขับรถของผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งวันนั้นได้เลิกเรียน และเดินกลับมาบ้าน ก็มาพบกับช้างตัวหนึ่งอยู่ภายในโรงจอดรถ ด้วยความที่ไม่เคยได้พบเห็นช้างมาก่อน จึงได้เดินเข้าไปหยอกล้อเล่นกับช้างตัวนั้น และได้อาบน้ำให้แก่ช้างตัวนั้น เนื่องจากตามตัวของช้างมีดินโคลนติดอยู่ ก็ทำให้เกิดความสนิทสนมกับช้างตัวนั้น
คุณลุงซึ่งเป็นข้าหลวง จึงได้สั่งให้ดูแลช้าง จนได้อยู่กินกับช้าง นอนกับช้างในโรงจอดรถภายในจวนผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เป็นระยะเวลาถึง 3 เดือน ก่อนที่ทาง จ.ยะลา โดย พันตำรวจเอก (พิเศษ) ศิริ คชหิรัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา จะนำทูลเกล้าถวายให้แก่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 โดยพระองค์ท่านได้เสด็จพระราชดำเนินมาทำพิธีสมโภชขึ้นระวางช้าง ที่บริเวณสนามโรงพิธีช้างเผือกแห่งนี้
โดยนิสัยของพระเศวต นั้น จะมีลักษณะขี้เล่น และไม่อดทนอะไรที่มีเวลานานๆ การทำพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างในขณะนั้นใช้เวลาหลายชั่วโมง ตนเองก็อยู่ใกล้ชิด และจะใช้มือคอยหยิกที่หลังใบหูของพระเศวต เพื่อไม่ให้เกเร พระเศวต ก็จะหยุด และเชื่อฟัง
ภายหลังเสร็จพิธีสมโภชขึ้นระวาง และได้พระราชทานนามให้แก่ช้างเผือกเชือกนี้ว่า “พระเศวตรสุรคชาธาร” ซึ่งตนเองได้อยู่ตลอดเวลาในช่วงพิธีสมโภชขึ้นระวาง และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ก็ทรงตรัสกับตนเองว่า “แล้วเจอกันนะสหาย” ซึ่งคำว่าสหาย ขณะนั้นคงหมายถึง ตนเองที่เป็นสหายของพระเศวต ตนเองรู้สึกภูมิใจเป็นอย่างมาก
จากนั้นก็มีการนำพระเศวต กลับไปยังพระตำหนักที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตนเองก็ได้ไปปฏิบัติหน้าที่รับใช้ดูแลพระเศวต ต่อที่พระตำหนัก ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นระยะเวลา 1 เดือน รวมแล้วตนเองใช้ระยะเวลาของชีวิตดูแลพระเศวตสุรคชาธาร ช้างเผือกคู่บารมีของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เป็นระยะเวลา 4 เดือน โดยช่วงเวลาที่อยู่ดูแลพระเศวต ที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้ทำหน้าที่ป้อนข้าว ซึ่งขณะนั้น พระเศวต ยังไม่หย่านม จึงต้องทำอาหารให้พระเศวต กิน โดยใช้ข้าวต้มผสมนม แล้วก็บดกับมือ ก่อนที่จะป้อนให้พระเศวต ที่ปาก
โดยหลังจากที่ได้ดูแลมาช่วงระยะเวลาหนึ่ง พระเศวต ก็มีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงขึ้น ทางผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา จึงได้ทำเรื่องไปยังกองคชลักษณ์ เพื่อกราบทูลเกล้าถวาย ทางกองคชลักษณ์ ก็ได้ส่งคุณพระราชวังเมือ งและน้าแก้ว ควาญช้างหลวงมาดู ที่ จ.ยะลา แล้วหลังจากนั้น พระเศวต ก็ได้เป็นช้างเผือกคู่พระบารมีชั้น 7
นายธนิต คุมภะสาโน กล่าวอีกว่า ในขณะนั้นซึ่งมีอายุเพียง 10 ขวบกว่า รู้สึกตื่นเต้นที่ได้รับหน้าที่ในการดูแลช้างคู่พระบารมี และเมื่อได้รู้ว่า ช้างเชือกนี้เป็นช้างคู่พระบารมี ความรู้สึกก็เปลี่ยนไป จากที่เคยเล่น เคยตี ก็เปลี่ยนไป และคิดว่า ไม่สมควรกระทำอีก ซึ่งก็ได้ตระหนักถึงหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในการดูแลพระเศวต ก็ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ และดีที่สุด
นายธนิต กล่าวอีกว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินที่ จ.ยะลา ถึง 3 ครั้ง ตนเองก็ได้เข้าเฝ้ารับเสด็จทั้ง 3 ครั้ง โดยครั้งที่เฝ้ารับเสด็จในพิธีสมโภชขึ้นระวาง พระเศวต นั้น พระองค์ได้ตรัสว่า “แล้วเจอกันนะพระสหาย” ตนเองรู้สึกซาบซึ้งมาก ซึ่งพระองค์ยังให้พระราชดำรัส ในการเสด็จครั้งนั้นว่า “ทุกคนที่สำเร็จการศึกษาได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิต และบัณฑิตก็คือผู้มีความรู้ แต่ขอให้ทุกคนเป็นบัณฑิตของพระเจ้าอยู่หัว บัณฑิตของพระเจ้าอยู่หัว คือผู้มีความรู้และต้องใช้ความรู้ทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ตนเอง ครอบครัว และประเทศชาติ” ซึ่งตนเองได้จำใส่ไว้เหนือเกล้า
ภายหลังพระเศวตสุรคชาธาร ได้ไปเป็นช้างคู่พระบารมี รัชกาลที่ 9 ซึ่งได้ถูกจารึกนามที่พระราชทานขึ้นระวางเป็นพระยาช้างต้น มีพระนามว่า “พระเศวตสุรคชาธาร บรมนฤบาลสวามิภักดิ์ ศุภลักษณ์เนตราธิคุณ ทศกุลวิศิษฏพรหมพงศ์ อดุลวงศ์ดามพหัตถี ประชาชนะสวัสดีวิบูลยศักดิ์ อัครสยามนาถสุรพาหน มงคลสารเลิศฟ้า” และต่อมา พระเศวตสุรคชาธาร ได้ล้มลง ณ โรงช้างต้น เมื่อ พ.ศ.2520
ปัจจุบัน สถานที่ประกอบพิธีสมโภชขึ้นระวางพระเศวตสุรคชาธาร ก็คือ สนามโรงพิธีช้างเผือก เขตเทศบาลนครยะลา ซึ่งเป็นสวนสาธารณะใจกลางเมือง ได้รูปปั้นพระเศวต เป็นอนุสรณ์สถานอยู่บริเวณด้านหน้า และมีอาคารกีฬาที่ใช้ชื่อว่า “อาคารพระเศวตสุรคชาธาร” ในปัจจุบัน
และเหตุการณ์ในครั้งนั้นก็ได้ถูกบันทึกเป็นภาพถ่ายประวัติศาสตร์ของ จ.ยะลา โดยภายในภาพจะเห็นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาทำพิธีสมโภชขึ้นระวางช้าง และนายธนิต คุมภะสาโน จะเป็นเด็กชายที่อยู่มุมซ้ายของภาพ